xs
xsm
sm
md
lg

สัมผัสวิถีชุมชนประมง-ทรัพยากรชายฝั่ง “อ่าวสิเกา” จ.ตรัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อ่าวสิเกา” เป็นอ่าวขนาดเล็ก พื้นที่ประมาณ 30 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอสิเกา และเป็นเขตแดนระหว่างจังหวัดตรัง กับจังหวัดกระบี่ มีทั้งป่าชายเลน หาดเลน และหาดทราย พร้อมทั้งยังมีคลองสั้นๆ ไหลผ่าน คือ คลองกะลาเส คลองทุ่งขี้เหล็ก คลองดุหุน และคลองโต๊ะบัน ทำให้พื้นน้ำดังกล่าวอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ส่วนภูมิทัศน์โดยรอบก็มีความสวยงามน่าศึกษาท่องเที่ยว

สำหรับอ่าวแห่งนี้มีความลึกช่วงน้ำลงเฉลี่ยประมาณ 2-10 เมตร เป็นแหล่งหญ้าทะเล สาหร่าย หินก้อน และปะการังน้ำตื้น มีทรัพยากรประมงที่สำคัญ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา อย่างชุกชุม จึงเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชาวประมงพื้นบ้านรอบๆ อ่าว ซึ่งมีประมาณ 10 ชุมชน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยมีบ้านแหลมไทรตั้งอยู่สุดแดนของจังหวัดตรัง และมีประวัติการตั้งถิ่นฐานมานานถึง 200 ปีแล้ว

เนื่องจากอำเภอสิเกาถือเป็นหน้าด่านทางทะเลของจังหวัด จึงได้นำท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มาเป็นจุดขาย ภายใต้โครงการประมงนำชมวิถีชีวิตและทรัพยากรชายฝั่ง “อ่าวสิเกา” โดยมีกลุ่มท่องเที่ยวบ่อหินฟาร์มสเตย์ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด เจ้าของรางวัลกินรีท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี 2556 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2557 เป็นแกนหลัก

กิจกรรมที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างจิตสำนึกก็คือ การปลูกหญ้าทะเล เพราะจังหวัดตรังมีมากถึง 11 ชนิด จากทั้งหมด 12 ชนิด รวมทั้งยังเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดของประเทศไทย สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเป็นตัวเล่าไปสู่พะยูนหรือทรัพยากรอื่นๆ ได้ จึงมีการตั้งธนาคารต้นกล้าหญ้าทะเลขึ้น เพื่อสร้างแหล่งอาศัยและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนในพื้นที่

นอกจากนั้น ความอุดมสมบูรณ์ตลอดแนวชายฝั่งก็ยังก่อให้เกิดสัตว์น้ำมากมาย โดยเฉพาะหอยที่มีอยู่หลากหลายชนิด และสามารถนำมาปรุงเป็นเมนูได้สารพัด โดยเฉพาะหอยนางรมที่ “อ่าวสิเกา” อีกแหล่งใหญ่ที่มีคุณภาพระดับประเทศ จนเป็นที่นิยมของท้องตลาด ทั้งในพื้นที่ หรือเมืองท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต รวมทั้งกรุงเทพฯ หรือไปไกลถึงต่างประเทศ ทำให้มีการเลี้ยงในลักษณะฟาร์มอย่างแพร่หลาย

ขณะเดียวกัน อ่าวแห่งนี้ก็ยังเป็นแหล่งหอยชักตีน หรือหอยสังข์กระโดด หอยประจำถิ่นที่มักอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทรายปนโคลน และแนวหญ้าทะเล ส่วนที่มีการเรียกกันว่า ชักตีน ก็เพราะตรงปากจะมีติ่งคล้ายๆ เล็บสีน้ำตาลยื่นออกมาเพื่อใช้สำหรับเดิน ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า ตีน อีกทั้งในการกินหอยชนิดนี้จะต้องดึงส่วนที่เรียกว่า ตีน เพื่อให้ตัวหอยหลุดตามออกมา อันถือเป็นหนึ่งในอาหารทะเลชื่อดังประจำถิ่น

ก่อนเดินทางกลับจาก “อ่าวสิเกา” นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวประมงปูม้า หนึ่งในพื้นที่ต้นแบบการจัดการทรัพยากรปู ตามแนวทางสิเกาโมเดล ทำให้สามารถขยายพันธุ์ลูกปู แล้วปล่อยลงสู่ทะเลอันดามัน โดยมีอัตราการรอดตายเพิ่มขึ้น และนำไปสู่การเติบโตขึ้นเป็นพ่อแม่พันธุ์ในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อท้องทะเลอุดมสมบูรณ์ก็จะมีปูม้าสดๆ รสชาติอร่อย ให้ผู้มาเยือนได้ลองลิ้มชิมรสกันตลอดไป

ผู้ที่สนใจจะเดินทางไปยัง “อ่าวสิเกา” สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. สำนักงานตรัง โทรศัพท์ 0-7521-5867 หรือ 0-7521-1058


ภาพ/เรื่อง : เมธี เมืองแก้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น