ปัตตานี - คณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในค่ายทหาร ร่วมประชุมนัดแรกหลังมีคำสั่งแต่งตั้งเพื่อกำหนดกรอบการทำงาน และคำนึงถึงผลการชันสูตรของแพทย์เป็นกุญแจสำคัญ
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดปัตตานี นายเถลิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 42 ปี ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตในค่ายทหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ได้มีการนัดประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากที่ทางแม่ทัพภาคที่ 4 ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำเรียกร้องของญาติผู้เสียหาย
เพื่อให้ข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน มาตรา 52/1(2) ดูแลให้การปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย จ.ปัตตานี โดย นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี จึงได้ลงนามเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
1.พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ที่ปรึกษา
2.นายเถลิงศักดิ์ ยกศิริ รองผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี ประธานกรรมการ
3.นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลาม จ.ปัตตานี กรรมการ
4.พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ รองเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 กรรมการ
5.พ.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผอ.สำนักกฎหมาย ศูนย์สันติสุข กอ.รมน.ภาค 4 กรรมการ
6.รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ปัตตานี กรรมการ
7.ปลัด จ.ปัตตานี กรรมการ
8.นายกิตติ สุระกำแหง ผอ.สำนักบริหารงานยุติธรรม ศอ.บต. กรรมการ
9.ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมการ
10.นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จ.ปัตตานี กรรมการ
11.ประธานศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ จ.ปัตตานี กรรมการ
12.นายอับดุลรอแม มะสาแม ญาติผู้ตาย กรรมการ
13.นายมะ กูปิ ญาติผู้ตาย กรรมการ
14.ประธานชมรมอิหม่าม อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กรรมการ
15.ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.หนองจิก
16.ยุติธรรม จ.ปัตตานี คณะกรรมการ/เลขานุการ
17.ผู้ช่วยป้องกัน จ.ปัตตานี คณะกรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ
18.นายอับดุลเลาะ มะบู นักวิชาการยุติธรรม คณะกรรมการ/ผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับประเด็นการหารือเบื้องต้น ทางคณะกรรมการได้หารือถึงกรอบการทำงาน ระยะเวลาที่จะให้รวดเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ยืดเยื้อ เพราะจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยจะต้องคำนึงถึงผลการชันสูตรของแพทย์ ม.อ.หาดใหญ่ เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะบอกถึงสาเหตุการเสียชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีแนวทางที่จะเชิญภรรยาของผู้เสียชีวิตมาร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้สามารถนำวิธีการทำงาน และผลสอบของเท็จจริงไปสร้างความเข้าใจต่อญาติ หรือผู้คนในสังคมได้