คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
“กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” สามารถผ่านวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งเป็นวันครบรอบ 11 ปี ของเหตุการณ์ “ตากใบทมิฬ” ที่ทำให้มีชาวมุสลิมเสียชีวิต จำนวน 85 คน ไปได้โดยที่ไม่เกิดเหตุร้ายตามที่หน่วยข่าวความมั่นคงแจ้งเตือนว่า แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนจะมีการก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เพื่อเป็นการตอกย้ำในเหตุการณ์ที่เป็นวันเชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว
แต่สุดท้ายพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็หนีไม่พ้นการก่อการร้าย เพราะในคืนวันที่ 29 ต.ค.ต่อเนื่องถึง 30 ต.ค.ที่เพิ่งผ่านมา แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็แผลงฤทธิ์ด้วยการก่อเหตุร้าย และก่อกวนในพื้นที่ทั้ง 8 อำเภอของ จ.ยะลา
ขอย้ำว่า “8 อำเภอ” ที่แนวร่วมรวมตัวกันเพื่อก่อเหตุร้ายนั้น ที่ต้องย้ำว่า 8 อำเภอเ พราะอำเภอใน จ.ยะลา มีทั้งสิ้นรวม 8 อำเภอ
วันนี้แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พื้นที่ทั้ง จ.ยะลา ไม่มีอำเภอไหนที่ “ปลอดภัย” และไม่มีอำเภอไหนที่ “ไม่มีแนวร่วม” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าทั้ง 8 อำเภอ เป็นพื้นที่ที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนมี “มวลชน” ในการสนับสนุนให้แนวร่วมชุดปฏิบัติการก่อเหตุร้ายได้ตามที่ขบวนการฯ ต้องการ
เหตุการณ์ใน 8 อำเภอของ จ.ยะลา ที่เกิดต่อเนื่องระหว่างคืนวันที่ 29-30 ต.ค.คือ มีการก่อกวนด้วยการเผายางรถยนต์ เผากล้องวงจรปิด เผาสถานที่ราชการ ปฏิบัติการโน่น นี่ นั่น จำนวน 21 แห่ง
มีการวางระเบิดโน่น นี่ นั่น และเน้นที่การระเบิดเสาไฟฟ้าเพื่อหวังให้หักโค่น และตามมาด้วยให้ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 8 อำเภอ จำนวน 14 เหตุการณ์
มีพื้นที่ไฟฟ้าดับบางส่วน แต่ไม่มีการส่งแนวร่วมเข้าปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายที่เป็น “ส่วนราชการ” และที่เป็น “ฐานปฏิบัติการ” ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และพลเรือน
จึงเข้าใจได้ว่า ที่ไม่มีการส่งกำลังเข้าโจมตีไม่ใช่เพราะ “ไม่กล้า” แต่เป็นการก่อการร้ายเพื่อ “ชิมลาง” ดูความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน “ตั้งรับ” และการเปิดเกม “รุก” เพื่อเก็บข้อมูลไปใช้ในการปฏิบัติการในครั้งต่อๆ ไป
แม้ว่าการก่อกวน และการก่อการร้ายรวม 35 จุด ใน 8 อำเภอของ จ.ยะลาครั้งนี้ อาจจะไม่มีการสูญเสียของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีทหารได้รับบาดเจ็บเพียง 6-7 นายเท่านั้น
แต่ก็อย่าเพิ่งดีใจว่า เป็นการก่อการร้ายที่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน “ไม่ประสบความสำเร็จ” เพราะบางครั้งความสำเร็จในการก่อการร้ายไม่ได้วัดกันที่ตัวเลขว่ามีคนตายกี่มากน้อย หรือทรัพย์สินเสียหายมูลค่าเท่าไหน แต่ความสำเร็จ หรือล้มเหลวของการก่อการร้ายอยู่ที่ขบวนการสามารถปฏิบัติการในพื้นที่ได้ โดยไม่ได้รับการ “ขัดขวางจากเจ้าหน้าที่”
และที่สำคัญที่สุดคือ แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนมีการ “นัดหมาย” ออกมาก่อการร้ายในพื้นที่ 8 อำเภอ ของ จ.ยะลาพร้อมๆ กัน แต่ “งานการข่าว” ของรัฐทั้งตำรวจ ทหาร และพลเรือนไม่มีหน่วยงานไหน “สำเหนียก” ถึงข่าวความเคลื่อนไหวของแนวร่วมแม้แต่หน่วยเดียว
ประเด็นนี้ต่างหากที่ต้องนำมาพิจารณาบนโต๊ะประชุมของ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ว่าอะไรเกิดขึ้นต่อ “หน่วยข่าว” และจะแก้ปัญหา “ข่าวบอด” ที่เกิดขึ้นได้อย่างไร
และหากทั้ง 35 เหตุการณ์แนวร่วมให้ชุดปฏิบัติการที่เป็น “คอมมานโด” ใช้ระเบิดที่มีอานุภาพรุนแรง และเพิ่มจุดหมายของการก่อเหตุที่มากกว่า 35 จุด ความสูญเสียจะต้องมากกว่าที่เกิดขึ้นใช่หรือไม่
เราเห็นด้วยต่อมาตรการที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ใช้ในการดับไฟใต้ รวมทั้งเห็นด้วยต่อการใช้ “ทุ่งยางแดงโมเดล” ในการแก้ปัญหา เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย และเห็นด้วยต่อใช้ “ศปก.อำเภอ” หรือ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ” ในการสร้าง “เอกภาพ” ด้วยการดึงทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ และภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมคิด ร่วมทำ กับการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ การนำเอา “นโยบาย” นำเอา “แผนงาน” ทุกแผ่นงานเพื่อใช้ในการปฏิบัติของหน่วยงาน หรือของกองกำลังฝ่ายต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งพบว่ายังไม่สามารถที่ “ขับเคลื่อน” ให้เป็นไปตามนโยบาย หรือตามแผนงานที่วางเอาไว้
นั่นคือที่มาของ “ความล้มเหลว” ในการป้องกันเหตุ นั่นคือความล้มเหลวของ “งานการข่าว” ที่ยังเข้าไม่ถึงข้อมูลของฝ่ายตรงข้าม
สิ่งที่เห็นอย่างต่อเนื่องคือ ความตั้งใจของ “แม่ทัพ” ทุกท่านที่มารับผิดชอบในการดับไฟใต้ ตั้งแต่สมัยแม่ทัพ “พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร” จนถึงแม่ทัพท่านล่าสุด “พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์” ที่เดินสายพบปะผู้นำทุกองค์กร เพื่อขอความร่วมมือ ร่วมใจในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้น รวมทั้งการติวเข้มผู้ใต้บังคับบัญชาในการให้ทำตามนโยบาย และให้มีการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
แต่เมื่อการปฏิบัติตามนโยบายยังมี “ความติดขัด “ ก็ต้องหาสาเหตุของการติดขัดเพื่อแก้ไขให้ลุล่วง
ที่ผ่านมา “กอ.รมน.” ใช้เงินงบประมาณจำนวนไม่น้อยในการ “ซื้อใจ” คนในพื้นที่ ทั้งในวงการศาสนา ในแวดวงของท้องที่ การเมืองท้องถิ่น และในภาคประชาสังคม เพื่อหวังที่จะได้รับความร่วมมือในเรื่องของ “ข่าวสาร” ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการก่อเหตุร้าย
“กอ.รมน.” ใช้งบประมาณเพื่อการ “ซื้อใจ” ของผู้นำองค์กร โดยเฉพาะองค์กรต่างๆ ในพื้นที่มาหลายปี แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนคือ “วันนี้” กับ “วันวาน” ของสังคมในพื้นที่ยังเต็มไปด้วย “มือล่าง” ที่ขวักไขว่เต็มไปหมด ในขณะที่ “มือบน” อาจจะมีบ้าง แต่น้อยนิดเต็มประดา
วันนี้ “กอ.รมน.” ต้องถามตนเองว่า การใช้งบประมาณแบบ “หว่านโปรย” ในพื้นที่มีผลตอบแทนที่ “คุ้มค่า” หรือไม่ และหากไม่คุ้มค่าสิ่งที่ต้องทำคือ การ “ประเมิน” กันใหม่ว่ายังจะใช้นโยบาย และวิธีการเดิมๆ ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ หรือจะ “ยกเลิก” เพื่อหาแนวทางใหม่ๆ ที่อาจจะได้ผลกว่าที่เป็นอยู่
วันนี้เราจะเห็นได้ว่า 11 ปีที่ผ่านมาของปฏิบัติการของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ไม่ได้มีวิธีการมี “ยุทธวิธี” ในการก่อการร้ายที่ใหม่ๆ หรือใหม่กว่าที่เคยใช้เมื่อก่อนปี 2547 แต่อย่างใด วิธีการ หรือยุทธวิธีของแนวร่วมยังเป็นแบบเดิมๆ เช่น ซุ่มโจมตีด้วยอาวุธปืน ลอบกัดด้วยระเบิดแสวงเครื่อง เผายางรถยนต์ เผานู่น นี่ นั่น และวางระเบิดเสาไฟฟ้า
ต่อไปก็หมุนเวียนกลับไปที่ปฏิบัติการยิงครู วางระเบิดพระ ยิงขบวนรถไฟ เผาโรงเรียน แต่งตัวเลียนแบบเจ้าหน้าที่รัฐ ตั้งด่าน หรือบุกเข้าในฐานของเจ้าหน้าที่เพื่อยึดอาวุธปืน ทั้งหมดทั้งปวงไม่มีอะไรที่ใหม่ไปกว่านี้
เพียงแต่ที่หน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถ “เอาชนะ” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีกำลังคนแค่ “หยิบมือเดียว” ได้นั้นก็เป็นเพราะหน่วยงานของรัฐใช้วิธีการ หรือยุทธวิธีที่ “เก่ากว่า” ที่ไม่มีการปรับปรุง ไม่มีการประเมิน ใช้ในการรับมือต่อแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาโดยตลอด
ดังนั้น นโยบาย และยุทธวิธี หรือจะอะไรก็ตามที่เห็นว่าได้ใช้ และไม่ได้ผลมาตลอดนั้นควรจะยกเลิกเสีย รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย หรือยุทธวิธีให้มีความทันสมัยเสีย เพื่อก้าวล้ำต่อนโยบาย และยุทธวิธีของขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ใช้อยู่ในขณะนี้
เพียงแต่ที่เรายังอยู่ในสภาพ “ยะญ่ายพ่ายจะแจ” เป็นเพราะเขาก็ไม่อะไรใหม่ แต่เผอิญว่า “ของเราเก่ากว่า” ก็เท่านั้น
งบประมาณในการดับไฟใต้ปี 2559 รัฐบาลได้ตั้งไว้เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบ และการพัฒนา 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ นาทวี เทพา จะนะ และสะบ้าย้อย จำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณของปีที่ผ่านมา
ปัญหาคือ ทำอย่างไรที่จะใช้มีการใช้งบประมาณ จำนวน 30,000 ล้านให้ “คุ้มค่า” และ “ไม่รั่วไหล” เพื่อให้การดับไฟใต้เป็นไปอย่าง “ได้ผล” เท่านั้นเอง
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอชื่นชมหน่วยงานความมั่นคงที่ยังสามารถป้องกัน “หัวเมืองเศรษฐกิจ” ทั้ง 7 หัวเมืองหลักให้รอดพ้นจากการก่อการร้ายมาได้นานหลายเดือนแล้ว และในการก่อการร้ายครั้งนี้ก็ยังป้องกันเอาไว้ได้อีกเช่นกัน
ที่สำคัญอีกอย่าง การที่แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนก่อเหตุร้ายถี่ๆ ในห้วงของการสานต่อ “การพูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐบาลกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนรวม 6 กลุ่มนั้น ย่อมเกิดประโยชน์ต่อการเดินหน้าพูดคุยของรัฐบาลที่จะได้รู้ว่า เหล่าตัวแทนขบวนการที่ “ผูกไทใส่สูท” ที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจามี “ศักยภาพ” ในขบวนการจริงหรือไม่
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อที่เราจะได้กำหนดท่าทีในการพูดคุยที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง