ศูนย์ข่าวศรีราชา- รมว.แรงงาน นำคณะลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ดูการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานในสถานประกอบการ และการทำงานของศูนย์ควบคุมการเรือแจ้งเข้า-ออก ไม่พบการกระทำผิดที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์แต่อย่างใด
วันนี้ (19 พ.ย.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (pipo) พร้อมเข้าเยี่ยมสถานประกอบกิจการเพื่อตรวจคุ้มครองแรงงาน ตลอดจนรับทราบ และป้องกันแก้ไขกันปัญหาการค้ามนุษย์ และยาเสพติดอย่างจริงจัง ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อมุ่งเน้นคุ้มครอง ป้องกันดูแลสิทธิแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 พร้อมเยี่ยมชมการฝึกอาชีพทหารกองประจำการกองทัพเรือ
พล.อ.ศิริชัย กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่ได้หยิบยกปัญหาการค้ามนุษย์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และจริงจัง โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2554-2559 ที่ให้ความสำคัญ 5 ด้าน คือ การป้องกัน การดำเนินคดี การคุ้มครองช่วยเหลือ การพัฒนากลไกเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนการพัฒนา และการบริหารข้อมูล ซึ่งนโยบายเพื่อแก้ไขป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์เป็นหลัก
โดยมุ่งเน้นการปราบปราม และดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้เร่งแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ รวมถึงการตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก และสถานประกอบกิจการในพื้นที่จังหวัดชลบุร ได้แก่ บริษัทไทยซัมมิท ฮาร์เน็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง โดย ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าในรถยนต์ มีลูกจ้างทั้งสิ้นกว่า 2,382 คน
จุดประสงค์สำคัญเพื่อตรวจสภาพการทำงาน และรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของสถานประกอบกิจการ และลูกจ้างโดยนำไปเป็นแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ตลอดจนปัญหายาเสพติดที่ตรงต่อปัญหาของแต่ละพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ ชลบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีสถานประกอบกิจการและแรงงานทั้งชาวไทย และต่างด้าวจำนวนมาก และมีสถานประกอบกิจการ จำนวน 11,574 แห่ง ลูกจ้าง 586,527 คน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่จะต้องเฝ้าระวัง และติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และอาจเสี่ยงต่อการบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิแรงงานได้
ขณะที่ในส่วนศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออกนั้น กระทรวงแรงงาน ได้จัดเจ้าหน้าที่ของทุกส่วนราชการในสังกัดร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวม 28 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งศูนย์ควบคุมเรือเข้า-ออกจังหวัดชลบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลสัตหีบ
โดยการเดินทางมาวันนี้ก็เพื่อที่จะได้รับทราบสภาพการทำงาน และสภาพปัญหาที่แท้จริงของนายจ้าง และลูกจ้างในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่ 6 พฤษภาคม-11 พฤศจิกายน 2558 ที่ได้มีการตรวจเรือเข้าออก จำนวน 10,865 ลำ ลูกจ้าง 134,405 คน แยกเป็นแรงงานไทย 24,850 คน แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จำนวน 109,555 คน โดยไม่พบการกระทำความผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ในปี 2558 กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยังได้ตรวจสถานประกอบการในจังหวัดชลบุรีไปแล้ว 1,051 แห่ง ลูกจ้างรวม 43,286 คน พบนายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้อง 84 แห่ง จึงได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และได้ดำเนินคดี 1 แห่ง รวมไปถึงการตรวจกำกับสถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจบูรณาการในกิจการประมงทะเลและที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่ การตรวจเรือ จำนวน 454 ลำ ไม่พบว่ามีการกระทำผิดที่เข้าข่ายแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แต่พบว่า มีการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในเรื่องการใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
ในโอกาสนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมการฝึกอาชีพในโครงการพัฒนาอาชีพทหารกองประจำการ กองทัพเรือ ที่กรมโรงงาน ฐานทัพเรือสัตหีบด้วย