คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
หลังการ “ทลายห้าง” ขบวนการค้ามนุษย์ครั้งใหญ่ของประเทศ โดยได้ผู้อยู่ในขบวนการมีทั้งที่เป็นนักการเมือง นักธุรกิจ นายทหาร และกลุ่มคนอีกหลายสาขาอาชีพเกือบ 200 คน ที่ได้ตกเป็นผู้ต้องหา รวมถึงการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญเข้าจัดการต่อแรงงานเถื่อนในภาคของการทำประมง เพื่อที่จะสนองตอบการที่ไทยถูกขึ้นบัญชีเทียร์ 3 จากสหภาพยุโรป ในข้อหาว่าไทยเป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ ใช้แรงงานทาส และแรงงานเถื่อนในธุรกิจการประมง
ทั้งนี้ การใช้ ม.44 เข้าจัดการต่อแรงงานเถื่อนในภาคการทำประมงถือเป็นการใช้ “ยาแรง” ที่สุด ทำให้ใครต่อใครเชื่อว่าขบวนการค้าแรงงานเถื่อน และแรงงานทาส รวมทั้ง “นายทุน” เจ้าของธุรกิจแพปลา ห้องเย็น และเรือประมงต้อง “เข็ดขยาด” หวาดกลัวต่อการใช้ยาแรงของหัวหน้า คสช.ครั้งนี้อย่างแน่นอน
เพราะการดำเนินคดีต่อขบวนการที่เกี่ยวข้องต่อการค้า “โรฮิงญา” และการค้าแรงงานเถื่อนที่จับกุมได้ ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจใหญ่ นักการเมืองผู้มีอิทธิพล และข้าราชการทั้งตำรวจและทหาร ต่างก็ไม่ได้รับการประกันตัวด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งต้องถูกนอกคุกกันทุกราย
แต่พลันที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจากภาค 9 นำกำลังเข้าจับกุม “นายสมพล จิโรจน์มนตรี” หรือ “โกหนั้ง” นายกสมาคมประมงกันตัง จ.ตรัง และประธานคณะกรรมการตรวจสอบติดตามการบริหารงานตำรวจ สภ.กันตัง แถมยังเป็นพี่ชายของ “นายสรนนท์ จิโรจน์มนตรี” หรือ “โกง้วน” นายกเทศมนตรีเมืองกันตัง ซึ่งถูกจับร่วมกับพวกอีก 7 คน ในข้อหาฐานร่วมกันกระทำความผิดการค้ามนุษย์
โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจภาค 9 เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือภาคที่ 3 และตำรวจน้ำ ได้เข้าตรวจค้นเป้าหมายของการค้ามนุษย์ 11 เป้าหมายใน อ.กันตัง และได้เข้าตรวจค้นเรือประมง 4 ลำ รวมทั้งแพปลาบุญลาภ ที่เป็นกิจการประมงของ “โกหนั้ง” ซึ่งก็พบว่า มีลูกเรือประมง และคนงานที่แพปลาบุญลาภที่เป็นแรงงานเถื่อนชาวพม่ารวม 11 คน จึงได้สอบพยาน และรวบรวมหลักฐานจนนำไปสู่การออกหมายจับ “โกหนั้ง” และผู้เกี่ยวข้องรวม 8 คนในข้อหาเป็นผู้กระทำความผิดในการค้ามนุษย์
ดังนั้น การจับกุม “โกหนั้ง” และพวก 8 คน ในครั้งนี้ จึงเป็นการทำลายความเชื่อที่ว่า การ “ทลายห้าง” ขบวนการค้ามนุษย์โรฮิงญา และการใช้อำนาจ ม.44 จัดการต่อปัญหาการค้ามนุษย์ในธุรกิจภาคการทำประมง สิ่งนี้จะทำให้ “นายทุน” หรือผู้ที่ประกอบอาชีพประมงเข็ดขยาด และหวาดกลัวต่อการใช้ “ยาแรง” จนหยุดการทำความผิด
แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นเรื่องที่ “คิดผิด” เพราะหลังการใช้ยาแรงของหัวหน้า คสช.เข้าจัดการ ไม่ได้ทำให้นายทุน และขบวนการค้ามนุษย์หวาดกลัวและหยุดการกระทำแต่อย่างใด
ประเด็นแรกที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำผิดกฎหมายในการค้ามนุษย์ หรือแรงงานต่างด้าวล้วนเป็นนายทุนที่มีอิทธิพล มีตำแหน่งในองค์กรประมง และตำแหน่งทางสังคมอื่นๆ เป็นนักการเมือง หรืออดีตนักการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น และส่วนกลาง มีความใกล้ชิดกับตำรวจและฝ่ายปกครองในพื้นที่ในฐานะผู้ที่ “หยิบยื่น” ความช่วยเหลือ หรือ “มีน้ำใจ” ในการช่วยดูแลเป็นรายเดือนให้แก่ราชการ หรือให้แก่หัวหน้าหน่วยงานในพื้นที่อีกโสตหนึ่ง
โดยข้อเท็จจริงแรงงานในภาคประมงไม่ค่อยจะมีคนไทย และคนในท้องถิ่นสนใจทำ ไม่ว่าเป็นงานในเรือ หรือในแพปลา ยกเว้นคนที่เป็นหัวหน้า เช่น “ไต้ก๋ง” หรือ “อินเนียร์” รวมทั้งหัวหน้างานในตำแหน่งอื่นๆ ส่งผลให้ตำแหน่ง “ลูกเรือ” หรือ “ลูกจ้าง” จึงมีแต่ต่างด้าวทั้งสิ้น
ดังนั้น การใช้ “แรงงานต่างด้าว” จึงเป็นเหมือนสิ่งจำเป็นถึงขั้นกล่าวว่า เป็น “ลมหายใจ” ของการประกอบธุรกิจประมงก็ว่าได้ โดยเฉพาะประมงน้ำลึก หรือประมงพาณิชย์
แต่กฎหมายก็กำหนดให้ผู้ประกอบการประมงใช้แรงงานต่างด้าวได้โดยการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต้องมีเอกสารต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ขณะนำเรือเข้า-ออก รวมทั้งการติดจีพีเอสเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจพิกัดของเรือเหล่านั้นกลางทะเลได้ แต่นายทุนผู้มีอิทธิพลไม่เคยปฏิบัติตาม เพราะ “เคยชิน” ต่อการมีอำนาจที่เหนือกฎหมาย และเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นไม่มีใครกล้าที่จะทำการจับกุม
เช่นเดียวกับกรณีของ “โกหนั้ง” ที่เป็นปรากฏการณ์ชัดแจ้งแจ๋วแหวว
และไม่ได้มีเฉพาะกรณีของ “โกหนั้ง” เท่านั้นที่ยังใช้แรงงานเถื่อนที่เป็นต่างด้าวในการเป็นลูกเรือประมง และเป็นคนงานของแพปลา ในจังหวัดอื่นๆ ก็ยังคงมีการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมายอยู่มากมาย โดยที่ไม่เกรงกลัวผู้รักษากฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากผู้รักษากฎหมายคือส่วนหนึ่งของนายทุนผู้ที่ทำผิดกฎหมายนั่นเอง
วันนี้ในธุรกิจการทำประมงยังใช้วิธีการ “ตบตา” เจ้าหน้าที่ด้วยการใช้แรงงานต่างด้าวที่เป็นแรงงานเถื่อนทำประมงในทะเลลึกอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเมื่อเรือประมงจะเข้าฝั่งนั้น บรรดาแรงงานเถื่อนก็จะถูกถ่ายไปยังเรือลำอื่นๆ ที่อยู่กลางทะเล และทะเบียนเรือที่มีไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็จะเป็นแรงงานที่มีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง และแม้แต่เครื่องมือการทำประมงก็มี 2 ชุด คือ ชุดที่ใช้ทำประมงจริง กับชุดที่ใช้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
จุดอ่อนที่ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์ หรือขบวนการใช้แรงงานเถื่อนยังเกลื่อนกลาด ขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกับนายทุน และเป็นกลจักรสำคัญของขบวนการ จึงเกิดการวางเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของตนเอง เพราะไม่ต้องการเป็นศัตรูกับนายทุน รวมทั้งหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อน ไม่ว่าจะเป็นกรมประมง ตำรวจน้ำ ตำรวจท้องที่ ฯลฯ
ซึ่งทุกหน่วยงานต่างก็ยังมีขีดจำกัดในการตรวจค้นจับกุม โดยเฉพาะการดำเนินการในทะเลถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก “กองทัพเรือ” โอกาสที่จะเข้าตรวจค้นจับกุมแทบจะไม่มี
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการทลายห้างขบวนการค้าโรฮิงญา การจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองมุสลิมอุยกูร์ และการจัดระเบียบแรงงานเถื่อนในภาคของการทำประมงในเวลานี้ยังพบว่า ขบวนการค้ามนุษย์ต่างๆ เหล่านั้นยังมีอยู่
โดยขบวนการค้าโรฮิงญาได้สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นแล้วปรับเปลี่ยนวิธีการใหม่แล้ว ด้วยการลักลอบขนโรฮิงญา และบังกลาเทศจากประเทศพม่าเข้ามาทีละไม่กี่คน และทยอยส่งออกทางชายแดนมาเลเซียทีละเล็กละน้อย เปลี่ยนจากการตั้งค่ายพักในแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ให้มาเป็นการพักอาศัยที่กระจัดกระจายอยู่ในตัวเมือง หรือในหมู่บ้าน
เช่นเดียวกับการลักลอบพาชาวอุยกูร์ จากมณทลซินเกียง สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งไปยังประเทศที่สามโดยผ่านทางชายแดนประเทศมาเลเซียก็ยังมีอยู่ แต่มีการระวังป้องกันไม่ทำเป็นขบวนการที่ใหญ่โต หรือขนกันในระดับเป็นร้อยๆ คนด้วยความเหิมเกริมอย่างในอดีต
เช่นเดียวกับการค้าแรงงานงานเถื่อนให้แก่เรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดใหญ่ๆ ที่มีการทำประมงในระดับเป็นเป็นอุตสาหกรรม ขบวนการเหล่านี้ต่างก็ไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เพียงแต่มีการปรับวิธีการให้เนียนมากขึ้น โดยที่ผู้ให้ความคุ้มครองก็ยังเป็น “คนในเครื่องแบบ” ที่เคยรับประโยชน์จากขบวนการเหล่านี้อยู่นั่นแหละ
ปัญหาจึงอยู่ที่รัฐบาล และ คสช.จะขุดรากถอนโคนขบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร และจะทำจริงหรือไม่ หรือพร้อมจะปล่อยให้เป็นการเล่นปาหี่กันต่อไป โดยเฉพาะหากมีการกวาดล้างจับกุมกันทีไร ก็เป็นที่สงสัยของผู้คนว่ามีเบื้องหลังมาจากการที่บางคน หรือบางกลุ่มเริ่มแข็งข้อ หรือเริ่มให้ผลตอบแทนที่น้อยลง จึงต้องมีการเชือดเป็นตัวอย่างให้เห็นหรือไม่
ถ้ารัฐบาล และ คสช.จะมีการกวาดล้างอย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าอีกไม่ช้าคงจะเห็นนายทุนผู้มีอิทธิพลอีกหลายรายในพื้นที่ 2 ฝั่งทะเลภาคใต้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาเช่นเดียวกับ “โกหนั้ง” และพวกที่เพิ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเที่ยวล่าสุด เพราะวันนี้ภาคใต้ 2 ฝั่งทะเลยังไม่หมดจากปัญหาแรงงานเถื่อนอย่างแท้จริง
สหภาพยุโรป หรืออียูให้เวลาประเทศไทยถึงสิ้นปีในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และแรงงานเถื่อน แต่ในเมื่อนายทุนประมง และผู้นำองค์กรประมงคือผู้ที่ทำผิดเสียเอง ย่อมเป็นเรื่องของรัฐบาล และ คสช.ที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่เช่นนั้นโอกาสที่ไทยจะถูกลดชั้นจาก “เทียร์ 3” เป็น “เทียร์ 2” หรือ “เทียร์ 1” น่าจะไม่ง่ายนักเอาเสียเลย