xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแล้ว! โรงงานแปรรูปยางพาราแห่งแรกในสตูล ประธานกลุ่มฯ เผยรัฐควรเสริมการใช้ยางในประเทศมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
สตูล - จังหวัดสตูล เปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราแห่งแรกของไทย ขณะที่ประธานกลุ่มเห็นว่ารัฐบาลต้องหันมาสนับสนุน และส่งเสริมใช้ผลิตภัณฑ์จากยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาราคายางตก

วันนี้ (10 ม.ค.) ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายชำนาญ เมฆตรง ปธ.ชุมนุมสหกรณ์สวนยางสตูล จำกัด พร้อมด้วย นายบุญช่วย หอมยามเย็น นายอำเภอควนกาหลง นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล ร่วมกันเปิดโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล

หลังได้ก่อตั้งจากการร่วมแรงร่วมใจของเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัด โดยชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนสตูลที่มีการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2545 จากแนวคิดหลัก 3 ประการ คือ ดำเนินธุรกิจยางพาราร่วมกันโดยใช้หลักคุณธรรมและจริยธรรม สร้างประโยชน์สหกรณ์สมาชิกและส่วนรวม สร้างความกินดีอยู่ดีสันติสุขของชาวสวนยางสตูล ตามวิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพการผลิต คิดเพิ่มมูลค่ายางพาราอย่างยั่งยืน” ในระยะเริ่มต้นชุมนุมฯ มีสมาชิก 6 สหกรณ์ ระดมหุ้นได้ 9,000 บาท ผ่านไป 13 ปี ปัจจุบันชุมนุมกองทุนสวนยางสตูล จำกัด มีสมาชิกเพิ่ม 16 สหกรณ์ และมีสมาชิกสมทบ 2 กุล่ม มีหุ้น 2,757,200 บาท
 

 
โดยระยะเริ่มต้นได้มีการดำเนินการรวบรวมน้ำยางสดแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน แต่เมื่อสถานการณ์ยางพาราที่ลดลงส่งผลกระทบต่อรายได้ของสมาชิก จึงได้เปลี่ยนจากการนำยางพาราแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งเริ่มผลิตในเดือน มิ.ย.2558 จากการกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงาน และจัดหาเครื่องจักรในการแปรรูป โดยได้รับการสนับสนุนทางวิชาการด้วยดีจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่ให้การสนับสนุนรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เช่น แผ่นยางปูพื้นสนามเด็กเล่น สนามฟุตซอล อุปกรณ์กวาดน้ำยาง

นายชำนาญ เมฆตรง ปธ.ชุมนุมสหกรณ์สวนยางสตูล จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารามีกำลังผลิตน้อยเพียงวันละ 80 ตารางวา หากมีออเดอร์เข้ามามากยังคงจะเป็นปัญหา รวมทั้งตลาดที่ต้องรอการสนับสนุน และส่งเสริมจากรัฐบาลในการสนับสนุนการใช้สนามลานกีฬาจากผลิตภัณฑ์ยางพารา และการเพิ่มเครื่องจักร ซึ่งปัญหาเห็นว่าแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องหันมาใช้ยางพาราทำผลิตภัณฑ์ใช้ในประเทศให้เยอะจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้ โดยขณะนี้เกษตรกรเองก็รัดเข็มขัดกันเต็มที่กับราคาที่ตกต่ำในขณะนี้
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น