xs
xsm
sm
md
lg

“โกหนั้ง” และเครือข่ายแห่งเมืองตรัง แค่ฉากประกอบละครน้ำเน่าค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
โดย...ศูนย์ข่าวภาคใต้
 
กว่า 6 เดือนมาแล้วที่รัฐบาลท็อปบูตภายใต้การนำของคนที่ประกาศมาตลอดว่า เป็นตัวจริงเสียงจริงที่กุมบังเหียนอำนาจรัฐ“บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทย์ จันทร์โอชา” ที่ต้องสารวนอยู่กับการแก้ปัญหาขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาส เพื่อให้ประเทศชาติรอดพ้นความเสียหายทางการค้ามูลค่านับแสนล้านบาท จากการที่สมาชิกอียู หรือสหภาพยุโรปจัดอันดับให้ไทยอยู่ในบัญชีเทียร์ 3 (Tier 3) หรือมีการค้ามนุษย์ขั้นรุนแรง
 
จากการทลายล้างขบวนการค้าโรฮิงญาและบังคลาเทศข้ามชาติครั้งใหญ่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถูกจุดประเด็นขึ้นจากการจับกุมชาวโรฮิงญาที่ทำตัวเป็นนายหน้าค้าโรฮิงญาด้วยกันที่ จ.นครศรีธรรมราช แล้วขยายผลสู่ค่ายกักกันบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียที่ จ.สงขลา จากนั้นแพร่กระจายไปสู่การจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ทั่วภาคใต้
 
จนมีการออกหมายจับทั้งหมด 153 ราย เข้ามอบตัวและถูกจับกุมได้ 91 ราย ซึ่งผู้ต้องหามีทั้งพลเรือน คหบดี นักการเมืองท้องถิ่น ที่สำคัญคือมีข้าราชการตำรวจและทหารรวมอยู่ด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก
 
“โกหนั้ง” หรือ นายสมพล จิโรจน์มนตรี ภาพจากแฟ้มอาชญากรรมของตำรวจ (แฟ้มภา่พ)
 
เมื่อมีข้อมูลยืนยันว่า ขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติเชื่อมโยงกับการค้าแรงงานเถื่อนและแรงงานทาสในธุรกิจประมง ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์คือ นายทุนเจ้าของเรือประมงพาณิชย์แพปลารายใหญ่ในหลายจังหวัดของภาคใต้ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ต้องหาหลายราย บิ๊กตู่ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี จึงได้ใช้อำนาจ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เข้าจัดระเบียบการทำประมง โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาแรงงานเถื่อนและแรงงานทาส
 
แม้ช่วงการโยกย้ายใหญ่ประจำปีปลาย ก.ย.ที่ผ่านมาจะเกิดภาพสะดุดและขาดเอกภาพในการจัดการแก้ปัญหายิ่งใหญ่เหล่านี้ไปบ้าง โดยเฉพาะจากการที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรอง ผบ.ตร.ผู้รับผิดชอบคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาที่ครึกโครม ได้รับสมนาคุณความดีด้วยการให้ระเห็จไปนั่งเป็นปลัดสำนักนายกฯ ซึ่งนอกจากไม่มีโอกาสสานงานต่อแล้ว ยังต้องขาดจากยุทธจักรสีกากีไปเลยด้วย
 
ขณะที่ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรอง ผบช.ภ.8 ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ก็ได้รับการสมณาคุณในลักษณะเดียวกัน โดยให้ไปนั่งเป็น รอง ผบช.ประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) แม้ตำแหน่งจะอยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ถือว่าเป็นพื้นที่ดงกระสุนและระเบิดแสวงเครื่องที่ง่ายต่อการ “ล็อกเป้า” เข้าแก้แค้นของขบวนการค้ามนุษย์ จน พล.ต.ต.ปวีณรับไม่ได้และยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการไปแล้ว
 
แต่อย่างไรก็ตาม การที่ คสช.และรัฐบาลเลือกใช้ “ยาแรง” เข้าจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาสตลอดกว่า 6 เดือนมานี้ แถมท่านผู้นำยังกล่าวย้ำผ่านสื่อด้วยน้ำเสียงดุดันถึงกลุ่มคนที่เคยหรือส่อว่าจะกระทำผิดในเรื่องนี้ให้หยุดกระทำเสียอยู่บ่อยๆ จึงส่งผลให้สังคมคิดไปได้ว่าปัญหาทั้งน่าจะคลี่คลายไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็ต้องเข็ดขยาดกันไปแน่ๆ
 
จึงไม่น่าที่จะมีใครหน้าไหนกล้าลุกขึ้นมากระทำความผิดอีก โดยเฉพาะบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจและพลเรือน หรือแม้แต่นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลต่างๆ โดยเฉพาะที่ต้องหมายหัวเป็นพิเศษคือ บรรดา “นายทุน” เจ้าของเรือประมงพาณิชย์และแพปลาต่างๆ จากที่เคยใช้เรือไปรับจ๊อบขนถ่ายโรฮิงญาและบังคลาเทศ หรือจับแรงงานทาสขึ้นเรือไปจับปลากลางทะเล หรือซุกแรงงานเถื่อนไว้ตามแพปลาต่างๆ
 
เพราะการดำเนินคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาส พวกที่มอบและและจับกุมได้ไม่ว่าจะนักธุรกิจ นักการเมือง ผู้มีอิทธิพล หรือแม้แต่ข้าราชการทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจและทหาร หรือไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ต่างก็ไม่ได้กับการประกันตัวและถูกนอนคุกด้วยกันทั้งนั้น
 
แผนผังการเชื่อมโยงของผู้ต้องหาที่ตำรวจนำมาแถลงข่าว (แฟ้มภาพ)
 
ทว่าเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 พร้อมด้วย นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พล.ต.ท.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย รอง ผบช.ภ.9 พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ รอง จตร. (สบ 7) พล.ต.ต.ดาวลอย เหมือนเดช ผบก.ภ.จ.ตรัง พร้อมด้วยตัวแทนทัพเรือภาคที่ 3 และสำนักงานปราบปราบการฟองเงิน (ปปง.) ได้ร่วมกันแถลงข่าวการกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และสมคบกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ได้ผู้ต้องหารวม 8 คน ซึ่งต้องถือเป็นการกวาดล้างครั้งใหญ่อีกระลอก
 
ทั้งนี้เป็นผลจากเมื่อวันที่ 18 ต.ค. เจ้าหน้าที่ได้บูรณาการร่วมกันทำการช่วยเหลือเหยื่อแรงงานต่างด้าวในเรือประมงต่างๆ ในเขต จ.ตรัง แล้วตรวจพบว่ามีการใช้แรงงานต่างด้าวโดยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ถึง 11 คน จึงตามมาด้วยการวางแผนร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการไปขอศาลออกหมายจับก่อนเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย 11 จุดช่วงเช้าวันที่ 7 พ.ย. สามารถตรวจยึดเรือประมงพาณิชย์ได้ 4 ลำ รวมทั้งเอกสาร ทรัพย์สินและอาวุธปืนเพื่อนำไปตรวจสอบ และจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ 8 คน ประกอบด้วย
 
1.นายสมพล (โกหนั้ง) จิโรจน์มนตรี นายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง จับกุมได้ที่แพปลาบุญลาภ หรือแพปลาโภคาสถาพร เลขที่ 2 ถ.ตรังคภูมิ ต.กันตัง อ.กันตัง จ.ตรัง 2.นางสมจิตร ศรีสว่าง 3.นายไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์ 4.นายประวิทย์ ลิ้มซ้าย ไต้ก๋งเรือวาณิช 5.นายวิชัย (ยามเลี่ยม) เรียบร้อย 6.นายคำมี (ไต๋วี) ประดาสุข ไต้ก๋งเรือโภคาสถาพร 19 7.นายถาวร (ไต๋วร) จันทรักษ์ ไต๋เรือโภคาสถาพร 34 และ 8.นายชูชาติ (ไต๋ดำ) ศรีวัน ไต๋เรือโภคาสถาพร 6
 
พลันที่กลุ่มผู้ร่วมขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาส ซึ่งถูกจับกุมเที่ยวล่าสุดตกเป็นข่าวใหญ่เที่ยวล่าสุด ซึ่งมีผู้เป็นถึงนายกสมาคมประมง จ.ตรังรวมอยู่ด้วยนั้น ปรากฏว่าชื่อของ “โกหนั้ง” หรือ “นายสมพล จิโรจน์มนตรี” เป็นที่ถามถึงของผู้คนจำนวนมากว่าเขาคือใคร มีที่มาและที่ไป รวมถึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการใหญ่เยี่ยงนี้ได้อย่างไร
 
แน่นอนชื่อเสียงเรียงนามของ “โกหนั้ง” อาจจะค่อนข้างโลว์โปรไฟล์สำหรับคนทั่วไป และต้องรวมถึงคนส่วนใหญ่ในจังหวัดตรังเลยด้วย แต่สำหรับคนในแวดวงธุรกิจประมงพาณิชย์แล้ว แม้ไม่โดดเด่น แต่ก็หาด้อยไม่
 
นอกจาก “โกหนั้ง” จะนั่งในตำแหน่งนายกสมาคมประมง จ.ตรังแล้ว เขายังได้รับการแต่ตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจ สภ.กันตังอีกด้วย แถมยังเป็นพี่ชายแท้ๆ ของ “นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี” หรือ“โกง้วน” นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้ว ต้องจัดว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน
 
วันแถลงข่าวใหญ่นำโดย พล.ต.ท.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ผบช.ภ.9 และ นายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (แฟ้มภาพ)
 
การที่ “โกหนั้ง” และพวกรวม 8 ชีวิตตกเป็นผู้ต้องหาค้ามนุษย์และถูกจับกุมคุมขังโดยศาลไม่ให้ประกันตัวจนเป็นข่าวใหญ่เที่ยวล่าสุดนั้น สิ่งนี้น่าจะเป็นการยืนยันได้ในระดับดีทีเดียวถึงวิถีกลุ่มทุนไทยและวิธีการทำธุรกิจแบบไทยๆ รวมถึงระบบราชการแบบไทยๆ และที่สำคัญระบบการบริหารรัฐราชการ หรือรัฐบาลแบบไทยๆ ที่ตกทอดสืบต่อๆ กันมาอย่างยาวนาน
 
ใครที่เคยคิดว่า เมื่อรัฐบาลทอปบู๊ตที่เข้ามากุมกลไกรัฐด้วยวาระพิเศษ แถมมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และหน้าฉากก็มีภาพของคำประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มข้นเต็มอัตราศึก สิ่งนี้จะทำให้นายทุนขี้ฉ้อและข้าราชการกังฉินเกรงกลัวนั้น น่าที่จะต้องเปลี่ยนความคิดกันได้แล้ว เพราะหลังการใช้ยาแรงเข้าจัดการและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาสมานานกว่า 6 เดือน
 
ถึงเวลานี้กลับยังไม่ได้ทำให้นายทุน หรือผู้คนขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงข้าราชการบางคนและบางกลุ่มเกิดหวาดกลัว ยอมที่จะละทิ้งผลประโยชน์ที่กองรออยู่ตรงหน้า และหยุดการประพฤติมิชอบแต่อย่างใด
 
กรณีของ “โกหนั้ง” และพวกมีประเด็นที่ชี้ให้เห็นชัดแจ้งคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำผิดกฎหมายในการค้ามนุษย์หรือแรงงานต่างด้าว ล้วนเป็นนายทุนที่มีอิทธิพล มีตำแหน่งในองค์กรภาคเอกชน และมีตำแหน่งแห่งหนในทางสังคมอื่นๆ เป็นนักการเมืองหรืออดีตนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง มีความใกล้ชิดกับตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองในพื้นที่
 
ที่สำคัญเป็นนายทุนที่มาก “น้ำใจ” ให้การช่วยดูแลเป็นรายเดือนให้กับหัวหน้าหน่วยงาน หรือข้าราชการบางคนหรือบางกลุ่มเสมอมา
 
พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (แฟ้นภาพ)
 
โดยข้อเท็จจริงในกระบวนการผลิตภาคประมงพาณิชย์และอุตสาหกรรมประมงนั้น เวลานี้แทบจะมีคนไทยทั้งในท้องถิ่นหรือจากต่างถิ่นสนใจเข้าไปขายแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปเป็นคนงานบนเรือกลางทะเลหรือแม้แต่ในแพปลา ยกเว้นตำแหน่งที่เป็นหัวหน้าคนงาน เช่น “ไต๋ก๋ง” หรือ “อินเนียร์” ส่งผลให้ต้องไปกว้านหาแรงงานต่างด้าวมาทดแทน
 
ดังนั้น การใช้แรงงานต่างด้าวจึงเป็นเหมือนสิ่งจำเป็นถึงขั้นกล่าวว่าเป็น “ลมหายใจ” ของการประกอบธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมประมงก็ว่าได้
 
ที่สำคัญกฎหมายก็กำหนดให้ผู้ประกอบการประมงใช้แรงงานต่างด้าวได้ โดยการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องมีเอกสารต่างๆให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ขณะนำเรือเข้า-ออก รวมทั้งการติดจีพีเอสเพื่อให้สามารถตรวจพิกัดของเรือกลางทะเลได้ แต่นายทุนผู้มีอิทธิพลไม่เคยปฏิบัติตาม เพราะเคยชินกับการมีอำนาจที่เหนือกฎหมาย และเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ไม่กล้าจับกุม
 
แท้จริงแล้วไม่ได้มีเฉพาะกรณีของ “โกหนั้ง” กับพวกที่เพิ่งถูกจับที่ยังใช้แรงงานเถื่อนและแรงงานทาสที่พัวพันกับการค้ามนุษย์ ในจังหวัดชายทะเลอื่นๆ ทั่วประเทศก็ยังคงมีการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่มากมาย เนื่องจากผู้รักษากฎหมายก็คือส่วนหนึ่งของกลไกการค้ามนุษย์นั่นเอง
 
วันนี้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์จำนวนหนึ่งยังใช้วิธีการ “ตบตา” เจ้าหน้าที่ด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวเถื่อนทำประมงในทะเลลึกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เมื่อเรือลำใดจะเข้าฝั่งก็ถ่ายแรงงานเถื่อนไปยังลำอื่นที่ยังคงอยู่กลางทะเล เลือกเอาเฉพาะแรงงานที่ขออนุญาตถูกต้องให้ติดเข้าฝั่งได้ และแม้แต่เครื่องมือประมงก็มี 2 ชุดคือ ชุดที่ใช้ทำประมงจริงๆ กับชุดที่มีเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
 
จุดอ่อนที่ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาสยังมีอยู่เกลื่อนกราด เนื่องเพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับนายทุน รวมทั้งแทบทุกหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่แก้ปัญหายังมีขีดจำกัด โดยเฉพาะการดำเนินการกลางทะเลถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ โอกาสที่จะเข้าตรวจค้นจับกุมก็แทบจะไม่เกิดขึ้น
 
อีกทั้งเมื่อมองย้อยกลับไปยังการแก้ปัญหาภาพรวม สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการทลายล้างขบวนการค้าโรฮิงญาและบังคลาเทศ การจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองมุสลิมอุยกูร์ รวมถึงการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในภาคทำประมง ในเวลานี้ก็ยังพบว่าขบวนการค้ามนุษย์ในรูปแบบต่างๆ เหล่านั้นยังคงมีเกิดขึ้นและกระจายอยู่ทั่วไป
 
โดยกว่า 6 เดือนมานี้ ขบวนการค้าโรฮิงญาได้สรุปบทเรียนและปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่แล้ว ด้วยการลักลอบขนโรฮิงญาและบังคลาเทศจากพม่าเข้ามาที่ละไม่กี่คน และทยอยส่งออกทางชายแดนมาเลเซียที่ละเล็กละน้อย เปลี่ยนจากการตั้งค่ายพักตามแนวแนวชายแดน เป็นกระจายให้ไปพักในตัวเมืองหรือในหมู่บ้านแทน
 
เช่นเดียวกับการลักลอบพาชาวอุยกูร์จากมณทลซินเกียงของจีน เพื่อส่งไปยังประเทศที่สามผ่านทางชายแดนมาเลเซีย เวลานี้ขบวนการมีการปรับวิธีการขนไม่ให้เป็นภาพที่ใหญ่โต จากขนกันครั้งละเป็นร้อยๆ คนด้วยความเหิมเกริม ก็หันมาขนกันที่ละเล็กละน้อยเหมือนกัน
 
ด้านการค้าแรงงานงานเถื่อนและแรงงานทาสให้กับเรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดใหญ่ๆ ขบวนการก็มีการปรับวิธีการให้เนียนมากขึ้น โดยใช้ผู้คุ้มครองเป็น “คนในเครื่องแบบ” ที่เคยรับประโยชน์เช่นเดิม
 
ปัญหาจึงอยู่ที่รัฐบาลและ คสช.จะขุดรากถอนโคนขบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร และจะทำจริงหรือไม่ หรือพร้อมจะปล่อยให้เล่นปาหี่กันต่อไป โดยเฉพาะหากมีการกวาดล้างจับกุมกันทีไร ก็เป็นที่สงสัยของผู้คนว่ามีเบื้องหลังมาจากการที่บางคนหรือบางกลุ่มเริ่มแข็งข้อ หรือเริ่มให้ผลตอบแทนที่น้อยลง จึงต้องมีการเชือดเป็นตัวอย่างให้เห็นหรือไม่
 
เชื่อว่าถ้ารัฐบาลและ คสช.จะมีการกวาดล้างอย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าอีกไม่ช้าคงจะเห็นนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลอีกหลายรายในพื้นที่ 2 ฝั่งทะเลทั่วประเทศต้องตกเป็นผู้ต้องหาเช่นเดียวกับ “โกหนั้ง” และบรรดา “โก” อื่นๆ อีกมากมายที่ถูกจับกุมคุมขังไปแล้ว
 
แต่จะอย่างไรก็แล้วแต่ ตลอดห้วงเวลาราว 6 เดือนมานี้ ภาพการกวาดล้างขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาสของรัฐบาลท็อปบูตดูจะฉายฉานให้เห็นเป็นผลงานโบว์แดงชิ้นหนึ่ง แต่ตลอดเวลาก็มีภาพทับซ้อนซ่อนปมปะปนอยู่อย่างแทบไม่ขาดสาย
 
สังคมยังมองว่ามีข้าราชการทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือนที่ยังไม่พยายามสาวไปไม่ให้ถึง เช่นเดียวกับยังมีนายทุน นักการเมืองและผู้มากอิทธิพลกระทำเรื่องราวเหล่านี้อยู่อย่างซ้ำซาก หลายภาพของการจัดระเบียบเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกทำให้ดูดี ได้ถูกหักล้างด้วยหลักฐานจากชาติตะวันตกที่ยังจับตาดูไทยแก้ปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งวิกฤตจากการถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 จึงยังคาราคาซังถึงวันนี้
 
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ภาพของการกวาดล้างนายตำรวจหัวขบวนที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มกำลังเข้าลุยทำคดีกับขบวนการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนและแรงงานทาส รางวัลชีวิตที่เขาได้รับไม่ใช่แค่กระเด็นไปคนละทิศทางเท่านั้น ยังมีที่ถูกส่งให้ไปเป็นเป้าล่อรอกระสุนหรือระเบิดอีกด้วย
 
เรื่องราวของ “พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์” ดูเหมือนจะจบไปแล้ว แต่สำหรับ “พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์” อาจจะมีภาคต่อให้จับตากันอีก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น