โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
เพิ่งเคลื่อนผ่าน 12 ปีเต็มมาหมาดๆ สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโชนเปลวระลอกใหม่นับจากเหตุการณ์ “ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง” กองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 ขณะที่ห้วงเวลาที่เพิ่งเริ่มศักราชใหม่ปี 2559 นี้ ต่างเป็นที่คาดหมายกันว่า มีหลายปัจจัยที่จะทำให้ความรุนแรงคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
แต่จะเดินไปสู่การ “มอดดับ” ของ “ไฟใต้” ได้หรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง!!
สิ่งที่ฉายชัดว่ามีปัจจัยบวกเกื้อหนุนก็คือ ช่วงเปลี่ยนผ่านปีที่เพิ่งพ้นแบบกลิ่นอายการเฉลิมฉลองต่างๆ ยังไม่ทันจางหาย ห้วงเวลานั้นไม่มีเหตุร้ายใดๆ เกิดขึ้นให้เป็นที่รบกวนจิตใจผู้คน โดยเฉพาะในพื้นที่ไข่แดงของ 7 หัวเมืองหลักของชายแดนใต้ ทั้งที่มีเสียงเตือนอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการดังแซดไปทั่ว อันนับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นอกจากนี้แล้ว ในรอบปี 2558 ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า สถานการณ์ไฟใต้หากพิจารณาในด้านสถิติ ทั้งจำนวนครั้ง และความถี่ที่เกิดเหตุการณ์ รวมถึงระดับที่เข้มข้นของความรุนแรง ปรากฏว่าตัวเลขต่างๆ ได้ลดน้อยถอนลงไปอย่างมาก อันเป็นผลจากการปฏิบัติงานของบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เป็นไปอย่างสัมฤทธิผล ยิ่งช่วงหลังๆ มานี้ สามารถทำความเข้าใจ และดึงประชาชน โดยเฉพาะมุสลิมในพื้นที่ให้เข้ามาเป็นมวลชนเกื้อหนุนได้อย่างเป็นที่ประจักษ์
แน่นอนต้องยกให้เป็นความดีความชอบของหน่วยงานหลักอย่าง “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ที่มี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้นั่งกุมบังเหียนในฐานะ “ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็จริงอยู่
เนื่องเพราะนับตั้งแต่คณะทหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจ แล้วตั้งรัฐบาลบริหารประเทศภาคใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช. ในส่วนของ “การบริหารราชการแผ่นดินจังหวัดชายแดนภาคใต้” ก็ถูกทำให้อยู่ภายใต้ปีกโอบของ “ฝ่ายทหาร” เช่นกัน โดยให้เหตุผลเพื่อความเป็น “เอกภาพ” อย่างมีนัยสำคัญ
แต่ถ้าจะไม่พูดถึงหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงบุคลากรฝ่ายต่างๆ ที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือเกื้อหนุนก็คงไม่เป็นธรรมนัก โดยเฉพาะหน่วยงานหลักๆ อย่าง “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” และ “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศตช.)” หรือแม้กระทั่ง “5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น และบรรดากำลังพลในแนวหน้าทั้งทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร (อส.) ฝ่ายพลเรือน
แน่นอนความสำเร็จในเวลานี้เป็นเพราะ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าคนปัจจุบันยึดมั่นในนโยบายและยุทธวิธีขับเคลื่อนเพื่อดับไฟใต้ด้วยการใช้ “สัตติวิธี นิติรัฐ นิติธรรม” พร้อมๆ กับสานต่อสิ่งที่รุ่นพี่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโต๊ะ “พูดคุยสันติสุข” ทั้งในระดับพื้นที่ นอกพื้นที่ และในต่างประเทศ การ “พาคนกลับบ้าน” การใช้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” เป็นต้นแบบ รวมถึงการใช้ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.)” เข้าทะลุทะลวง เป็นต้น
พร้อมๆ กับใช้ “อำนาจ” ที่มีอยู่อย่าง “เต็มเปี่ยม” สั่งการให้เกิดการบูรณาการของทุกหน่วยงานจนเป็น “เอกภาพ” ได้อย่างเป็นดีก็จริง
แต่ใช่ว่า “อำนาจ” ที่ทำให้เกิด “เอกภาพ” ซึ่งนำไปสู่การสร้างปัจจัยบวกต่างๆ ตามมาเพื่อช่วยให้ไฟใต้คลี่คลายไปได้อย่างน่าสนใจนั้น สิ่งเหล่านี้ใช่จะดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง และยาวนานาน โดยเฉพาะยืนยาวจนไฟใต้มอดดับไปในที่สุดก็หาไม่?!
ต้องไม่ลืมว่าตามโรดแมปที่วางไว้ คณะทหารที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนมีกำหนดจะถือครองอำนาจรัฐไปอีกประมาณปีเศษ หรืออย่างช้าไม่น่าจะเกิน 2 ปี เพราะจะเกิดการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่ แล้วได้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามานั่งบริหารประเทศต่อจากรัฐบาล คสช. ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นอำนาจที่ได้มาจากปากกระบอกปืนก็จะค่อยๆ เจือจางหายไปในที่สุด
เช่นเดียวกันนโยบาย “การทหารนำการเมือง” ที่ถูกถ่ายทอดลงสู่ผืนแผ่นดินไฟใต้ ณ ปลายด้ามขวาน ซึ่งเป็นที่สยบยอมของทุกหน่วยงาน และทุกฝ่ายในห้วงเวลานี้ อีกปีกว่าๆ หรือไม่เกิน 2 ปีดีดัก ก็ย่อมต้องคลายมนต์ขลังลงไปในที่สุด
ในหน้าประวัติศาสตร์ไฟใต้ นับเนื่องตั้งแต่อดีตจนล่วงปัจจุบัน ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อที่มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ จากสถานการณ์ที่ถูกทำให้ทรงตัวอยู่ดีๆ ก็มักจะปะทุคุโชนขึ้นสาดเปลวไฟให้ฉายฉานไปเสียแทบจะทุกหน?!
ต้องไม่ลืมด้วยเช่นกันว่า ภายหลัง คสช.เข้าบริหารประเทศ ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “โครงสร้างอำนาจ” ในการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งใหญ่ด้วย จากที่รัฐบาลพลเรือนต่างๆ เคยใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ก็ถูกแปรเปลี่ยนสลับกลับไปเป็นนโยบาย “การทหารนำการเมือง” พร้อมๆ กับมอบอำนาจให้ฝ่ายทหารไว้ใช้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
สิ่งนี้ยืนยันได้จากหน่วยงานฟากฝ่ายพลเรือนอย่าง “ศอ.บต.” เคยถูกวางให้มีบทบาทหลักในการดับไฟใต้มาต่อเนื่องยาวนาน จากที่เคยฝากไว้กับกระทรวงมหาดไทยโดยแต่งตั้ง “ผอ.ศอ.บต.” ไปจากรองปลัด หรือ “ข้าราชการระดับ 10” พอในปี 2553 ก็มีการออกกฎหมายยกขึ้นเป็นองค์กรพิเศษให้ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี และให้มี “เลขาธิการ ศอ.บต.” เป็นถึง “ระดับ 11” เทียบเท่าปลัดกระทรวงนั่งบริหาร
เวลานี้หากจะบอกว่าหน่วยงานฝ่ายพลเรือนอย่าง ศอ.บต. รวมถึงฝ่ายตำรวจอย่าง ศตช. ได้ถูก “บอนไซ” และผู้นำถูก “กุดหัว” ไปแล้วก็ไม่น่าจะผิดแผกไปจากความเป็นจริงที่ปรากฏนัก!!
เนื่องเพราะต้องถูกบังคับให้เหลือหน่วยงานในพื้นที่ที่แบบต้องห้อยท้ายไว้ด้วยข้อความว่า “ส่วนหน้า” และไม่เพียงเท่านั้น ว่ากันว่าเวลานี้ข้าราชการทหารที่เคยอยู่ “ระดับ 9” ที่ในเวลานี้ถูกประกาศยกฐานะเสียใหม่ให้เป็น “ระดับ 10” แล้วก็ตาม แต่ก็ยังสามารถขี่คอข้าราชการพลเรือน “ระดับ 11” ได้อย่างที่ผู้ถูกขี่คอต้องสยบยอม
ดังนั้น หากถึงเวลา “รัฐบาลทหาร” ที่ได้อำนาจมาจากกระบอกปืน เมื่อจำเป็นต้องถ่ายเทอำนาจกลับไปให้ “รัฐบาลพลเรือน” ที่จะมาจากการเลือกตั้ง มีหรือที่บรรดา “นักการเมือง” จะสยบยอมเดินหน้าหนุนบทบาทฝ่ายทหารให้เป็นพระเอกในการแก้ไขวิฤตการณ์ไฟใต้ต่อไปได้อีก
เรื่องราวเหล่านี้มีให้เห็นในหน้าประวัติศาสตร์ไฟใต้มาโดยตลอด และหลายฝ่ายเชื่อกันว่าในที่สุดแล้วทิศทางการที่จะดับไฟใต้ได้ ก็ด้วยการใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” เท่านั้น
ทั้งนี้ ก็โดยการให้หน่วยงานฝ่ายพลเรือนทำหน้าที่ชี้นำในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างรอบด้าน ขณะที่หน่วยงานทหาร และตำรวจทำหน้าที่เหมือนกองหนุน พร้อมๆ กับการกดดันให้ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” รวมถึงทุกกลุ่มคนที่ยังยืนอยู่ตรงข้ามหันมายอมรับอำนาจรัฐในที่สุด
ดังนี้แล้วสังคมจึงต้องช่วยกันขบคิดว่า ห้วงเวลาที่กำลังจะมีการถ่ายเทอำนาจบนแผ่นดินไฟใต้กันอีกระลอกในเวลาอีกไม่ช้านานนี้ ทุกฝ่ายจะช่วยกันทำความเข้าใจ และหาหนทางอย่างไรให้เป็นไปได้อย่าง “ราบเรียบ” และ “ราบรื่น” ไม่เกิดเหตุสะดุด หรือเกิดอาการแข็งขืนต่อกัน อันไม่นำไปสู่การเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือสร้างสถานการณ์ และฉวยโอกาสก่อเหตุขึ้นมาได้
นอกจากนี้แล้ว ในห้วงย่างเยือนเข้าสู่นักษัตรแห่ง “ปีลิง” เวลานี้ สถานการณ์ไฟใต้ที่มีปัจจัยบวกอันนำไปสู่แนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังกล่าว ก็คงต้องจับตาใกล้ชิดกันต่อไปว่า กระบวนการดับไฟใต้จะยังดำเนินต่อไปได้ราบรื่นหรือไม่ ซึ่งมีสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลของหลายฝ่ายคือ ในส่วนของการตั้งโต๊ะพูดคุยสันติสุขที่เป็นการ “เปิดเจรจาในต่างประเทศ” จะมีขึ้นได้อีกหรือไม่ หรือจะก้าวเดินกันไปในทิศทางไหน
อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่สังคมไทยจำต้องจับตากันแบบแทบไม่กะพริบนับจากย่างเข้าสู่ปี 2559 นี้ด้วยก็คือ มีปัจจัยต่างประเทศที่จะส่งผลต่อวิกฤตไฟใต้บนแผ่นดินด้ามขวานอย่างเป็นสำคัญและยากจะหลีกเลี่ยง ได้แก่ เรื่องราวที่ว่ากันว่าเป็นจุดเริ่มของ “สงครามโลกครั้ง 3” ไปแล้ว นั่นคือ การที่ชาติมหาอำนาจ และพันธมิตรกำลังเร่งกวาดล้าง “ขบวนการไอเอส” ในซีเรีย และอิรัคอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้ว
มีสิ่งที่คาดหมายว่าจะเป็นไปได้อย่างมากคือ หากกลุ่มไอเอสมีอันต้องแตกกระเจิง การหลบลี้หนีภัยไปยังประเทศต่างๆ สำหรับในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์รอบๆ บ้านเราแล้วเชื่อกันว่า “อินโดนีเซีย” กับ “มาเลเซีย” น่าจะเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ
และที่ต้องไม่ลืมอย่างเป็นที่สุดก็คือ ทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับผืนแผ่นดินชายแดนใต้ ณ ปลายด้ามขวานทองของไทย โดยเฉพาะ “บริเวณชายแดนรอยต่อระหว่างไทย-มาเลเซีย” น่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยอีกแห่งหนึ่งของกลุ่มไอเอสได้
หากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันได้อย่างลงตัวของ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ในภาคใต้ของไทย กับกลุ่มก่อการร้ายสากลที่เรียกขานกันว่า “ขบวนการไอเอส” ก็เป็นได้