คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ถ้าจำไม่ผิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เขียนในคอลัมน์ “จุดคบไฟใต้” ว่าแผนการก่อวินาศกรรม 8 อำเภอใน จ.ยะลา ของ “แนวร่วม” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสาย “บีอาร์เอ็นโค ออดิเนต” เป็นแผนของการตีภายนอก เป็นการชิมลาง และหารอยรั่วของการป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลหรือ 7 หัวเมืองเพื่อเข้าโจมตีหัวเมืองเหล่านี้
ผู้เขียนได้เขียนว่า พื้นที่ 8 อำเภอของ จ.ยะลา จะถูกก่อวินาศกรรมได้หมดทั้งจังหวัด ไม่เว้นแต่แต่อำเภอเดียว แต่ก็ยังชื่นชมเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารที่สามารถป้องกันหัวเมืองที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่าง เทศบาลนครยะลา เทศบาลเมืองปัตตานี หรือเมืองชายแดนอย่างเบตง และสุไหงโก-ลกเอาไว้ได้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ผู้ประกอบการค้าการลงทุนในหัวเมืองเศรษฐกิจเหล่านี้มีความอุ่นใจในการทำหน้าที่ของตำรวจ และทหาร
แต่สุดท้ายเวลาผ่านไปเพียงสัปดาห์เดียว หัวเมืองเศรษฐกิจอย่างเทศบาลเมืองปัตตานี ก็แตกดังโพละเมื่อแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถหา “ช่องว่าง” หรือ “รอยรั่ว” พบ จนสามารถนำ จยย.บอมบ์เข้าไปก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีได้พร้อมกันเวลาเดียวกันถึง 4 จุด
แม้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมีเพียงทรัพย์สินได้รับความเสียหาย และเป็นความเสียหายที่ไม่รุนแรงนัก โดยที่ไม่มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย แต่ จยย.บอมบ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจหวั่นไหว เพราะเห็นชัดว่าแนวร่วมยังสามารถ “ฝ่าด่าน” ของเจ้าหน้าที่เข้าไปก่อเหตุร้ายได้ หลังจากที่การก่อวินาศกรรมในเขตเทศบาลต่างๆ ที่เป็นหัวเมืองเศรษฐกิจห่างหายไประยะหนึ่ง
จยย.บอมบ์ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีครั้งนี้ สิ่งที่หน่วยงานความมั่นคงต้องแก้ไขคือ ต้องตรวจสอบการป้องกันพื้นที่ว่ามี “รอยรั่ว” หรือ “ช่องว่าง” ตรงไหนที่ทำให้แนวร่วมสามารถที่จะเล็ดลอดจากพื้นที่ “รอบนอก” เข้าไปก่อเหตุได้อย่างปลอดภัย เพราะก่อน และหลังก่อเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่หน่วยไหนทราบข่าว และป้องกันได้ทันท่วงที
สิ่งที่ตามมาคือ การตรวจสอบมาตรการป้องกันเหตุร้ายในหัวเมืองเศรษฐกิจทั้งหมด เพื่อมิให้แนวร่วมสามารถเล็ดลอดเข้าไปก่อเหตุร้ายอย่างที่เกิดขึ้นต่อเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เพราะในเมื่อแนวร่วมสามารถเจาะแนวป้องกันเขตเทศบาลเมืองปัตตานีได้ ก็ย่อมที่จะเล็ดลอดเข้าก่อกวนหัวเมืองอื่นๆ ได้เช่นเดียวกัน
มีข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงแจ้งเตือนว่า ในห้วงเวลาของเดือน ธ.ค.2558 อันเป็นห้วงเวลาที่แนวร่วมมีแผนในการก่อกวนหัวเมืองเศรษฐกิจใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ ยกเว้น จ.สตูล เพราะหากสามารถสร้างความปั่นป่วนในห้วงเวลาส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จะส่งผลเสียหายทางด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้น และส่งผลกระทบที่สูงกว่าการก่อเหตุในห้วงเวลาอื่นๆ
สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องไม่ลืมคือ นอกจากการระวัง และป้องกันการก่อเหตุใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในภาคใต้ก็ต้องเร่งระวังป้องกันด้วย อย่าลืมที่จะสรุปบทเรียนการก่อวินาศกรรมห้างดังที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งแม้จะไม่มีบทสรุปว่าเป็นการกระทำของขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่ผู้ที่ถูกจับกุม และออกหมายจับล้วนแต่เป็นแนวร่วมใน 3 จังหวัดชายแดนทั้งสิ้น
ดังนั้น คาร์บอมบ์บนเกาะสมุยครั้งนั้นเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือเป็นฝีมือของนักการเมือง ก็รู้กันอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องบอก
จึงเป็นหน้าที่ และเป็นงานหนักของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่จะต้องติวเข้มกำลังพล และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ในการรับมือต่อกลุ่มแนวร่วมที่รายล้อมพื้นที่ 7 หัวเมืองเพื่อหาโอกาสเข้าไปก่อการร้าย รวมทั้งต้องเปิดเกมรุกกลุ่มแนวร่วมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำลายกำลังพล และแหล่งซุกซ่อน รวมถึงยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการทำระเบิดแสวงเครื่อง เพราะหากแนวร่วมรวมตัวกันไม่ติด การก่อเหตุป่วนทั้งจังหวัดก็จะไม่เกิดขึ้น
โดยภาพรวมของแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในขณะนี้ยังไม่มีความพร้อมในการที่จะก่อเหตุร้ายพร้อมๆ กันในหลายจังหวัด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ามีอยู่น้อยครั้งนักที่แนวร่วมจะก่อเหตุร้ายพร้อมๆ กันทั้ง 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ซึ่งหากทำได้ขบวนการบีอาร์เอ็นฯ คงทำแล้ว เพราะจะได้ผลทั้งในทาง “การทหาร” และทาง “การเมือง” มากกว่าการก่อเหตุร้ายทีละจังหวัด
แต่ก็มีบางอย่าง บางประเด็นที่คนในพื้นที่ “ข้องใจ” และ “ไม่เข้าใจ” การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในเรื่องของการแจ้งเตือนข่าวเรื่องคาร์บอมบ์ ซึ่งล่าสุด มีการแจ้งเตือนให้ระวังรถยนต์ 4-5 คันว่า คนร้ายใช้ประกอบเป็นคาร์บอมบ์เพื่อก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 4 จังหวัด
จะสังเกตว่าในแต่ละเดือนจะมีการแจ้งเตือนให้ระมัดระวัง และตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้ประกอบคาร์บอมบ์ให้ทราบกันโดยตลอด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ชุดไหน หรือหน่วยไหนสามารถตรวจยึด หรือจับกุมรถยนต์ที่ถูกระบุว่าเป็นคาร์บอมบ์ได้แม้แต่ครั้งเดียว
แม้แต่รถยนต์ที่คนร้าย หรือ “มือที่สาม” นำไปปฏิบัติการในการฆ่ารายวัน หรือก่อเหตุโจมตีเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่หลังก่อเหตุสามารถที่จะหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล จนกลายเป็นคำถามในหมู่ประชาชนมาโดยตลอดว่า ทำไมการ “หลบหนี” และการ “หลบซ่อน” รถยนต์ที่ใช้ในการทำผิดจึงง่ายดายนัก ง่ายกว่าในพื้นที่อื่นๆ เสียอีก
เพราะหากเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นนอกพื้นที่ 3 จังหวัด เจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถติดตาม ตรวจยึดหรือจับกุมได้ในเวลาที่ไม่ช้า ทั้งที่ในพื้นที่นอก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีกำลังของเจ้าหน้าที่น้อยกว่าอย่างเทียบเคียงกันไม่ได้ด้วยซ้ำ
ประเด็นนี้คือประเดินหนึ่งที่มีความสำคัญ ทั้งในการป้องกันเหตุร้าย และในการทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในเจ้าหน้าที่รัฐ หากแม้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งประกอบด้วยทหาร ตำรวจ และพลเรือน สามารถที่จะตรวจยึด จับกุม หรือสกัดกั้นรถยนต์ที่ใช่ก่อเหตุเหล่านี้ได้
อีกหนึ่งปัญหาที่ไม่น่าจะยาก แต่กลายเป็นเรื่องยากของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ เรื่องของ “ภัยแทรกซ้อน” ที่ “เอื้อประโยชน์” ในการสนับสนุนการก่อการร้าย ซึ่งในเรื่องของภัยแทรกซ้อนมีการให้ความสำคัญตั้งแต่ครั้งที่ “พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” หรือ “เสธ.เมา” เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
โดยมีการแยกแยะภัยแทรกซ้อนในจังหวัดหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องการค้ายาเสพติด การค้าน้ำมันเถื่อน และสิ่งของผิดกฎหมาย รวมถึงกลุ่มอิทธิพลที่เป็นผู้นำท้องถิ่น และท้องที่ ซึ่งขัดแย้งหรือแข่งขัน ใช้อิทธิพลในการแสวงหาผลประโยชน์ที่ถูกรวบรวมไว้ว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น มีการตั้งกลุ่มขัดแย้งกันถึงกว่า 30 กลุ่ม ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
แต่จนแล้วจนรอดการปราบปรามขบวนการภัยแทรกซ้อนก็ไม่เห็นว่าจะทำกันอย่างจริงจัง เพราะวันนี้กลุ่มผู้ทำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ซึ่งมีถึง 30 กว่ากลุ่ม ก็ยังคงมีอิทธิพล และใช้อิทธิพลในการแสวงหาประโยชน์อยู่เช่นเดิม และอาจจะอยู่เบื้องหลังการตายรายวันของผู้คนในพื้นที่ด้วย
ในขณะที่ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ก็ยังคงประกอบธุรกิจเถื่อนได้อย่างเดิม เพียงแต่ที่ลดน้อยลงบ้างในขณะนี้ก็ไม่ได้มาจากการป้องปรามของเจ้าหน้าที่ แต่มาจากการที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยถูกลง ทำให้การนำเข้าน้ำมันเถื่อนได้กำไรที่น้อยลง ในขณะที่ต้อง “จ่ายส่วย” ให้เจ้าหน้าที่เท่าเดิม จนเป็นเหตุให้ผู้ค้ารายย่อยได้กำไรไม่คุ้มค่าจ่ายส่วย จนเป็นเหตุให้การค้าน้ำมันเถื่อนไม่คึกคัก หรือครึกโครมเหมือนในอดีต
ที่น่าเป็นห่วงคือ ภัยแทรกซ้อนในพื้นที่ จ.นราธิวาส ในเรื่องของการค้ายาเสพติด ที่ ณ วันนี้พื้นที่นราธิวาสกลายเป็นพื้นที่ “พักยา” ก่อน “ส่งออก” ไปประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จะสังเกตได้ว่า ในการจับกุมผู้ลำเลียงยาเสพติดทางรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการจับในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้กว่า 50% ของผู้ถูกจับจะรับสารภาพว่า จะนำยาเสพติดไปส่งที่นราธิวาส และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า ผู้ทำหน้าที่ขนส่งหรือ “ลำเลียง” ยาเสพติดที่ถูกจับกุมได้ในพื้นที่ต่างๆ คือ คนใน จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา
ปัญหาภัยแทรกซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมามีแต่การ “พูดถึง” แต่ไม่มีการ “จัดการ” ให้เห็นเป็นประจักษ์ ซึ่งในความรู้สึกของคนในพื้นที่เรื่องภัยแทรกซ้อนน่าจะจัดการได้ง่ายกว่าการจัดการต่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนเสียอีก แต่ทำไปทำมาก็ไม่มีอะไรที่จะให้เห็น และจับต้องได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล
ก็ได้แต่คาดหวังว่า ภายใต้การนำทัพของ “พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์” แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ที่เป็นคนพื้นที่ และรับรู้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดี โดยที่ไม่ต้องฟังรายงานของใคร และไม่มีใครให้ข้อมูลที่ผิดๆ ถูกๆ เพื่อ “ตบตา” ได้ คนในพื้นที่จะได้เห็นการจัดการต่อปัญหาของภัยแทรกซ้อนให้เป็นที่ประจักษ์เสียที ไม่ใช่สักแต่พูดๆ ถึงปัญหา แต่ไม่เคยทำให้เห็นผลงานอย่างจริงๆ จังๆ
ถึงจะไม่เห็นผลงานของการจัดการกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้จับต้องได้ เพราะรู้กันแล้วว่า เป็นงานยาก และเป็นเรื่องเรื้อรัง ที่แม้แต่เทวดาก็ยากที่จะทำได้สำเร็จ แต่ในเรื่องของภัยแทรกซ้อนที่ง่ายกว่า และไม่ซับซ้อนเป็นขนมชั้นอย่างที่พูดกัน ช่วยทำให้ปรากฏเป็น “ผลงาน” ที่เห็นชัด และจับต้องได้หน่อย เพราะนั่นคือสิ่งที่คนในพื้นที่อยากเห็น และอยากปรบมือให้