ยะลา - เลขาธิการ ศอ.บต.ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “บทบาทผู้นำศาสนาในการมีส่วนร่วมสร้างสันติสุขในพื้นที่” โดยยังมีการอบรมศาสนาสำหรับอิหม่ามและคอเต็บระหว่าง 29 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคมนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดยะลาว่า วานนี้ (29 พ.ย.) ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา (หลังใหม่) ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมเสวนาพูดคุยเพื่อสันติสุข ในหัวข้อ “บทบาทผู้นำศาสนาในการมีส่วนร่วมสร้างสันติสุขในพื้นที่” โดยมีนายขวัญชาติ วงศ์ศุภรานันต์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. พ.ต.อ.นรินทร์ บูสะมัญ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พ.อ.วีรวัฒน์ วิวัฒน์วานิช รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายอิสมาแอ ฮารี ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ผู้นำศาสนา อิหม่าม และคอเต็บประจำมัสยิดในพื้นที่จังหวัดยะลาให้การต้อนรับ
ในส่วนของโครงการอบรมศาสนาสำหรับอิหม่ามและคอเต็บประจำมัสยิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกิจกรรมหนึ่งของมูลนิธิอิสลามเพื่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ประเทศคูเวต ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศเยเมน และประเทศมาเลเซีย
โดยระยะเวลาที่ใช้ในการอบรมในครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2558 - 1 ธันวาคม 2558 โดยมีกำหนดการดังนี้ วันแรกจัดที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา วันที่ 2 จัดที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและวันสุดท้ายที่สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีผู้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ทั้งหมดกว่า 3,000 คน
สำหรับจุดประสงค์ของการอบรมในครั้งนี้ คือ 1. ยึดคุณธรรมจริยธรรมของท่านศาสดามูฮัมหมัดและบรรดาซอฮาบัต (อัครสาวก) เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต 2. ปกป้องอะกีดะห์ (หลักศรัทธา) ที่ถูกต้อง 3. ป้องกันเยาวชนจากแนวคิดที่บิดเบือน 4. สร้างความร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐกับประชาชนเพื่อนำไปสู่สังคมสันติสุข
โดยหัวข้อการอบรมในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. คุณธรรมจริยธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของบรรดาซอฮาบัตของท่านรอซูลุลลอฮ์ (ศ.ล.) 2. การปกป้องอะกีดะห์ (หลักศรัทธา) ที่ถูกต้อง 3. ภัยอันตรายจากอะกีดะห์ (หลักศรัทธา) ที่บิดเบือน 4. การป้องกันเยาวชนจากแนวคิดที่บิดเบือนสู่แนวคิดที่ถูกต้องตามหลักศาสนาเพื่อสร้างสังคมสันติสุข และ 5. การดำรงชีวิตของมุสลิมในสังคมที่หลากหลายวัฒนธรรม