xs
xsm
sm
md
lg

ทางรอดวิกฤตราคายางในสายตาสื่ออาวุโส “หมี-ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยางแผ่นรมควันชั้น 3 คุณภาพสูงของไทย
 
“ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักดีในแวดวงสื่อสารมวลชน เขาเป็นคน อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช เมืองที่ตั้งขององค์การสวนยางแห่งประเทศไทย 26 ปีในการทำหน้าที่สื่อสารมวลชนที่เกาะติดปัญหาด้านพืชผลเกษตรไทย โดยเฉพาะปัญหายางพารา ทำให้ “ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที” เป็นผู้ที่รู้ และเข้าใจปัญหาของยางพาราในระดับที่หาตัวจับยากคนหนึ่งของสังคมไทย ซึ่งเขาจะมาตอบคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับวงการยางพาราไทย

ทำไมยางพาราถึงราคาตกต่ำมาก

ผมคิดว่านักวิเคราะห์เขามองว่า เป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจของโลก เป็นเรื่องการชะลอตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ การบริโภคยางในจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ดูดซับยางของโลกใบนี้มากกว่าใครเพื่อน ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเขาที่ใช้ยางอาจจะชะลอตัว ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องภาวะเศรษฐกิจของโลก แต่หากเรามาดูตัวเลขการบริโภคของโลกจากข้อมูล International Rubber Study Group ปีหนึ่งๆ โลกใบนี้บริโภคยางพาราประมาณ 12 ล้านตัน ปี 2557 ระบุว่า ความต้องการยางพาราของโลก 12.30 ล้านตัน โลกผลิตได้ 12.45 ล้านตัน โลกมี สต๊อกยางของโลกเหลือประมาณ 150,000 ตัน ราคายางในประเทศเฉลี่ย 57 บาทต่อกิโลกรัม ปี2555 ระบุว่า ความต้องการยางของโลก 10.94 ล้านตัน โลกผลิตได้ 11.40 ล้านตัน โลกมีสต๊อกยางของโลกเหลือประมาณ 450,000 ตัน ราคายางในประเทศเฉลี่ย 87 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2555 สต๊อกยางของโลกเหลือมากกว่า ปี 2557 แต่ราคายางในประเทศเฉลี่ยสูงที่ 87 บาท

เมื่อดูแล้วปีนี้ผลผลิตยางของโลกไม่ได้ล้นมากเลย สต๊อกยางเหลือตกค้างในจีนก็ไม่มากเหมือนก่อน ข้อมูลตัวเลขคาดว่าผลผลิตยางพาราอาจจะน้อยด้วยซ้ำในปีนี้ ผมคิดว่าหากประเทศไทยเราบริหารจัดการดีๆ ร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังระหว่างรัฐบาล และวงการยางทุกระดับ เราก็สามารถสร้างแรงต้านของกลไกราคาของโลกได้ เรามองแบบนี้ก็เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะยอมจำนน อย่าลืมนะว่าประเทศไทยเราเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกใบนี้ถึง 33% เราน่าจะต้องเป็นผู้กำหนดเกมด้วยในเรื่องราคา ประเทศไทยเราต้องหาหนทาง สร้างแนวต้านของกลไกราคาปล่อยไปแบบนี้คงทำให้เราได้รับผลกระทบมากแน่นอน

ยางพาราเป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสียเมื่อทำให้ยางปราศจากความชื้น เก็บได้นานเหมือนสินค้าพวกแร่ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยางพาราถือเป็นสินค้ายุทธปัจจัยนะครับ สามารถเก็บได้นาน 20 ปี ไม่เหมือนสินค้าพวกข้าว ข้าวโพด หรือแป้งสาลี

ทำอย่างไรให้ยางพาราราคาขึ้น สงสารชาวสวนยาง มีข่าวว่าลูกๆ ต้องออกจากโรงเรียนเพราะยางตกต่ำ

ผมคิดว่าเราเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มาเลเซียก็ผลผลิตน้อยกว่าเรา อินโดนีเซียคุณภาพยางยังถือว่าด้อยกว่าเรา ปริมาณการผลิตอาจจะใกล้เคียงกัน ยางแผ่นรมควันของไทยในวงการผลิตล้อรถยนต์ยี่ห้อดังๆ ของโลกเขาถือว่า คุณภาพของยางแผ่นรมควันของไทยเป็นที่ยอมรับ หาประเทศใดเทียบไม่ได้ เพราะเรามีทักษะ และมีพัฒนาการมาตลอดในเรื่องคุณภาพสิ่งเจือปนน้อย

ยางพาราเป็นสินค้าที่โลกใบนี้ถือเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดเซี่ยงไฮ้ ตลาดโตเกียว และตลาดสิงคโปร์ การติดตามข้อมูลของผู้บริโภคในต่างประเทศเขาก็มองว่าหากโลกรู้ว่ามียางในปริมาณน้อยราคาก็จะต้องขึ้น หากโลกรู้ว่ามีปริมาณยางในโลกมากราคาก็ตก ชีวิตของชาวสวนยางพาราไทยจึงผูกติดอยู่กับความผันผวนของโลกใบนี้อย่างแยกไม่ออก นี่คือความจริงที่เราเป็น

เมื่อราคายางลงแบบนี้ ประเทศไทยต้องถามตัวเอง เราปล่อยให้มันลงมาพอหรือยัง หรือจะสร้างแนวต้านไม่ให้มันลงมาอีก ทั้งๆ ที่บริษัทผู้ผลิตล้อรถยนต์เขาสามารถรับได้ที่ 60 บาท เรื่องนี้ผมคิดว่าประเทศไทยควรต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการสร้างแนวต้านของกลไกราคา เพื่อบอกโลกว่ายางพาราอาจจะมีไม่มากแล้วนะ โจทย์ก็มาอยู่ว่าทำอย่างไรที่ประเทศไทยจะสร้างความสั่นไหวให้ราคากระเพื่อมสูงขึ้น

1.รัฐบาลท่าน พล.อ.ประยุทธ์ มาถูกทางแล้วที่จะส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น ถนนทุกสายในประเทศก่อนจะมีการซ่อมบำรุง หรือสร้างกันใหม่ ใช้ยางพาราประมาณ 3 ตันทุกหนึ่งกิโลเมตร ตามมาตรฐานของกรมทางหลวง ทุกหนึ่งกิโลเมตร ส่งสัญญาณข้อมูลให้โลกรับรู้ให้ชัดนับจากนี้ 5 ปี เราจะนำยางมาทำถนนให้ได้ 100,000 กิโลเมตร ยางจะหายไปจากโลกนี้ 3 แสนตัน ในช่วง 5 ปีนับจากนี้

2.รัฐบาลปล่อย Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ผู้ค้ายางได้มีเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 1% เพื่อใช้ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าวไปซื้อยางออกมาจากตลาดในช่วง 4 เดือนนี้ ซึ่งมีปริมาณยาง 8 แสนตันกำลังออกสู่ท้องตลาด โดยรัฐบาลขอความร่วมมือไปยังสมาคมยางพาราไทย และสมาคมน้ำยางข้นไทยให้ช่วยกันสร้างเสถียรภาพราคาในประเทศ เมื่อยางถูกเก็บเข้าสต๊อกอีกสักหนึ่งแสนตัน สิ่งเหล่านี้โลกในทางการค้าในสิงคโปร์ ในเซี่ยงไฮ้ ในโตเกียว ฟังสัญญาณอย่างจริงจังจากประเทศไทย ผมเชื่อว่าจะเป็นแรงส่งหนุนให้ราคายางขึ้นแน่นอน และทำให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้หลุดไร้แนวต้าน

3.เราควรมีกิจกรรมประชุมใหญ่สักครั้งในประเทศไทย อยากเห็นรัฐบาลเชิญประชุมหารือภาวะพิเศษ กับสภาไตรภาคียาง (International Tripatite Rubber Council - ITRC) เพื่อสานต่อร่วมมือกันอีกครั้ง จากการลงนามร่วมในแถลงการณ์ร่วมบาหลีระดับรัฐมนตรี Bali Declaration 2001 ซึ่งมีกลไกความร่วมมืออยู่แล้วสำนักงานใหญ่ของ International Rubber Consortium Limited -IRCO ตั้งอยู่ในประเทศไทย อยู่ภายใต้การดูแลของสถาบันวิจัยยางผมว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง

ทั้งสามเรื่องนี้เป็นเรื่องของการพยายามทำให้ไทยเราเป็นผู้กำหนดเกมของกลไกราคาในตลาดโลกให้ได้ เรื่องแบบนี้ประเทศมาเลเซียเขาตื่นตัว เพียงแค่ราคาปาล์มน้ำมันร่วงมาหน่อย เมื่อต้นสัปดาห์ เขาชวนอินโดนีเซียประกาศตั้งสภาผู้ผลิตปาล์มน้ำมันโลกเลยเพื่อสร้างแนวต้านกลไกของราคาปาล์มน้ำมัน
 
หมี - ยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที
 
แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวสวนยางมีความยั่งยืน หรือทำอย่างไรให้ชาวสวนยางชีวิตไม่เสี่ยง

ผมคิดว่าการ take action จากกลไกราชการน้อยไปหน่อย ด้วยเพราะระบบราชการไม่คล่องตัว ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็คงมีภารกิจที่หนัก ทำให้อาจจะขาดเจ้าภาพที่จะมาดูเรื่องยางพาราก็ได้เรื่องการทำให้ชาวสวนยางมีความยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันในชีวิต ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญในการแก้ไขระยะยาวที่ยั่งยืน ผมคิดว่าเราเกิดมาในประเทศไทย เราโชคดีมากๆ มีประทีปแห่งปัญญาศาสตร์ของพระราชา วางแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทุนทางปัญญาที่ยิ่งใหญ่ไว้ให้แล้ว

วันนี้ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางเริ่มปรับทิศทางใหม่ให้ชาวสวนยางเปลี่ยนจากสวนยางพืชเชิงเดี่ยว มาเป็นการปลูกพืชผสมผสาน เนื้อที่ 1ไร่ ปลูกยาง 40 ต้น ลดไปครึ่งหนึ่งเลย ให้ทำสวนยางแบบผสมผสาน เพื่อสร้างป่ายางให้พออยู่พอกินเส้นทางสายนี้มาถูกทางแล้วครับ

การพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืน นักปราชญ์ชาวสวนยาง รางวัลแมกไซไซ ลุงประยงค์ รณรงค์ พูดไว้สิบกว่าปีแล้วว่า “อย่าได้ผูกชีวิตชาวสวนยาง ไว้กับยางเส้นเดียว” ในสวนยางควรมีพืชอื่นผสมผสาน ขนุน สะตอ ละมุด มังคุด จำปาดะ กล้วย กระท้อน มะเฟือง มะไฟ ทุเรียน น้อยหน่า สารพัดที่เราจะปลูก ในสวนยางควรจะมีการเลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมูพื้นบ้าน ทำปศุสัตว์ขนาดเล็ก มีการทำประมงขนาดเล็กทำบ่อปลาเลี้ยงกบ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นอาชีพเสริม รายได้อาจจะมากกว่ายางด้วยซ้ำ

ผมอยากจะเห็นความมั่งคั่งที่มีพอกินเกิดขึ้นในป่ายาง มีพืชกินได้ มีการปลูกไม้ 4 เดือน ส่งเสริมปลูกกันให้มาก มีไม้ดม ไม้ดู ไม้แดก ไม้ดื่ม เรามีแผ่นดินที่พร้อมจะปลูก และปลูกได้ทั้งปี เปลี่ยนสวนยางปลูกพืชอื่นผสมผสาน สร้างความมั่งคั่งอันหลากหลายให้มีกิน ทำกงซี่ (บ้านเล็กในป่ายาง) ให้มีพืชกินได้ด้วย เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ สิ่งเหล่านี้คือภูมิคุ้มกันของชาวสวนยางที่จะสร้างบ้านที่พอเพียงขึ้นในป่าสวนยาง เส้นทางสายนี้เท่านั้นที่จะทำให้พี่น้องชาวสวนยางไม่ลำบาก ไม่ต้องทุกข์อย่างแสนสาหัส
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น