xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากทุ่งระโนด : ปูชนียบุคคล (๒) ครูผัด จันทน์เสนะ / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
ข้าพเจ้าได้ยินชื่อ “ครูผัด” ตั้งแต่พอจำความได้ และยังไม่เข้าโรงเรียน  จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกในวันที่พี่ชายคนที่สามนับจากข้าพเจ้าที่ชื่อ “สนาน” เสียชีวิตลง  แม่บอกใครต่อใครว่าสาเหตุของการตายมาจากถูกครูผัดเฆี่ยน เนื่องจากขาดเรียน เพราะป่วยออกหัดอีสุกอีใสที่แม่เรียกว่า “ไข้เหือด” แต่ครูผัด ไม่ทราบสาเหตุทำให้ “ไข้หลบใน” ตามความเชื่อของแม่ และชาวบ้านทั่วไป น้ำเสียงของแม่ที่บอกกล่าวไม่ได้แสดงออกถึงความขุ่นเคืองครูผัด แม้แต่น้อย  มิหนำซ้ำยังมีน้ำเสียงที่เข้าใจ และให้ความเคารพอยู่ในที
 
ต่อมา ข้าพเจ้าได้รับรู้จากแม่ว่า ชื่อข้าพเจ้า และน้องสาวคือ “จรูญ” และ “ธรรมนูญ”  เป็นชื่อที่ครูผัด ตั้งให้  ข้าพเจ้าจึงมีความผูกพันกับครูผัด มาตั้งแต่วันนั้น  แม้ว่าขณะข้าพเจ้าครบเกณฑ์เข้าเรียน ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนกับครูผัด และจำหน้าตา ท่าทางของครูผัดไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
 
นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังมีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับ “ป้าฉิ้น” หรือ “ฉีฉิ้น” ของชาวบ้าน หรือ “น้าฉิ้น” ของแม่ เพราะท่านสนิทสนมกับแม่ เรียกแม่ว่า “น้อง” อย่างเต็มปากเต็มคำ เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่นๆ อีกมากมาย
 
ข้าพเจ้าจำภาพ “ป้าฉิ้น” แม่ค้าขายผ้าได้ติดตามาจนถึงวันนี้  ภาพผู้หญิงหน้าตาแบบสาวจีนผิวขาว  หน้าตาสะอาดสะอ้าน  ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา  มีเค้าความเป็นคนสวยในวัยสาวให้เห็นอย่างชัดเจน  พายเรือมาดขนาดเล็กมีสินค้าผ้า ทั้งผ้าถุง  โสร่ง และผ้าขาวม้ามาขายตลาดนัดหน้าท่าเรื่อยนต์บ้านหัวป่า  พายเรือเลียบตลิ่งมาจากบ้านตะเครียะ  ป้าฉิ้น พายท้าย  ป้าจับพายหัว ทั้งขามาในตอนเช้ามืด และขากลับในตอนสายๆ ใกล้เที่ยงวัน
 
“บางคนถึงตายไปแล้วก็เหมือนยังมีชีวิตอยู่   บางคนถึงยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนตายไปแล้ว”
 
“ครูผัด จันทน์เสนะ : ปูชนียบุคคลแห่งทุ่งตะเครียะ” เป็นงานวิจัยที่มุ่งศึกษาประวัติชีวิต และบทบาทของคุณครูผัด จันทน์เสนะ ที่มีต่อการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาชุมชน ศึกษาความเห็น ทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อคุณครูผัด จันทน์เสนะ และการศึกษาบุคลิกภาพ คุณธรรม จริยธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของคุณครูผัด จันทน์เสนะ โดยกระบวนการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากเพื่อนร่วมงาน ญาติ ลูกศิษย์ และชาวบ้าน
 
ผลการศึกษาพบว่า คุณครูผัด จันทน์เสนะ มีรากเหง้าเป็นลูกชาวนาครอบครัวใหญ่ จากบ้านสามหมื่นแสน หรือสระหมื่นแสน หรือบ้านหนำนอก ชุมชนเกิดใหม่ในทุ่งระโนด ได้รับการศึกษาชั้นต้นในตำบลบ้านเกิด และเดินทางไปศึกษาระดับสูงขึ้นในตัวเมืองสงขลา และโรงเรียนฝึกหัดครูสงขลา (กำแพงเพชร)
 
มาเป็นครูใหญ่คนที่ 3 ที่โรงเรียนวัดหัวป่า ตำบลตะเครียะ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลบ้านขาว) ไปช่วยราชการที่สำนักงานศึกษาธิการการอำเภอระโนดอยู่ระยะหนึ่ง แล้วกลับมาเป็นครูใหญ่ที่โรงเรียนวัดหัวป่าอีกครั้งหนึ่ง หลัง ครูกลีบ บัวแดง เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวบ้านหัวป่าให้ความเคารพนับถือเสมอกับเจ้าอาวาสวัดหัวป่า
 
ด้วยอุปนิสัยใจคอเป็นคนจริงจัง เป็นที่เกรงขามของชาวบ้าน และคนวิกลจริต มีบุคลิกลักษณะเป็นผู้นำ แต่งกายสุภาพเรียบร้อยตลอดเวลา เป็นคนเคร่งขรึม ไม่ค่อยยิ้มให้ใคร ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่เกรงกลัวในความมีตบะของครู ในเทศกาลเดือนสิบ และฤดูเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ ชาวบ้านจะชักแถวกันนำขนมเดือนสิบ และข้าวใหม่ไปให้คุณครูผัด จันทน์เสนะ พอๆ กับไปวัด แม้ว่าท่านจะย้ายไปอยู่บ้านตะเครียะในบั้นปลายของชีวิตแล้วก็ตาม
 
กล่าวขานกันว่า สงกรานต์ปีหนึ่งมีการรดน้ำดำหัวเจ้าอาวาสวัดหัวป่ากับครูผัด จันทน์เสนะ ในพิธีรดน้ำวันนั้นขบวนการแถวลูกศิษย์ทอดตัวลงนอนคว่ำเรียงแถวเป็นถนนมนุษย์ให้ครูผัด จันทน์เสนะ เหยียบเดินเข้าสู่บริเวณพิธีสรงน้ำ โดยเท้าไม่สัมผัสดินเลย แม้แต่ก้าวเดียว สะท้อนถึงความศรัทธาที่ชาวบ้าน และศิษยานุศิษย์มีต่อคุณครูของเขาอย่างไม่เสื่อมคลาย
 
เชื่อกันว่า การที่คุณครูผัด จันทน์เสนะ ได้รับการยกย่องนับถือ นอกจากจะมาจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบของท่านเองแล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ท่านได้สมรสกับ ฉีฉิ้น หรือ นางสาวสุคนธ์ ปูชนียบุคคลของชาวบ้านแถบทุ่งระโนด หรือทุ่งตะเครียะอีกท่านหนึ่ง ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือรักใคร่เสมอญาติ
 
จะอย่างไรก็ตาม คุณครูผัด จันทน์เสนะ จบชีวิตก่อนวัยอันสมควรด้วยโรคร้ายเมื่ออายุได้เพียง 55 ปี นับถึงวันนี้ก็ย่างสู่ 1 ศตวรรษพอดี แต่คำกล่าวขานถึงท่านก็ยังไม่เลือนหายไปจากปากของชาวบ้าน สมดังคำกล่าวที่ว่า “บางคนถึงตายไปแล้วก็เหมือนยังมีชีวิตอยู่” มีชีวิตอยู่ในความทรงจำของประชาชนผู้รำลึกถึงด้วยศรัทธา และคารวะ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น