xs
xsm
sm
md
lg

ไฟใต้ปี’59 แนวโน้มดี...แต่ต้องจับตาสถานการณ์นอกประทศ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ปราการ ชลยุทธ และ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ในวันส่งมอบตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
อาจจะเป็นปีแรกของห้วงเวลา 12 ปี ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งใหม่ขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่มี “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” เป็นพระเอก สามารถทำให้คนในพื้นที่ผ่านวันเวลาของการเชื่อมต่อระหว่าง “ปีเก่ากับ “ปีใหม่ ไปได้อย่างสงบสุข เนื่องจากไม่มีเกิดเหตุร้ายที่มาจากปฏิบัติการของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดน
 
การป้องกันเหตุร้ายอย่างได้ผลในครั้งนี้ย่อมมาจาก “ความใส่ใจ” กับนโยบายและแผนปฏิบัติการของหน่วยงานในพื้นที่ต่อแนวร่วมของขบวนการแบ่งแยกดินแดน จนทำให้แนวร่วมขาดเสรีภาพในการก่อการร้าย ทั้งที่มีข่าวมาตลอดว่า มีแผนก่อเหตุหลายพื้นที่ในห้วงเวลาการส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันครบรอบการ “ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4” อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อ 4 ม.ค.2547 ที่ถือเป็นการเปิดศักราชการก่อการร้ายละลอกใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขบวนการได้ถือเป็น “สัญลักษณ์ การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับ “วันเสียงปืนแตกที่อดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ถือเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อการ “ปลดแอก นั่นเอง
 
การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายในพื้นที่อย่างได้ผลในหนนี้ คงต้องให้เป็น “ความชอบ ของผู้นำหน่วยอย่าง พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4  พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และเจ้าหน้าที่อื่นๆ รวมทั้ง “กำลังพล” ที่ปฏิบัติการอย่างเข้มงวด
 
ตลอดทั้งหน่วยงานที่สำคัญอย่าง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศตช.)” ที่มี พล.ต.ท.เฉลิมพล อจลบุญ ผบช.ศชต “ศูนย์อำนวยการจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” ที่มี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นเลขาธิการฯ ตลอดจน “ผู้ว่าราชการใน 4 จังหวัด” ที่มีความเป็น “เอกภาพ ในการบูรณาการแผนงานของการป้องกันมิให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น
 
การไม่เกิดเหตุร้ายในห้วงเวลาดังกล่าว เป็นเรื่องของความสำเร็จในแผนปฏิบัติการ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความ “บังเอิญ หรือ “ดวง และ “บุญ-กรรมทุกความสำเร็จย่อยมาจากความเหน็ดเหนื่อย ความเสียสละ หาใช่เกิดเพราะ “ฟลุก แต่อย่างใด
 
ดังนั้น สถานการณ์ในพื้นที่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ห้วงปลายปี 2558 เป็นต้นมา สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ เหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มลดระดับลงมาอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า สามารถควบคุมได้ และที่น่าพอใจ ได้แก่ “เป้าหมายอ่อนแอ คือ ประชาชน พระภิกษุ  ครู และข้าราชการพลเรือนที่เคยเป็นเหยื่อสถานการณ์ลดความสูญเสียลงอย่างน่าพอใจ
 
เป้าหมายของแนวร่วมในปี 2558 เป็นการ “หันเห ปลายกระบอกปืน และระเบิดแสวงเครื่องไปยังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร (อส.) เป็นด้านหลัก ซึ่งเป็นการก่อการร้ายที่เป็นไปตามหลักสากล เพราะตำรวจ ทหาร และอาสาสมัคติดอาวุธเหล่านั้นคือ “คู่ขัดแย้งหรือ “คู่ต่อสู้ ของการก่อการร้าย
 
โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการพัฒนาการไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือกองทัพ “จับประเด็นหรือ “คลำเป้าหมาย จนพบ ตั้งแต่ครั้งที่ พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ต่อด้วย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์  พล.อ.สกล ชื่นตระกูล พล.อ.วลิต โรจนภักดี พล.อ.ปราการ ชลยุทธ และปัจจุบันคือ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ ที่ได้ พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4 มาเป็น “ทัพเสริมในการ “ดับไฟใต้
 
แม้ว่าแต่ละ “แม่ทัพที่ได้กล่าวถึงจะมีการทำงานในสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ต่างก็เข้าใจถึง “แกนกลาง ของปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการ “ขับเคลื่อนในทิศทางที่เอาปัญหา และประชาชนเป็นศูนย์กลาง และต่างให้ความสำคัญต่องานด้าน “ยุติธรรมและการพัฒนาเน้นการใช้ “อำนาจ ตามความจำเป็น มากกว่าการใช้เพื่อ “กดทับ” ปัญหา และประชาชนในลักษณะ “กวาดขยะไว้ใต้พรม เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต
 
การเกิดขึ้นของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การแก้ปัญหา “ภายใน คือ เรื่องการ “ไม่มีเอกภาพ ของหน่วยงานทั้ง 66 หน่วยงานในพื้นที่ได้รับการแก้ไข ทำให้การแก้ปัญหาความไม่สงบเป็นหน้าที่ของ “แม่ทัพที่มีอำนาจในการสั่งการเพียงคนเดียว” จนทำให้เกิด “เอกภาพ และเกิดการ “บูรณาการ” หน่วยงานต่างๆ อย่างได้ผล
 
แต่สิ่งที่เป็น “คุณูปการ ที่ใหญ่หลวงที่สุด ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีกว่าที่คิดคือ การที่ประชาชน “มุสลิม ยอมรับว่าเหตุร้าย หรือการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นมายาวนาน 12 ปี เป็นการปฏิบัติการของ “แนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ซึ่งเป็นมุสลิมในพื้นที่ และเป็นลูก เป็นหลาน เป็นญาติมิตรของพวกเขาเอง ซึ่งคนเหล่านี้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะให้มี “ความเห็นต่างและมี “ความเกลียดชัง เจ้าหน้าที่
 
ก่อนหน้านี้ ประชาชนมุสลิมในพื้นที่จำนวนมากต่างเชื่อว่า เหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความสูญเสียของมุสลิมเป็นการกระทำของ “เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาสร้างสถานการณ์ เพื่อหวังเงินงบประมาณ และอื่นๆ
 
แต่เมื่อประชาชนในพื้นที่ต่าง “เข้าใจ” และ “ประจักษ์ ในเหตุผล ในข้อเท็จจริงมากขึ้นๆ จึงทำให้ “แรงต้านหรือความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่ค่อยๆ หมดไป และกลายเป็น “มวลชน ที่การสนับสนุน หรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่มากขึ้น หรือบางส่วนที่เคยให้การสนับสนุนขบวนการ เพราะเข้าใจผิดจากการไม่ทราบข้อเท็จจริง และการโฆษณาชวนเชื่อจากแนวร่วมก็หยุดนิ่ง แม้จะไม่ให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ไม่สนับสนุนขบวนการเหมือนในอดีต
 
รวมทั้งการใช้นโยบายในการ “เปิดพื้นที่พูดคุย ทั้งภายในพื้นที่ และภายนอกพื้นที่ ซึ่งเริ่มเป็นรูปร่างตั้งแต่สมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และถูกนำมาสานต่อโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น เพราะนโยบายการพูดคุยได้รับการ “ขานรับ จากภาคประชาสังคมในพื้นที่ รวมทั้งขบวนการแบ่งแยกดินหลายกลุ่มที่ต่างอยู่ในสภาวะของการหา “บันไดลง อย่างมีเกียรติ
 
มองโดยภาพรวม “นโยบาย” ที่กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า นำมาใช้ในการ “ดับไฟใต้ ตั้งแต่เรื่อง “พาคนกลับบ้าน” การใช้ “ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.)” เป็นเครื่องมือในการบูรณาการในพื้นที่ การใช้ “ทุ่งยางแดงโมเดล เป็นรูปแบบสร้างความสงบของอดีตแม่ทัพที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่อง “ให้ดอก ออกผล ต่อสถานการณ์ที่เบ่งบานมาจนถึงวันนี้
 
เมื่อ พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ มาเป็นแม่ทัพ และใช้นโยบาย “สันติวิธี นิติรัฐ นิติธรรม” ต่อการแก้ปัญหาเพื่อให้สอดรับต่อนโยบายที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงอาจจะเป็นอีกช่องทางที่จะทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในปี 2559 ลดดีกรีความรุนแรงลงได้
 
และปี 2559 อาจจะเป็นปีที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และคนในพื้นที่มองเห็น “แสวงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ชัดเจนที่สุด
 
เว้นแต่ว่า “การพูดคุยในเวทีต่างประเทศ” ไม่ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้เกิด “เงื่อนไขใหม่” ที่จะเป็น “ตัวเร่งให้กลุ่มก้อนที่ไม่เห็นด้วย และเสียประโยชน์ ร่วมมือกันเพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง
 
รวมทั้งการกวาดล้างขบวนการ “ไอเอส ในประเทศซีเรีย และอิรักของนานาประเทศที่อาจจะส่งผลให้แตกกระจายเข้าไปก่อการร้ายในประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย
 
อีกทั้งเมื่อถูกกวาดล้างมากขึ้น พื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ “ชายแดนไทย-มาเลเซีย” ซึ่งอาจจะเป็นผลให้ “ไอเอส” เกิดการรวมตัวกับกลุ่มที่ปฏิบัติการในพื้นที่ หรือกลายเป็น “เครื่องมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ โดยเฉพาะในส่วนที่ยัง “เห็นต่าง กับกลุ่มที่ต้องการพูดคุยกับรัฐไทย
 
แต่จากสถานการณ์ “บวก” ด้วยวิธีการ หรือนโยบายที่กองทัพใช้เพื่อการดับไฟใต้ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และหากผู้ที่เป็น “แม่ทัพ” และ “นายกอง” มีความมุ่งมั่น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ให้ความเชื่อถือ และให้ความร่วมมือ เชื่อว่าสถานการณ์ความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น