ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “แม่ทัพภาค 4” ยันยังเดินหน้าใช้ 3 มาตรการดับไฟ คือ สันติวิธี นิติรัฐ และนิติธรรม เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ได้จัดให้มีการพบปะสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแถลงข่าวการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น โดยมี พล.ท.เรืองศักดิ์ สุวรรณนาคะ แม่ทัพน้อยที่ 4 พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รอง ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และ ผบ.ฉก. ตัวแทนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตัวแทนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) และหน่วยงานอื่นๆ โดยมีสื่อมวลชนทุกแขนงในแดนใต้เข้าร่วม
ในการพบปะสื่อมวลชนครั้งนี้ นอกจากการแถลงแผนงานต่างๆ ทั้งในเรื่องการศึกษา ยุติธรรม คุณภาพชีวิต การใช้นิติวิทยาศาสตร์ ดีเอ็นเอ เพื่อเป็นหลักฐานในการเอาผิดต่อผู้ต้องหา โดย กอ.รมน.ย้ำ และยืนยันว่า จะใช้สันติวิธี นิติรัฐ และนิติธรรมในการคลี่คลายสถานการณ์ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะมีการทำแผนในการขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุข ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่จัดทำอย่างเป็นขั้นตอน โดยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนที่ 1 คือ การทำความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างกัน
ในการพบปะสื่อมวลชนครั้งนี้ นอกจากเปิดโอกาสให้ได้ซักถามข้อข้องใจจาก กอ.รมน.แล้ว ยังเป็นนิมิตใหม่ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงต้อข้อซักถาม และข้อข้องใจต่อการนำเสนอข่าวของสื่อในพื้นที่ เช่น การเปรียบเทียบการนำเสนอข่าวที่เกิดขึ้นที่กรุงปารีส ของฝรั่งเศส ซึ่งสื่อในประเทศของเขาไม่ได้นำเสนอภาพที่บ่งถึงความรุนแรง รวมทั้งไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อในไทยจึงต้องนำเสนอข่าวความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในห้วงของการครบรอบปี เช่น การครบรอบปีของเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และเหตุการณ์อื่นๆ ซึ่งเหมือนกับเป็นการตอกย้ำความรุนแรง และเป็นการเปิดแผลที่ตกสะเก็ดให้เป็นแผลสดอีกครั้ง
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสื่ออาวุโสในพื้นที่ได้กล่าวชี้ในประเด็นเหล่านี้ว่า สื่อไทยกับสื่อต่างประเทศยังมีความแตกแตกในมิติ และมุมมองเกี่ยวกับการนำเสนอภาพ ข่าว ซึ่งปัจจุบันการนำเสนอภาพและข่าวความรุนแรงของสื่อทุกแขนงมีการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสื่อในพื้นที่ต่างตระหนักรู้ว่า ในการานำเสนอข่าวอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และอะไรที่เป็นผลกระทบต่อสังคม ซึ่งวิธีการในการไม่ให้สื่อนำเสนอข่าวภาพที่ไม่เหมาะสมนั้น การจะใช้กฎหมายไม่ใช่ทางออก แต่ทางออกที่ทำให้การนำเสนอข่าวมีความถูกต้องมาจากประชาชนผู้เสพสื่อที่จะเป็นผู้กดดันให้สื่อนั้นๆ จำเป็นต้องพัฒนา หรือปรับปรุงวิธีการนำเสนอ
“เช่นเดียวกับการที่สื่อนำเสนอในเรื่องครบรอบเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น มาจากมีประเด็นข่าวที่สำคัญคือ มาจากหน่วยงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะออกมาแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุร้ายในวันสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ หรือการสถาปนาขบวนการบีอาร์เอ็น หรือพูโล รวมทั้งภาพ และข่าวที่สื่อนำมาเสนอนั้น ส่วนหนึ่งมาจากทางราชการ ทั้งทางไลน์ เฟซบุ๊ก และอื่นๆ ซึ่งสื่อเห็นว่ามีประเด็นที่ควรแก่การสนใจ อีกทั้งการนำเสนอข่าวเหล่านี้เป็นมุมมองของสื่อแต่ละสำนักที่มีมุมมองที่ไม่เหมือนกับฝ่ายความมั่นคง แต่ก็เป็นมุมมองอีกมุมหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
นายไชยยงค์ กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมแม่ทัพภาคที่ 4 ที่มีมุมมอง หรือวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุย สอบถามถึงข้อสงสัย ข้อข้องใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน วันนี้ไม่มีเรื่องลับสุดยอด หรือปกปิดเกิดขึ้น เพราะวันนี้สิ่งที่เห็นว่าลับสุดยอด หรือปกปิดต่อสื่อนั้น ในโลกของสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ไปก่อนแล้ว หาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คาดหวังที่จะแสวงหาความร่วมมือกับสื่อมวลชนในพื้นที่ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานสันติสุข สิ่งที่ กอ.รมน.ได้เปิดพื้นที่เปิดเวทีในวันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด