xs
xsm
sm
md
lg

กรณีขอลี้ภัยของ “พล.ต.ต.ปวีณ” และการตายในค่ายทหารของ “อับดุลลายิบ” กับไฟใต้ในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์ศิริน (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
สถานการณ์การก่อความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงดำเนินไปตามจังหวะ และโอกาสของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งยังคงมีความพยายามในการ “ก่อเหตุรายวัน เพื่อให้สังคมโลก และคนในพื้นที่เห็นว่า พวกเขายังมี “ศักยภาพก่อเหตุ” ได้ในหลายพื้นที่
 
แม้ว่าเหตุร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะเป็นเหตุการณ์ก่อการร้ายด้วยการใช้ “ระเบิดแสวงเครื่อง” เป็นส่วนใหญ่ โดยมี “เสาไฟฟ้า” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นเป้าหมายหลัก แต่ถือว่าเป็น “โชคดี” ที่การก่อเหตุมีแต่ทรัพย์ทางราชการที่เสียหาย และมีเพียงคนเจ็บ ซึ่งเป็นตำรวจ ทหาร และอื่นๆ โดยที่ไม่มีประชาชน หรือ “เป้าหมายอ่อนแอ เสียชีวิตตลอดทั้ง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
 
มีผู้คนในพื้นที่แอบหวังว่า ปีนี้อาจจะเป็น “ปีแรก” ในรอบ 11 ปีที่คนใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีโอกาสเฉลิมฉลองปีใหม่ ด้วยความ “รื่นเริง เฉกเช่นเดียวกับคนทั้งประเทศไทย
 
โดยข้อเท็จจริงสถานการณ์โดยภาพรวมของจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะดีขึ้นกว่านี้ หากไม่มีข่าวการเสียชีวิตของ “อับดุลลายิบ ดอเลาะ” ผู้ต้องสงสัยที่เจ้าหน้าที่ทหารนำตัวมาเพื่อทำการ “ซักถาม” ในฐานะที่ต้องสงสัยว่าเป็น “แนวร่วม” ในการก่อเหตุร้ายหลายครั้งในพื้นที่ จ.ปัตตานี
 
โดยข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ทั้ง “อับดุลลายิบ” และ “ภรรยา” เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่นำตัวไปสอบถาม และสอบสวนยัง “ศูนย์ซักถาม” ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ในฐานะที่มีหลักฐานบางอย่างที่ไปเกี่ยวพันกับ “แนวร่วม” รายอื่นๆ ในพื้นที่ และมีการปล่อยตัวหลังจากที่ไม่มีหลักฐานในการ “เอาผิด
 
แต่ครั้งนี้ “อับดุลลายิบ กลับเสียชีวิต” หลังจากที่ถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ซักถามเพียงไม่กี่วัน ซึ่งแม้ว่าในการพิสูจน์ศพของแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จะไม่มีหลักฐานอันแสดงให้เห็นว่า เขาเสียชีวิตจากการ “ถูกทำร้ายร่างกาย” ก็ตาม
 
แต่กระบวนการก็ยังไม่จบสิ้นเสียทีเดียว เพราะยังต้องรอการพิสูจน์ในสิ่งที่ยังต้องใช้เวลาของกระบวนการทางวิชาการอีก 30 วัน จึงจะจบกระบวนการทางการแพทย์
 
การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะห้ามมิให้ภรรยา ลูกๆ และญาติๆ ของผู้เสียชีวิต “สงสัย” หรือ “ข้องใจ” ในการเสียชีวิตของ “อับดุลลายิบ” ในครั้งนี้คงเป็นเรื่องยาก เพราะในฐานะของ “ผู้สูญเสีย” ย่อมต้องออกมาตั้งคำถามในสิ่งที่พวกเขาสงสัย
 
เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ของ “สื่อมวลชน” ที่จำเป็นต้องเสนอข่าวทั้ง 2 ด้าน ทั้งด้านของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งชี้แจงถึง “ความบริสุทธิ์” โดยมีหลักฐานทาง “นิติวิทยาศาสตร์” เป็นเครื่องยืนยัน แต่เมื่อเจ้าทุกข์คือภรรยาของผู้ตายยังเห็นว่า “ไม่เคลียร์” ในคำตอบของรัฐ เขาก็ย่อมที่จะใช้สิทธิผ่าน “สื่อ” ได้เช่นเดียวกับที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้แถลงข่าวไปแล้ว
 
ดังนั้น หาก “สื่อ ทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ โดยมีเจตนาในการนำเสนอ “ข่าวสาร เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยที่ “ไม่มีอคติ ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ย่อมเป็นการทำหน้าที่อันชอบธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพแน่นอน
 
การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า การทำหน้าที่สื่อมีการ “ชี้นำ” ที่เห็นว่าไม่ถูกต้องในการทำหน้าที่นั้น กอ.รมน. ต้องชี้ให้ชัดเจนว่าสื่อที่มีการชี้นำ เป็น “สื่อกระแสหลัก” ที่เป็น “สื่อมวลชน” หรือเป็นแค่ “สื่อภาคประชาสังคม” ซึ่งเป็น “สื่อใหม่” ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มีความชัดเจนต่อการตรวจสอบ
 
ทั้งที่หน้าที่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือการ “ทำความเข้าใจ” ในเรื่องที่เกิดขึ้น ผ่านทางคณะกรรมการ ผู้ปกครอง ผู้นำศาสนา และรวมทั้งกับครอบครัวของผู้สูญเสีย เพื่อให้เข้าใจในทุกแง่มุมที่พวกเขามีความสงสัย หรือยัง “คับข้องใจ”
 
วันนี้สถานการณ์ความไม่สงบดีขึ้นกว่าเดิม แต่จะที่ดีที่สุดคือ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สามารถสกัดกั้น “คาร์บอมบ์” ไม่ให้เข้าไปบอมบ์ใน “7 หัวเมืองเศรษฐกิจ” อย่างได้ผล นั่นคือผลงานชิ้น “โบแดง” ของแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
และหากสามารถควบคุมพื้นที่ ควบคุมมิให้แนวร่วมก่อเหตุร้ายใหญ่ๆ ในหัวเมืองเศรษฐกิจในห้วงเวลาส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ได้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีโอกาส “ฉลองปีใหม่ อย่างมีความสุขก็จะเป็น “โบแดง” อีกชิ้นหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
 
จึงน่าเสียดายที่ “การตายของอับดุลลายิบ” เป็นเสมือน “โบดำ” ที่ทำให้บรรยากาศดีๆ ความรู้สึกดีๆ ของคนในพื้นที่ส่วนหนึ่งต้องหายไป ทั้งที่เหตุการณ์ของผู้ต้องสงสัย และผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวใน “ค่ายทหาร” ไม่มีการเสียชีวิตในที่ควบคุมตัวอย่างน้อยก็ 2-3 ปีแล้ว
 
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงต้องใช้ “เหตุผล” และ “ข้อเท็จจริง” เพื่ออย่าให้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นสิ่ง “คาใจ” จนทำให้บรรยากาศความเข้าใจอันดีระหว่างคนในพื้นที่กับทหารต้องมีสิ่ง “คั่นกลาง” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายปี
 
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่เป็น “ข่าวร้อน ในวันนี้ ซึ่งเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน คือ ความ “บานปลาย” ของ “คดีค้ามนุษย์” ที่แทนที่จะจบลงอย่าง “หมดจด” เพราะเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการ “ทลายห้าง” ขบวนการค้ามนุษย์ที่ทรงอิทธิพลในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างราบคาบ
 
แต่กลับกลายเป็น “โศกนาฏกรรม” ฉากใหญ่เมื่อ “พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์ศิริน” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าผู้ทำคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาแถลงผ่านสื่อประเทศออสเตรเลียว่า ได้ขอเป็น “ผู้ลี้ภัย ในประเทศดังกล่าว เพราะมีความไม่ปลอดภัย ไม่สามารถที่จะอยู่ในประเทศไทยได้อีกต่อไป
 
ถ้าเรื่องที่ พล.ต.ต.ปวีณ ออกมา “แฉทั้งในเรื่องความไม่ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม จากอิทธิพลของขบวนการค้ามนุษย์ในภาคใต้ หรือการที่มี “คนมีสี เข้าไปแทรกแซงให้หยุดการทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน เพื่อจับกุมคนในขบวนการค้ามนุษย์ที่ยังไม่ถูกจับกุม โดยเรื่องเหล่านี้ไม่มี “เบื้องหน้า เบื้องหลัง” อื่นใด
 
ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นต่อ พล.ต.ต.ปวีณ หรือแม้แต่สิ่งที่ พล.ต.ต.ปวีณ ออกมาพูดผ่าน “สื่อต่างประเทศ” ก็คงจะไม่เป็น “รอยด่าง” ที่เกิดขึ้น ทั้งต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นต้นสังกัด อันมี “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา” ผบ.ตร.ที่ทำหน้าที่เป็น “นาย ของตำรวจทุกนายในประเทศ
 
และเช่นเดียวกัน คงไม่เป็น “รอยด่าง ของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ให้นโยบายในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างชนิด “ขุดรากถอนโคน” ซึ่งที่ผ่านๆ มา ทุกรัฐบาลไม่เคยทำได้ เนื่องจาก “นายทุน ในขบวนการค้ามนุษย์ส่วนหนึ่งเป็น “นักการเมือง” ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาล
 
แต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถทำได้ เพราะไม่มี “นักการเมือง” เข้าไป “แทรกแซง การทำหน้าที่ของตำรวจ และตำรวจที่เข้ามารับผิดชอบในการทลายห้างขบวนการค้ามนุษย์ก็ “มั่นใจ ว่าจะได้รับการ “คุ้มครอง จากรัฐบาล เพราะเป็นการสั่งการจากรัฐบาลที่ต้องการให้ไทยหลุดพ้นจากบัญชี “เทียร์ 3 ที่ถูกขึ้นทะเบียนจาก “ยูเอ็น” ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์
 
แต่หากสุดท้ายแล้ว การออกมาพูดของ พล.ต.ต.ปวีณ เป็น “เรื่องจริง” เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไร “หมกเม็ด” สังคมจะมองเห็นว่า ทั้งรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ให้ความคุ้มครองคนทำงานอย่างจริงจัง และยังเป็นนายตำรวจระดับ “นายพล” ซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ทำหน้าที่ “เสี่ยงตาย” เพื่อประเทศชาติ
 
การไม่ได้รับ “ความชอบ” ยังพอทำเนา แต่การที่ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้นี่คือ ความเสียหายอย่างร้ายแรง และสิ่งที่จะตามมาอีกคือ จะยังมีตำรวจที่ไหนยอมทำหน้าที่ “เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย” ให้แก่รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกเล่า
 
เรื่องที่เกิดขึ้นกับ พล.ต.ต.ปวีณ เปรียบเทียบกันไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้นกับ “พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา” อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา แต่ที่เหมือนกันคือ ทั้ง 2 เรื่อง “ผู้เสียหาย” คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาลอย่างแน่นอน
 
ดังนั้น หากทั้งรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ต้องการให้เกิด “รอยด่าง ขึ้นอีก จะต้องเร่งแถลงข้อเท็จจริงเพื่อให้สังคมได้เข้าใจ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นสังคมยังมีความ “คลางแคลงใจ และต้องการที่จะฟังความทั้ง 2 ด้าน
 
เนื่องเพราะสังคมเองก็คลางแคลงใจต่อ “วิธีการ” ที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงษ์ศิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ทำอยู่เช่นกัน
 
ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะสิ่งที่ “สังคมยังคลางแคลงใจ” คือ การขอ “ลี้ภัย” ของ พล.ต.ต.ปวีณ จะมีผลต่อรูปคดีการค้ามนุษย์มากน้อยเพียงใด เพราะนี่ก็เป็น “ปม” สำคัญที่ต้องจับตามองเช่นกัน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น