xs
xsm
sm
md
lg

จากข้อสงสัยในการคิดค่าเอฟทีถึงโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
ภาพข้างล่างนี้มาจากเว็บไซต์ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่ออธิบายถึงเหตุผลที่ได้มีการปรับเปลี่ยนค่าเอฟที (Ft) ของอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในช่วงกลางปี 57 กับสิ้นปี 58
 

 
ข้อความทางขวามือของเอกสารชิ้นนี้คือ ข้อสรุปของกรรมการ กกพ.ท่านหนึ่งซึ่งสรุปได้อีกทีหนึ่งว่า “ในปี 2558 ค่าเอฟทีลดลงรวม 22.62 สตางค์ต่อหน่วย” ข้อสงสัยเบื้องต้นของผมก็คือ เขาคิดอย่างไร?
 
ผมได้เคยพยายามทำความเข้าใจต่อสูตรคำนวณค่าเอฟทีหลายครั้งแล้ว แต่ขอสารภาพว่าผมอ่านไม่รู้เรื่องครับ ทั้งๆ ที่มันเป็นสูตรพีชคณิตธรรมดา แค่การบวก ลบ คูณ หาร เท่านั้น แต่มันมีความซับซ้อนมากมีตัวแปรหลายตัวมาก ยากที่จะจดจำสัญลักษณ์ (ที่ไม่ค่อยจะสากล) และความหมายได้ จนผมไม่มีความอดทนมากพอที่จะทำให้ตนเองรู้เรื่องได้ ผมได้ขอร้องเพื่อนบางคนที่เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาปริญญาเอกด้านพลังงาน เขาก็รู้สึกเหมือนกับผม และไม่รู้เรื่องเช่นเดียวกัน เพื่อนๆ อีกหลายคนในภาคประชาสังคมก็รู้สึกอย่างนี้ ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าอย่าไปเสียเวลากับเรื่องนี้เลย เพราะยังมีสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าเรื่องนี้อีกเยอะ
 
อย่างไรก็ตาม มูลค่าค่าเอฟทีของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศเมื่อนำมารวมกันก็เป็นเงินก้อนโต กล่าวคือ หากมีการคิดคลาดเคลื่อนไปจากค่าที่ควรจะเป็นเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วยแล้ว เมื่อรวมกันเข้าก็เป็นเงินถึง 1,700 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ก็คุ้มค่าพอที่จะต้องตรวจสอบ แม้ไม่ได้จากสูตรการคำนวณโดยตรง แต่เราก็สามารถตรวจสอบจากหลักการพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้
 
ผมมีประเด็นสงสัยดังต่อไปนี้ ขอท่านผู้อ่านกรุณาติดตามผมมาครับ แล้วค่อยตัดสินใจว่าเราจะไว้วางใจของการทำงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งช่วยตัดสินว่าข้อสงสัยของผมมีความสมเหตุสมผลหรือไม่
 
ข้อสงสัยที่หนึ่ง ประเด็นความหมายของค่าเอฟที
 
จากเว็บไซต์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบว่า เราได้เริ่มใช้ค่าเอฟทีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นกลไกในการปรับราคาค่าไฟฟ้าให้เคลื่อนไหวตามค่าใช้จ่ายในส่วนที่อยู่นอกการควบคุมของการไฟฟ้าฯ โดยค่าไฟฟ้าประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ค่าไฟฟ้าฐาน และ (2) ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที
 
ตามความเข้าใจของผม ค่าเอฟทีไม่ได้หมายถึงค่าเชื้อเพลิงทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้า แต่เป็นค่าที่ผันแปรไปจากส่วนที่เป็นค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งได้รวมทั้งค่าต้นทุนคงที่ ค่าบริหาร ค่าเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ากำไรของหน่วยงานการไฟฟ้าฯ ด้วยเหตุผลในการมีค่าเอฟทีก็เพื่อให้พ่อค้าสามารถประเมินราคาสินค้าอันเกิดจากค่าไฟฟ้าได้ล่วงหน้า เขาว่าอย่างนั้นครับ
 
ต่อมา คณะรัฐมนตรีในการประชุมวันที่ 30 สิงหาคม 2548 ได้มีมติให้สูตรการคำนวณค่าเอฟทีเหลือเฉพาะ “ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของราคาค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น สำหรับปัจจัยอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงของการใช้ไฟฟ้าภาครัฐให้การไฟฟ้าฯ เป็นผู้รับภาระความเสี่ยงเอง”
 
แต่จากตารางข้างต้น ปรากฏว่า มีการนำอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเข้ามาพิจารณาด้วย รวมทั้งคิดรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำในเขื่อนด้วย ที่ดูตลกมากก็คือ การนำปัจจัยการสูญเสียในสายส่งเข้ามาคิดด้วย ผมเข้าใจว่า “การสูญเสียในสายส่ง” น่าจะอยู่ในการควบคุมของการไฟฟ้าฯ อยู่แล้ว เพราะการไฟฟ้าฯ รู้ล่วงหน้าแล้วว่าควรจะเป็นเท่าใด อย่างไรก็ตาม อาจจะมีมติคณะรัฐมนตรีในชุดต่อมาได้เปลี่ยนแปลงมติในปี 2548 อีกก็เป็นได้ แต่ผมไม่ทราบเอง
 
ดังนั้น จึงขอให้มีความชัดเจนในเรื่องนี้
 
ข้อสงสัยที่สอง ทำไมไม่บอกราคาของเชื้อเพลิงทุกชนิดให้ครบถ้วน
 
จากข้อมูลของทางราชการ พบว่า ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเราใช้ก๊าซธรรมชาติมากที่สุด คือ ใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ใช้ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 67 รองลงมาคือ ถ่านหินและลิกไนต์คิดเป็นร้อยละ 18 ในขณะที่น้ำจากเขื่อน และน้ำมันมีสัดส่วนร่วมเพียงร้อยละ 3 และร้อยละ 1 ตามลำดับ เท่านั้น (ดังภาพประกอบ)
 

 
แต่ทำไมในตารางนี้จึงไม่มีการบอกถึงการผันแปรของราคาถ่านหิน และลิกไนต์ซึ่งมีส่วนร่วมมากเป็นอันดับที่สอง คือ 18%
 
ข้อสงสัยที่สาม ประเด็นการหาค่าเฉลี่ย
 
เรามาดูตัวเลขในคอลัมน์ทางขวามือสุดของตารางในภาพข้างต้น ถ้าเรานำตัวเลขที่มีเครื่องหมายบวก และเครื่องหมายลบ จำนวน 4 รายการมารวมกัน (คือ [+1.12+7.30+1.92] + [-32.96]) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ลบ 22.62 จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า “ในปี 2558 ค่าเอฟทีลดลงรวม 22.62 สตางค์ต่อหน่วย”
 
วิธีคิดดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบระหว่างค่าเอฟทีในแต่ละช่วง จึงต้องนำมาบวกลบกันอย่างตรงไปตรงมาซึ่งเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องแล้ว แต่ที่ผมไม่เข้าใจคือ การคิดว่าค่าเอฟทีแต่ละรอบว่าควรจะเป็นเท่าใดนั้นคิดอย่างไร
 
ในการหาค่าเฉลี่ยตามหลักวิชาคณิตศาสตร์ เขาต้องมีการถ่วงน้ำหนักแบบเดียวกับการคิดเกรดเฉลี่ยของนักศึกษา เช่น ในกรณีที่มีการลงทะเบียนเพียง 2 วิชา ถ้าได้เกรด 3 ในวิชา 4 หน่วยกิต และได้เกรด 1 ในวิชา 1 หน่วยกิต เกรดเฉลี่ยจะเท่ากับ 2.6 ไม่ใช่เอาเกรด 3 มารวมกับเกรด 1 แล้วหารด้วย 2 ได้ผลลัพธ์เฉลี่ยออกมาเท่ากับ 2.0 ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดครับ
 
ถ้าต้องการจะคิดค่าเฉลี่ยของค่าผันแปรค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละรอบ ก็ต้องเอาค่าผันแปรของก๊าซธรรมชาติมาถ่วงน้ำหนักด้วยการคูณด้วย 0.67 แล้วนำไปรวมกับปัจจัยอื่นๆ จนครบทุกปัจจัย เช่น เขื่อนค่าถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 0.03 และค่าถ่วงน้ำหนักของน้ำมันเท่ากับ 0.01 เป็นต้น โดยที่ผลรวมของตัวถ่วงน้ำหนักทุกปัจจัยต้องเท่ากับ 1.0
 
ดังนั้น จากสามัญสำนึกของคนทั่วไป เมื่อทราบว่ามีการใช้ก๊าซในสัดส่วน 67% ประกอบกับเมื่อราคาน้ำมันดิบได้ลดลงไปถึง 61% (และโดยที่ราคาก๊าซมีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมันดิบ) ก็ย่อมคาดหวังให้ราคาค่าไฟฟ้าควรจะต้องลดลงเยอะด้วย แต่ปรากฏว่าค่าไฟฟ้ารวมของผู้อยู่อาศัยประเภท 1.2 ที่ใช้ไฟฟ้า 500 หน่วยต่อเดือนได้ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ไม่ขอแสดงรายละเอียด)
 
ผลการคำนวณที่บอกว่าค่าเอฟทีในช่วงกลางปี 57 กับสิ้นปี 58 คือ “ลบ 22.62” ได้ถูกนำไปใช้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 ดังภาพที่ผมแสดงให้ดู (พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมบางส่วน)
 

 
ข้อสงสัยที่สี่ ทำไมจึงบอกค่าผันแปรของก๊าซธรรมชาติไม่ชัดเจนพอ
 
เนื่องจากก๊าซธรรมชาติมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าถึง 67% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยที่ก๊าซมีที่มาจาก 4 ส่วนคือ ผลิตภายในประเทศ 65% ซื้อจากพม่า 18% จากโครงการพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย 15% และนำเข้าในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว 2% แต่ไม่มีการแจงในรายละเอียดถึงราคาของแต่ละส่วน
 
จากบทความเรื่อง “ค่าไฟฟ้าอาจจะแพงขึ้นอีกในเร็วๆ นี้ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดลง (Electricity may soon become more expensive despite low oil prices)” The nation, 7 มกราคม 2559 โดย PichayaChangsorn ได้อ้างถึงคำสัมภาษณ์ของ คุณวีระพล จิระประดิษฐกุล กกพ.ทำให้ได้ข้อมูลว่า “ราคาก๊าซที่ผลิตในประเทศมีส่วนผูกติดกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประมาณ 30 ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ราคาก๊าซที่นำเข้าจากประเทศพม่า มีส่วนผูกติดกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกประมาณ 50 ถึง 60%” โดยไม่ได้อธิบายเหตุผล
 
แต่เมื่อผมนำข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมาเขียนกราฟ พบว่า ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ขุดเจาะจากประเทศไทยมีการขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก แต่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะในประเทศไทยเกือบจะคงที่ตลอดช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ดังกราฟที่ผมได้เขียนขึ้นเองดังรูป
 

 
ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติที่ประเทศไทยซื้อมาจากประเทศพม่าจากต้นปี 2014 ถึงสิงหาคม 2015 ได้ลดลงถึง 24.3% (คือ จาก $7.20 เหลือ $5.45 ต่อล้านบีทียู ไม่รวมค่าผ่านท่อ, ที่มา : จากบทความเรื่อง Oil and gas stumbles with price drop, Aung Shin, Myanmartimes, 11 กันยายน 2015)
 
ถ้าคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ 17 สิงหาคม 2015 ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์ จะพบว่าราคาก๊าซในพม่าราคา 193 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่ราคาที่ผลิตในประเทศไทยเท่ากับ 229 บาท หรือแพงกว่าราคาในประเทศพม่าถึง 36 บาท
 
ผมว่าคนไทยต้องการคำอธิบายครับ ทั้งเรื่องราคาก๊าซไทยที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามตลาดโลก และแพงกว่าที่ซื้อจากพม่าค่อนข้างเยอะ
 
ข้อสงสัยที่ห้า ทำไมค่าไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์เซลล์ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 20 สตางค์ต่อหน่วย
 
จากคำสัมภาษณ์ของ คุณจิระพล ในบทความดังกล่าว พบว่า “การนำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ระบบในปีนี้ จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น 20 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่ 17 สตางค์ต่อหน่วย”
 
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าว เป็นการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใหญ่ในราคาที่แพงกว่าปกติ ส่งผลให้บริษัทเหล่านั้นร่ำรวยขึ้นในพริบตา ในขณะที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้ผ่านมติ “โซลาร์รูฟเสรี” เมื่อต้นปี 2015 โดยเสนอให้มีการสนับสนุนโซลาร์เซลล์บนหลังคา ในราคารับซื้อที่ให้เกิดแรงจูงใจพอสมควร แต่ปรากฏว่า ทางการไฟฟ้าไม่เห็นด้วย นายกรัฐมนตรีก็ไม่ผลักดัน
 
ผมเองได้เสนอบทความในคอลัมน์นี้มาหลายครั้ง โดยเสนอใช้มีการจัดการแบบ Net Metering” (ซึ่งใช้ใน 43 รัฐของสหรัฐอเมริกา) โดยไม่ต้องมีการชดเชยราคาไฟฟ้าแต่อย่างใด ขอเพียงให้ทางรัฐบาลยินยอมให้มีการ “ฝากไฟฟ้าไว้ในสายส่ง” ในช่วงกลางวันที่ผลิตไฟฟ้าได้เยอะ แต่ไม่มีการใช้เพราะไม่มีคนอยู่บ้าน แล้วให้ดึงไฟฟ้าที่ได้ฝากไว้กลับมาใช้ในตอนกลางคืน เมื่อถึงเวลาคิดเงิน ก็คิดกันตามที่มิเตอร์อ่านได้สุทธิ (Net Metering) โดยไม่ต้องมีการชดเชยใดๆ
 
สรุป
 
บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ผมนำเรื่องเล็กๆ ระดับ “สตางค์” มาพูด แต่ผมได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อนำมารวมกันแล้วมันเยอะมากเกินกว่าที่เราจะมองข้ามไปได้ เรื่องโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านก็เช่นกัน บางท่านอาจจะรู้สึกมันน้อยนิดเดียว ไม่พอใช้
 
แต่ลองมาดูข้อมูลนี้ครับ โรงเรียนชั้นประถมในประเทศออสเตรเลีย จำนวน 1,500 โรง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในเกือบรอบปีที่ผ่านมารวมกันถึงเกือบ 8 ล้านหน่วย มันจึงไม่เล็กนะครับ ในสหรัฐอเมริกา เงินที่สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้จากโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน 3,700 โรง สามารถเป็นเงินเดือนครูได้ถึง 2,100 คน ตลอด 30 ปี
 
ผมเขียนบทความนี้พร้อมๆ กับการนั่งฟังข่าวกิจกรรมในวันเด็กแห่งชาติ มีการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงออก รวมทั้งชมการแสดงแสนยานุภาพด้านอาวุธของกองทัพ แต่โรงเรียนชั้นประถมแห่งหนึ่งในประเทศนิวซีแลนด์ เขาฝึกเด็กๆ ให้เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมจากโครงการโซลาร์เซลล์ในโรงเรียน รวมทั้งฝึกทักษะการสื่อสารการนำเสนอซึ่งเป็นกิจกรรมตลอดทั้งปี ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาจึงอยู่อันดับต้นของโลก
 

 
ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า “แค่มีนักเรียนสักคนมาถามว่า อ้ายที่เห็นเป็นแผ่นๆ อยู่บนหลังคานั้นคืออะไรครับครู แค่นี้ก็คุ้มแล้ว”
 
ถ้าเราอยากจะเห็นเด็กไทย และประเทศไทยก้าวไปอย่างถูกทาง และมั่นคง ผมว่าแค่การปฏิรูป (ไม่ว่าจริงหรือหลอกๆ) รวมทั้งคำขวัญวันเด็กด้วยนั้นไม่พอหรอกครับ อย่ามัวแต่หลอกตัวเองกันเลยครับ
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น