xs
xsm
sm
md
lg

“สงครามความรู้สึก” คือปมลึกของวิกฤตไฟใต้ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุการณ์ระเบิดสังหารทหารพรานในกุโบร์ที่ จ.ยะลา (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีการก่อเหตุรายวันเกิดขึ้นแบบประปราย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติวิสัยของภูมิภาคที่ยังมีการเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็เป็นแบบนี้เหมือนกันทั้งนั้น
 
แต่มีเรื่องที่ต้องติดตามอยู่ 2 เรื่องคือ เรื่องการใช้ระเบิดแสวงเครื่องซุกใน “กุโบร์” หรือ “สุสาน” ของชาวมุสลิมที่ ต.ยุโป อ.เมือง จ.ยะลา
 
คนร้ายมีเป้าประสงค์ในการสังหารลูกชายของผู้ตายที่เป็น “ทหารพราน โดยใช้วิธีการฝังระเบิดในหลุมศพของมารดา ซึ่งนอกจากจะทำให้เป้าหมายเสียชีวิตอย่างสยดสยองแล้ว ยังทำให้ศพของผู้เสียชีวิตที่ฝังอยู่ใน “กุโบร์ ได้รับความกระทบกระเทือนไปด้วย
 
รายงานข่าวจากการสืบสวนในทางลับพบว่า สาเหตุการใช้ระเบิดแสวงเครื่องต่อศพของผู้เสียชีวิต ซึ่งกระทบกระเทือนต่อหลักของศาสนาอิสลามในครั้งนี้ น่าจะมาจากเรื่อง “ส่วนตัว ของผู้ตายที่มีปัญหากับ “ผู้กว้างขวาง ก่อนผู้ตายจะมาเป็นทหารพราน
 
จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและจับกุม “คนร้าย” รวมทั้งผู้ “บงการ มาลงโทษตามกฎหมาย หากไม่ใช่เป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เราก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ใช่
 
แต่ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า วันนี้ในการทำลายล้างซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นฝีมือของ “แนวร่วมซึ่งเป็น “มุสลิมด้วยกัน หรือจากการกระทำของคนอื่นที่อาจจะไม่ใช่มุสลิม แต่กลับมีการใช้ทุกวิธีการไม่ว่าวิธีการเหล่านั้นจะเป็นการบิดเบือนต่อคำสอบของศาสนา หรือขัดกับหลักการของศาสนาด้วยหรือไม่
 
ดังนั้น สิ่งที่คนในพื้นที่จะต้องรับรู้และเข้าใจให้ตรงกันคือ “แนวร่วม” หรือคนในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่อ้างว่าจะเป็นผู้เข้ามา “ปลดปล่อย อะไรต่อมิอะไรในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น คือผู้ที่ “ไม่มีศาสนา” และไม่มีคำว่า “มนุษย์ อยู่ในจิตวิญญาณ
 
เมื่อรู้เช่นนี้แล้วถ้าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังศรัทธา ยังเชื่อมั่นต่อคนในขบวนการเหล่านี้ และยังให้การสนับสนุนคนเหล่านี้ทำหน้าที่ “ปลดปล่อย ก็ต้องถือว่า เป็นเวรกรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะต้องใช้เวรใช้กรรมกันต่อไปจนกว่าจะ “ตาสว่าง
 
ส่วนประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องการไม่ยอมรับการออกมาแถลงการณ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตในค่ายทหารของ “ดับดุลลายิบ ดอเลาะ” ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง ในขณะที่ถูกควบคุมตัวในกระบวนการ “ซักถาม” ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี
 
ซึ่งภรรยาของผู้ตายและญาติๆ ซึ่งอาจจะรวมทั้งคนในพื้นที่ “บางส่วน ที่ไม่เชื่อผลการตรวจสอบของคณะแพทย์ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรศพของผู้ตาย รวมทั้งไม่เชื่อในเกียรติของคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งฝ่ายทหาร ปกครอง ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคมและตัวแทนของผู้ตาย
 
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่  กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องคิดให้หนัก เพราะกรณีการเสียชีวิตของผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยในค่ายทหาร บนโรงพักหรือในเรือนจำ เมื่อคนจำนวนมากปฏิเสธที่จะไม่เชื่อสิ่งที่คณะกรรมการแถลงต่อสังคม แล้วต่อไปจะทำการแก้ไขอย่างไร
 
สิ่งหนึ่งที่ภรรยาและญาติๆ ของผู้ตายพูดผ่านสื่อคือ “ไม่เชื่อ” เพราะคณะกรรมการเป็นคนหน้าเดิมๆ เป็นคนเก่าๆ ที่เคยทำหน้าที่ในการตรวจสอบการตายในลักษณะนี้ และผลที่ออกมาก็จะเป็นแบบนี้คือ ผู้ตายไม่ได้ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ
 
ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คงต้องตรวจสอบว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมานั้นมี “น้ำหนักมี “ต้นทุนทางสังคมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องหลังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ไม่มีต้นทุนทางสังคม ไม่มีน้ำหนักในการทำให้สังคมเชื่อถือ การได้รับการแต่งตั้งเข้าไปทำหน้าที่เพียงเพราะมี “ตำแหน่งที่เป็นผู้นำศาสนา ผู้นำองค์กรนั่น โน่น นี่ เพื่อให้ได้คณะกรรมการที่เต็มจำนวนและอาจจะ “คล้อยตาม” ในวัตถุประสงค์ที่มีการ “ตั้งธง ไว้แล้ว
 
เพราะพบเห็นบ่อยที่คณะกรรมการ โน่น นี่ นั้น ที่ตั้งขึ้นโดยส่วนราชการที่เข้าไปเป็น “พระอันดับ หรือไม่ได้แสดงความคิดเห็น หรือคัดค้านกับเสียงส่วนใหญ่ที่มีวัตถุประสงค์ให้เรื่องที่ดำเนินการตรวจสอบเป็นไป “ตามธง” ที่ตั้งไว้ล่วงหน้า ในขณะที่บางรายอยู่ในลักษณะ “กินที่ลับ ไขที่แจ้ง” ในห้องประชุมไม่สู้ แต่ชอบที่จะต่อสู้นอกห้องประชุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกระทำเพื่อตนเอง”
 
ดังนั้น ในการตั้งคณะกรรมการขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการเสียชีวิต การตรวจสอบการทุจริต การมีส่วนร่วมในเวทีการพูดคุย หรือการแต่งตั้งคณะกรรมการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาไฟใต้ กอ.รมน. หรือ กองทัพภาค 4 รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่มีหน้าที่แก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ต้อง “ตระหนัก” และต้องมีการ “ปรับปรุง เพื่อให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมา มีน้ำหนักและมีต้นทุนทางสังคมเป็นที่เชื่อถือของคนในพื้นที่ เพราะหากทำหน้าที่แล้ว เมื่อถึงเวลาแถลงข้อเท็จจริง แต่ไม่มีใครเชื่อถือ คำแถลงเหล่านั้นก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
 
ในขณะเดียวกันญาติๆ ของผู้ได้รับผลกระทบก็ดี คนในพื้นที่ก็ดี ภาคประชาสังคมก็ดี ต้องมี “จุดยืน ที่ชัดเจนกับเรื่องที่เกิดขึ้น อย่ามีธงอยู่ในหัวใจ อย่าให้เกิดอคติส่วนตัว อย่าใช้ “ความรู้สึก” ของตนเองในการตัดสินว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ตามที่ตนเองเชื่อและมี “ความรู้สึกแบบนั้น
 
และที่สำคัญถ้ามีอคติกับตำรวจ ทหารและพลเรือนเพราะมี “ความรู้สึก” ว่าในอดีตเคยเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จึงมีความ “ไม่เชื่อ เอาไว้ก่อน ซึ่งเป็นความไม่เชื่อโดยที่ไม่ต้องดูหลักฐานหรือข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ห้ามอยาก แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญจะต้องเชื่อในการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งมีหลักวิชาการในการตรวจสอบชันสูตร ซึ่งเป็นหลักสากลที่ทุกประเทศใช้กัน เพราะถ้ามีความรู้สึกที่ไม่เชื่อ แล้วต่อไปเราจะเชื่อใคร และจะอยู่กันอย่างไรในสังคมของบ้านเรา
 
ไม่ผิดถ้าจะกล่าวย้ำเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็จำไม่ได้แล้วว่า “สงครามความรู้สึก คือปมลึกของไฟใต้” เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นล้วน “ตอกย้ำ” ว่าเป็นอย่างนั้นจริง สังคมในพื้นที่ใช้ “ความรู้สึก” ในการตัดสินปัญหา โดยไม่ได้มองถึง “เกียรติภูมิ” ของคนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา
 
เราอาจจะไม่เชื่อและมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อคณะกรรมการบางคนที่เห็นว่ามี “บทบาทที่ “ซ้ำซาก” แต่รู้ต้องว่าแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีเกียรติภูมิ แพทย์ที่ทำหน้าที่ชันสูตรศพเพื่อหาสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนก็มีเกียรติภูมิเพียงพอ วันนี้สังคมของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องมองให้ “รอบด้าน เพื่อที่จะร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ถ้าสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังใช้ “ความรู้สึก” เป็นที่ตั้ง โดยตัดสินที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อจาก “ความรู้สึก” เชื่อเถอะว่าไฟใต้ยังจะลุกไหม้ไปอีกนาน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น