xs
xsm
sm
md
lg

Super El Nino กับ 3 ผลกระทบที่ไม่ธรรมดา / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

บทความเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมได้อธิบายถึงปรากฏการณ์เอลนีโญอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มาถึงบทความนี้จะว่าด้วยผลกระทบของเอลนีโญใน 3 ด้าน คือ ด้านการเกษตร การเกิดโรคระบาด และการเกิดพายุระดับรุนแรง โดยที่ทั้งสามนี้ก็เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าผลกระทบทั้ง 3 ด้านดังกล่าวน่าจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ภาพข้างบนนี้เป็นโบสถ์คริสต์อายุ 450 ปี อยู่ในรัฐเชียปัส (Chaipas) ทางตอนใต้เกือบล่างสุดของประเทศเม็กซิโก ดูแล้วอาจจะคิดว่ากำลังถูกน้ำท่วมเพราะฝนตกหนัก แต่ความจริงแล้วเป็นโบสถ์ที่จมอยู่ในเขื่อนซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 1966 หรือเกือบ 50 ปีมาแล้ว แต่เนื่องจากเกิดแล้งจัดหรือ “ซูเปอร์แล้ง” ในปีนี้ ระดับน้ำในเขื่อนได้ลดลงถึง 25 เมตร ข่าว (The guardian) ระบุว่า โบสถ์หลังนี้เคยโผล่พ้นน้ำมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2002 ซึ่งในปีนั้นความรุนแรงของเอลนีโญอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น แต่ในปีนี้ และต่อไปถึงปีหน้าความรุนแรงน่าจะมากกว่าทุกๆ ครั้งที่ผ่านมาตลอดประวัติศาสตร์ของการจดบันทึก

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า ระดับน้ำในเขื่อนจะมากหรือน้อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเอลนีโญเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำด้วย เราคงจำกันได้นะครับว่า เมื่อคราวที่น้ำท่วมใหญ่ภาคกลางของบ้านเราในปี 2554 ฝนไม่ได้ตกมากมายจนผิดปกติ แต่น้ำก็ล้นเขื่อนเพราะผู้บริหารได้เก็บน้ำไว้มากเกินไป แต่เมื่อเขื่อนอั้นไม่ไหวก็ต้องปล่อยน้ำทิ้งให้มาท่วมบ้านท่วมเมือง

บทความในวันนี้จะว่าด้วยผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญครับ

ผลผลิตทางการเกษตร

ผลการวิจัยพบว่า “ถ้าอุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส ผลผลิตข้าวจะลดลง 10%” นั่นหมายความว่า ถึงแม้ว่าจะมีน้ำให้ทำนาอย่างอุดม แต่ด้วยความที่อากาศร้อนกว่าเดิมผลผลิตที่ได้ก็จะลดลง 10% ทุกๆ 1 องศาที่อากาศร้อนขึ้น

ผมได้พยายามค้นคว้าความรู้มาจากหลายแหล่งครับ แต่ละแหล่งให้คำตอบผมไม่ครบถ้วน ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติการ ที่กล่าวมาแล้วเป็นผลผลิตข้าวในภาคทฤษฎี แต่ในปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่ถือว่าเอลนีโญรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์แล้ว พบว่า ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก (ใกล้ๆ กับที่ตั้งของโบสถ์ดังกล่าว โบสถ์นี้ชื่อ Temple of Santiago ซึ่งได้เลิกใช้ไปในช่วงเกิดโรคระบาดใหญ่ในปี 1773-6) อุณหภูมิของน้ำทะเล (ย้ำของน้ำทะเลที่ผิวบน ไม่ใช่อุณหภูมิของอากาศ) ในแถบนั้นได้สูงขึ้น 3-5 องศาเซลเซียส ผลผลิตของข้าวโพด อ้อย และกาแฟในเดือนพฤศจิกายนได้ลดลง 15 ถึง 30% (ข้อมูลจาก World Food Program) แสดงว่าทฤษฎีกับการปฏิบัติจริงใกล้เคียงกันมากครับ

มีคนแนะนำว่า “การสื่อสารคือการส่งต่อทางอารมณ์การนำเสนอเหตุผลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ” ดังนั้น ผมจึงขอนำภาพภัยแล้งในประเทศอินเดีย เมื่อปี 2014 มาประกอบเพื่อให้ท่านเกิดความรู้สึกครับ
 

 
ดัชนีความเครียดทางการเกษตร (Agricultural Stress Index (ASI)

ก่อนอื่นขอเรียนตามตรงว่า ผมเองไม่คุ้นเคยกับศัพท์แสงพวกนี้เลยครับ เอกสารที่ผมนำมาเสนอนี้เป็นการศึกษาขององค์การอาหารและการเกษตร (เอฟเอโอ) ขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม แค่ใช้สามัญสำนึกของแต่ละท่านก็สามารถเข้าใจได้ครับ สิ่งที่งานวิชาการชิ้นนี้พยายามจะทำก็คือ ทำทุกอย่างให้เป็นตัวเลขเพื่อบอกระดับของผลกระทบที่เป็นร้อยละ

ถ้าดัชนีความเครียดทางการเกษตรมีค่าน้อยก็แสดงว่าได้รับผลกระทบน้อย จากนั้นแสดงค่าดังกล่าวด้วยสีที่แตกต่างกันแล้วนำไปแสดงไว้ในแผนที่ของประเทศต่างๆ โดยที่ดัชนีความเครียดดังกล่าวก็คือ ดัชนีสุขภาพของพืช (Vegetation Health Index, VHI) ความหมายทั่วไปของ VHI ก็สามารถดูจากภาพนี้ครับ
 

 
ผมเข้าใจว่า วิธีการคำนวณค่าดัชนีดังกล่าวคงไม่ได้การลงภาคสนามเก็บข้อมูลในพื้นที่ แต่น่าจะใช้ฐานข้อมูลทางเกษตรที่ได้เก็บรวบรวมไว้แล้วมาประมวลกับข้อมูลทางสภาพภูมิอากาศที่ผ่านระบบดาวเทียม โดยปกติทางเอฟเอโอจะประมวล และแสดงผลทุก 10 วัน ในภาพข้างล่างนี้ผมได้นำค่าดัชนีในวันที่ 11- 20 เดือนกรกฎาคม 2015 กับของวันที่ 1-10 ตุลาคม 2015 มาเปรียบเทียบกัน
 

 
จากภาพเราจะเห็นว่า ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ดัชนีความเครียดทางการเกษตรอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ระดับ 40 ถึง 85% เกือบจะเต็มพื้นที่ภาคอีสาน และภาคกลาง นั่นคือ มีผลกระทบรุนแรงมาก

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2015 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสีเหลือง ส้ม และแดงปรากฏให้เห็นในบางพื้นที่ของภาคกลางตอนบน

อย่างไรก็ตาม สภาพของเดือนตุลาคม 2015 ในขณะนี้เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราวเท่านั้น เพราะฤดูฝนเพิ่งหมดไปหมาดๆ แต่ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งทำให้อากาศร้อน และฝนแล้งยังไม่ได้จบลง หรือยังไม่จบหลักสูตรแต่ยังคงพัฒนาต่อไป

จากสถิติพบว่า เอลนีโญมาแต่ละครั้งจะอยู่นานประมาณ 12 ถึง 18 เดือน นับถึงเดือนตุลาคม 2015 เขาเพิ่งมาได้ประมาณ 6-7 เดือนเท่านั้น ยังมีเวลาให้เขาอยู่ได้นานอีกเกือบ 1 ปี อย่างไรก็ตาม เอลนีโญมีความไม่แน่นอนสูง ยากที่จะคาดหมายได้อย่างแม่นยำ แต่สิ่งสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์คาดหมายได้ในครั้งนี้ว่าจะมีความรุนแรงมาก แรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาแล้ว และจะเป็น “ซูเปอร์เอลนีโญ” ค่อนข้างแน่นอน

เมื่อดัชนีความเครียดทางการเกษตร (ASI) ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเพิ่มขึ้น ความเครียดจริงๆ ก็จะไปตกกับเกษตรกร ที่จะต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน และเป็นหนี้เป็นสิน

เขียนมาถึงตอนนี้ผมรู้สึกแปลกใจว่า ทำไมสถานีโทรทัศน์ต่างๆ จึงไม่มีการพยากรณ์อากาศให้แก่เกษตรกรบ้าง ซึ่งเว็บไซต์ของเอฟเอโอที่ผมอ้างถึงนี้ก็มีข้อมูลพร้อมอยู่แล้ว หน่วยงานวิชาการของประเทศไทยเองก็น่าจะมี

เอลนีโญกับโรคระบาด

“ซูเปอร์แล้ง” ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังส่งต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคระบาดที่เกิดในช่วงเอลนีโญซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนกำลังขาดแคลนน้ำ อากาศร้อน ส่งผลให้ทั้งบักเตรี และไวรัสเติบโตได้ดี โรคดังกล่าว ได้แก่ โรคท้องเสีย โรคฉี่หนู และไข้รากสาดน้อย (typhoid - อาการมีไข้สูง เหงื่ออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ท้องร่วง มีผื่นขึ้นตามตัว ถ้ากรณีรุนแรงมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร) เป็นต้น โรคดังกล่าวเกิดจากยุงซึ่งสามารถเติบโตได้ดีมากในสภาพที่อากาศร้อน

นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศออสเตรเลียได้ชูคำขวัญที่ทำให้คนรู้สึกร่วมได้ดีมากคือ “โลกร้อน คนไม่ชอบ แต่ยุงชอบ”

ในช่วงนี้ (ตุลาคม 2558) ผมได้ยินคนบ่นกันเรื่อง “ยุงชุมมาก” ในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งในหมู่บ้านที่ผมอาศัยอยู่ด้วย น้าหงา คาราวาน ศิลปินแห่งชาติได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กของตนเองในทำนองว่า ให้ คสช.ใช้อำนาจเพื่อปราบยุง เสียดายที่ผมจำรายละเอียดไม่ได้ ผมคิดว่าน้าหงาคงจะใช้ภาษาได้อย่างคมคายเช่นเคย

ผมได้พูดเรื่องความเครียดทางการเกษตรมาแล้ว เมื่อผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ย่อมส่งผลให้คนเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือทุพโภชนาการ เมื่ออยู่ในสภาพทุพโภชนาการโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงทางโรคระบาดก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปอีก

เอลนีโญกับความเสี่ยงที่จะเกิดพายุขั้นรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์เคยคำนวณไว้ว่า ถ้าอุณหภูมิของผิวน้ำทะเลสูงขึ้น 0.5 ถึง 1 องศาเซลเซียส จะทำให้โอกาสในการเกิดพายุระดับรุนแรงจะเพิ่มขึ้นถึง 30%

ข้อมูลที่ผมอ่านเจอจากเอกสารวิชาการพบว่า ในปี 1965 กับปี 1997 (ซึ่งเป็นปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญระดับรุนแรง และรุนแรงมาก ตามลำดับ) ได้เกิดพายุระดับ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” จำนวนรวมกัน 11 ครั้ง แต่นักวิทยาศาสตร์คาดว่า ในปี 2015 ปีเดียวจะเกิดซูเปอร์ไต้ฝุ่น จำนวน 9 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 64 และน่าจะยิ่งมากกว่านี้อีกในอนาคต

สรุป

เรื่องที่ผมได้เล่ามาแล้วว่า เอลนีโญเป็นต้นเหตุให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้เกิดโรคระบาด ทำให้โอกาสในการเกิดพายุขั้นรุนแรงมากขึ้น ซึ่งหากพิจารณาเพียงผิวเผินแล้วอาจทำให้หลายคนคิดว่า ผลกระทบทั้งสามนี้แยกกัน หรือเป็นอิสระต่อกัน แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้นเลย

ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้สุขภาพคนอ่อนแอ เมื่อสุขภาพคนยิ่งอ่อนแอ โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อเป็นโรคระบาดแล้วก็ยิ่งทำให้สุขภาพอ่อนแอ ในทางคณิตศาสตร์แล้วเขาถือว่าเป็นกระบวนการย้อนกลับ (feedback) กล่าวคือ เหตุทำให้เกิดผล แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะย้อนกลับไปเป็นเหตุอีกครั้งหนึ่ง ทำนองเดียวกับกระบวนการคิดดอกเบี้ยทบต้น กระบวนการในลักษณะอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นกระบวนการไม่เชิงเส้น (non-linear process) ซึ่งจะทำให้เงินรวมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เรื่องผลกระทบจากซูเปอร์เอลนีโญต่อทั้ง 2 ด้านที่ได้กล่าวมาแล้วก็เช่นเดียวกันครับ คือ เป็นกระบวนการที่ไม่เชิงเส้น นั่นคือ มันจะรุนแรงมากที่ผมได้กล่าวมาแล้วเยอะเลย มากกว่าที่คนธรรมดาจะสามารถเข้าใจ และรับรู้ได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ การลดต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกซึ่งในปลายปีนี้จะมีการประชุมที่กรุงปารีส
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น