ศูนย์ข่าวภาคใต้ - เครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน เขียนจดหมายเปิดผนึกโต้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มั่วข้อมูลด้านพลังงานของประเทศ อัดไม่มีสำนึกในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เหตุเชียร์โรงไฟฟ้าถ่านหินออกนอกหน้า ไล่ให้ไปอ่านหนังสือศึกษาข้อมูลมาใหม่ก่อนให้สัมภาษณ์สื่อ ถามรัฐบาล ทำรัฐประหารเพื่อประโยชน์ใครกันแน่
วันนี้ (25 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน ได้เขียนจดหมายตอบโต้แนวคิดของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยแพร่ในหน้าเพจของเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน โดยเนื้อหาในจดหมายดังกล่าวระบุว่า รู้สึกเบื่อหน่ายต่อความไร้เดียงสาของปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อ่านข่าวการให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ แล้วรู้สึกหดหู่ต่อความเห็นของปลัดกระทรวงคนนี้ ข้าราชการระดับปลัดกระทรวงยังมีแนวคิดเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ยอมให้กระทรวงพลังงานยัดข้อมูลเข้าไปในกฎหมายพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ลองมาพิจารณาความไร้เดียงสาของปลัดกระทรวงคนนี้ตามคำให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน วันที่ 21 พ.ย.ลองพิจารณาเป็นข้อดังนี้ 1.โรงไฟฟ้าถ่านหินของเดิมมีอยู่แล้วไม่ได้สร้างใหม่ เดิมเป็นน้ำมันเตา ผลิตไฟฟ้าให้ จ.กระบี่ และจังหวัดข้างเคียงใช้ พอน้ำมันแพงขึ้น แล้วปัญหามลพิษจากน้ำมันเตาเยอะ เราก็เปลี่ยนมาเป็นก๊าซธรรมชาติ
พอเห็นคำให้สัมภาษณ์ตรงนี้เพิ่งเข้าใจว่า ทำไมปลัดกระทรวงคนนี้ถึงได้ไร้เดียงสานัก เพราะข้อเท็จจริงเบื้องต้นก็ผิดเสียแล้ว เป็นที่รับรู้กันว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ปิดตัวลงไปกว่า 20 ปีแล้ว และตอนนั้นมีกำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ ตอนนี้เป็นโรงไฟฟ้าผลิตจากน้ำมันเตา เพิ่งทราบจากปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ตอนนี้เองว่า โรงไฟฟ้ากระบี่ใช้แก๊สธรรมชาติด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้มาก่อน เพราะเท่าที่ กฟผ.ให้ข้อมูลต่อชุมชนปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้น้ำมันเตาเป็นหลัก และมีบางช่วงเท่านั้นที่ใช้น้ำมันปาล์มร่วมด้วย ข้อมูลของปลัดกระทรวงน่าจะมีปัญหา หรือ กฟผ.ให้ข้อมูลไม่ครบ?
ประการถัดมา ปลัดกระทรวงคนเดิมบอกว่า มลพิษจากน้ำมันเตาเยอะ กฟผ.ได้โปรดฟังเอาไว้อย่าได้ละเลยต่อข้อเรียกร้องของประชาชนในหลายกรณีที่ให้แก้ปัญหาจากน้ำมันเตา และทาง กฟผ.ละเลยในหลายกรณี ล่าสุด ยังเอางานวิจัยมาเปิดเผยว่า ท่าเรือขนน้ำมันเตาไม่กระทบสิ่งแวดล้อม ขอบคุณปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ในประเด็นนี้ที่ยืนยันว่า น้ำมันเตามลพิษเยอะ หวังว่า กฟผ.จะไม่เพิกเฉยต่อความเห็นของปลัดกระทรวง
2.ต้องเปลี่ยนกลับมาเป็นถ่านหินที่เป็นเชื้อเพลิงสะอาด บิทูมินัส ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ น่าจะถูกฟ้องร้องสักคดีจะได้ไม่มักง่ายเวลาจะพูดอะไรออกไป ช่วยเอางานวิจัยที่จัดทำโดยสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติมาให้อ่านสักฉบับว่า ถ่านหินสะอาด วาทกรรมอันนี้เป็นการโฆษณาชวนเชื่อของ กฟผ. ไม่คิดว่าปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ซึ่งมีหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติจะไร้เดียงสาไปด้วย การให้ข้อมูลเท็จจากข้าราชการระดับปลัดกระทรวงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเข้าใจของสาธารณะ วันนี้ถ้าปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ยังพูดว่าถ่านหินสะอาดอย่าไปประชุมลดโลกร้อนที่ปารีสให้อายชาวโลกดีกว่า ขนาดว่านี่เป็นข้อมูลพื้นฐานยังมืดบอดได้ขนาดนี้
ฝากถึงปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ ว่า อ่านหนังสือเสียบ้าง งานวิจัยของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ อ่านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสตุดการ์ด ลองดูนโยบายการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และประเทศอื่นๆ ว่าเขาคิดอย่างไรต่อถ่านหิน ไม่ใช่งมงายอยู่กับวาทกรรมถ่านหินสะอาด หากเป็นเช่นนี้การไปประชุมโลกร้อนของปลัดกระทรวงจะไร้ความหมาย แม้ว่าจะใช้เงิน 2 ล้านบาท เพราะยังวนเวียนอยู่ในตรรกกะของวันวาน
3.ผมอ่านข้อมูลหลายทาง คนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าไม่มีใครคัดค้านเลย คนที่คัดค้านคือ คนข้างนอก และก็มีพวกที่ทำธุรกิจเรือท่องเที่ยวต่างๆ ประเด็นนี้เป็นความไร้เดียงสาในความไร้เดียงสา อ่านข้อมูลหลายทางแต่ส่งจากแหล่งเดียวกันใช่หรือไม่ ถ้าอ่านข้อมูลหลายทางจริง ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ คนนี้คงมีปัญหาด้านสติปัญญา คนคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนปกาสัยแสดงตนอย่างชัดเจน โดยที่ไม่ต้องให้ กฟผ.ให้การสงเคราะห์ด้วยวิธีการต่างๆ ชุมชนที่อยู่ใกล้บริเวณสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหินเป็นกลุ่มแกนนำในการคัดค้านมาตลอด สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเกาะลันตา หอการค้าจังหวัดกระบี่ สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ รวมถึงประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ออกมาแสดงเจตนารมณ์หลายครั้ง หากวิจารณญาณของปลัดกระทรวงคนนี้ยังดีอยู่คงไม่มีอคติเช่นนี้ นอกเสียจากว่าจะมองอะไรด้วยนัยน์ตาที่ฝ้าฟาง และน่าสงสัยว่ามีอะไรที่ทำให้ปลัดกระทรวงคนนี้นัยน์ตาฝ้าฟาง
4.อย่างคนไปเสนอทางเลือกอื่นๆ มันไม่ได้เหมาะ อย่างเช่น ทำเป็นแบบกังหันลม ตรงนั้นมีช่องลมไหม มีความเร็วลมอย่างสม่ำเสมอไหม ความเร็วลมไม่ต่ำกว่า 30 กม.ต่อ ชม.อย่างต่อเนื่องไหม? ข้อเสนอของจังหวัดกระบี่ชัดเจนมากระบุในเอกสารที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และเป็นไปไม่ได้ที่ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ จะไม่รับรู้ เพราะในช่วงจังหวะนั้นจะต้องเกี่ยวข้องในการเจรจาเพื่อหยุดกระบวนการ EIA ที่จะนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประเด็นคือ ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯหลักเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานปาล์มที่มีอยู่แล้วในจังหวัดกระบี่ ซึ่งเรายืนยันว่าเป็นไปได้หากรัฐบาลทำตามเงื่อนไข แต่วันนี้ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ กลับมาพูดถึงกังหันลม ซึ่งไม่ได้อยู่ในข้อเสนอของจังหวัดกระบี่ การพูดถึงกังหันลมเช่นนี้ซ่อนนัยเพื่อจะบอกว่าพลังงานหมุนเวียนทำไม่ได้ใช่หรือไม่? ทั้งหมดนี้กำลังเบี่ยงเบนประเด็นใช่หรือไม่? และปลัดกระทรวงกำลังต้องการอะไร?
5.พอไปดูตัวเลขรวมว่าการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินแต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถ้าดูในพื้นที่แต่ละแห่ง แล้วภาคใต้เกินไหม? ลองไปดูตัวเลขแถว จ.สงขลา ดีมานด์การใช้ไฟตอนเย็นๆ จะเพิ่มขึ้น พอดึกๆ ขึ้นสูงอีก เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว พอเลยเวลามันก็ดร็อป ดีมานด์มันเพิ่มอย่างนี้ตลอด ถ้าสำรองไม่มีมันก็เกิดผลกระทบ เวลาพูดว่าไฟฟ้าเกินหรือไม่ช่วยแสดงตัวเลขด้วย ไม่เช่นนั้นจะเป็นวาทกรรมที่ล่องลอย ส่อเจตนาให้คนเข้าใจผิด ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ พูดถึงจังหวัดสงขลา แต่ไม่บอกตัวเลขไฟฟ้าจังหวัดสงขลา
เพื่อแสดงให้ปลัดกระทรวงมีมาตรฐานในการให้สัมภาษณ์ที่ไม่ตั้งอยู่บนความมักง่าย ปลัดกระทรวงควรแสดงตัวเลขว่าจังหวัดสงขลาผลิตได้ราว 1,500 เมกะวัตต์ สงขลาใช้ไฟฟ้าประมาณ 400 กว่าเมกะวัตต์ หรือถ้าปลัดกระทรวงมึนพูดจังหวัดกระบี่เป็นจังหวัดสงขลา จะบอกข้อมูลว่า จังหวัดกระบี่ ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาราว 340 เมกะวัตต์ จากโรงปาล์มราว 40 เมกะวัตต์ ทั้งจังหวัดกระบี่ใช้ราว 120 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอเป็นวาทกรรมหลักของ กฟผ.แต่วันนี้ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ กลับเอาวาทกรรมอันนี้มาใช้ด้วย ขอให้ปลัดกระทรวงกลับไปอ่านหนังสือบ้างอย่าเชื่อคนง่ายเกินไป เพราะท่านเป็นปลัดกระทรวงไม่ใช่อันธพาล
จากการอ่านบทสัมภาษณ์ทั้งหมดซึ่งเป็นคำตอบจากคำถามของนักข่าวที่ถามว่า‘นโยบายของรัฐบาล เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ฯลฯ ซึ่งมีเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีกระแสวิจารณ์ถึงท่าทีกระทรวงทรัพย์ฯ ไม่ให้ความสำคัญทั้งที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน จากคำตอบของปลัดกระทรวงกลับไม่พบคำตอบที่แสดงจุดยืนในการรักษาสิ่งแวดล้อม หรือลดภาวะโลกร้อน แต่คำตอบกลับมีแนวโน้มไปทางการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ค่อนแคะผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินและยังมั่วข้อมูลว่าคนในพื้นที่สนับสนุนโรงไฟฟ้า คนนอกเท่านั้นที่มาค้าน ทัศนคติเช่นนี้อันตรายยิ่ง เพราะเป็นคำตอบที่ไม่แสวงหาทางออก ก่อให้เกิดความขัดแย้งต่อเนื่องจากข้อมูลที่ผิดพลาด และอันตรายที่สุดคือ คำพูดของปลัดกระทรวงกลับไม่ปรากฏความแข็งขัน หรือแม้แต่ตั้งคำถามต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม้แต่ประโยคเดียว ผมรู้สึกว่าปลัดกระทรวงทรัพย์ฯเปลี่ยนไปหลังจากก่อนหน้านี้ท่าทีมิได้เป็นเช่นนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าเขาเปลี่ยนไปพร้อมกับการเปลี่ยน รมว.ทรัพย์ฯ ที่มีนามสกุลเดียวกับ รมว.พลังงาน หรือไม่
เรากำลังนำพาประเทศไปสู่หายนะด้านสิ่งแวดล้อม ดูเหมือนประเทศไทยจะไร้ความหวังกต่อปฏิบัติการของรัฐบาล เพราะสิ่งที่รัฐบาลคิดล้วนตกเป็นทาสของจีดีพี สนับสนุนทุนต่างชาติสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การเกิดอุตสาหกรรม แม้ว่าจะแลกมาด้วยการทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน เพราะต้องไม่ลืมว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องอยู่บนฐานความสมบูรณ์ของทรัพยากร
รัฐบาลกำลังมีนโยบายทำลายความเป็นผู้ประกอบการของคนไทย ด้วยการให้คนไทยเข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานของอุตสาหกรรมต่างชาติ อันดามันปั้นตัวเองเพื่อสร้างการท่องเที่ยวด้วยมูลค่า 4 แสนล้านบาทต่อปี จ้างงานคนนับแสนตำแหน่ง อยู่มาวันนี้รัฐบาลอยากทำลายมันด้วยการเอาใจพ่อค้าถ่านหิน แลกความหายนะอันดามัน คำถามสุดท้ายจึงอยู่ที่ว่ารัฐบาลนี้รัฐประหารมาเพื่อใครกันแน่