ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - งานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 “คุณ (ฆ่า) ค่า สิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย” ที่ ม.ทักษิณคึกคัก! แนะเรียนรู้จากป่าทั้งป่า ก่อนรวมตัวพิทักษ์ต้นไม้แต่ละต้นในท้องถิ่น แสดงจุดยืนบนทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมั่นคง
วานนี้ (13 ต.ค.) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ได้จัดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 “คุณ (ฆ่า) ค่า สิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย” โดยมีคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมภายในงานเป็นจำนวนมาก
โดยในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.30 น. ได้มีการเปิดโครงการโดย รศ.ไพบูลย์ ดวงจันทร์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เพื่อเป็นการต้อนรับ และกล่าววัตถุประสงค์ในการจัดงาน รวมทั้งแสดงความยินดี และเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน เพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้รับความรู้ ประสบการณ์ที่อยู่เหนือนอกห้องเรียนมาบูรณาการกับตำราเรียน และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในอนาคตข้างหน้าได้
ซึ่งบรรยากาศภายในงานตั้งแต่ช่วงเช้าเวลาประมาณ 09.30 น. ได้มีการเสวนา “โรฮิงยา : ฅนเสมอคน” โดยมี นายอิสมาแอน หมัดอะดำ เครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยา จ.สงขลา นางชุติมา สีดาเสถียร บรรณาธิการ เว็บไซต์สำนักข่าวภูเก็ตหวาน นายศิววงศ์ สุขทวี นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกันเสวนา โดยมีนางเจนจิณณ์ เอมะ ผอ.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยการเสวนาในครั้งนี้สรุปได้ว่า “ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยขณะนี้นั้นอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกันก่อนว่าไม่ได้มีแต่ชาวโรฮิงยาเท่านั้น เพราะแต่ละครั้งที่สามารถจับกุมได้มีทั้งที่เป็นชาวโรฮิงยา ชาวบังกลาเทศ ชาวอุยกูร์ ฯลฯ ซึ่งหากแค่เห็นหน้าแล้วชี้ว่าคนนี้เป็นโรฮิงยา คนนั้นเป็นอุยกูร์ โดยไม่ใช้หลักฐานก็ยิ่งจะทำให้มีแต่ปัญหาเพิ่มขึ้น เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ตรงจุด จึงอยากวอนให้ทุกคนรวมทั้งภาครัฐทำความเข้าใจด้วยว่า จริงๆ แล้วคนอพยพเหล่านี้ไม่ได้ต้องการอยู่ในประเทศไทย แต่แค่ต้องการเดินทางผ่านเพื่อไปยังประเทศที่สาม และมีชีวิตที่ดีกว่าเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเหล่านั้น”
จากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. ได้จัดบรรยายพิเศษ แผนพัฒนาภาคใต้ : เราจะอยู่กันอย่างไร? โดย นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องพื้นที่แหล่งผลิตอาหารภาคใต้ กล่าวว่า “รัฐบาลไม่เคยวางแผนโดยใช้วิธีคิดหรือภายใต้หลักคิดที่จะพัฒนาอะไรก็ตามให้เป็นประโยชน์ต่อคนภาคใต้ อีสาน หรือภูมิภาคอื่นๆ จึงส่งผลให้เป็นปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ฉะนั้น แผนการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้นั้น ไม่ได้สอดคล้องต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน”
นายประสิทธิชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า “ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศมหาอำนาจทั่วโลก ได้พยายามลด และเลิกการผลิตไฟฟ้าที่สร้างแต่มลพิษ และหันมาใช้พลังงานจากธรรมชาติที่สะอาดกว่า เพื่อปกป้องทรัพยากรมนุษย์ และอาหาร ที่เชื่อกันว่าวิกฤตการณ์อาหารจะประสบต่อผู้คนทั่วโลกในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าในการดูแลรักษาธรรมชาติเพื่อปกป้องแหล่งอาหารต่างๆ ที่เรามีอยู่ โดยที่เราเองจะไม่เป็นผู้ทำลาย และเราเองที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราปกป้อง และนั่นคือ ความอุดมสมบูรณ์ที่เรามีคือธรรมชาติ”
ต่อมา ในช่วงบ่ายเวลา 13.00 น. ณ ลานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้มีการเสวนา “ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับทรัพยากรในภาคใต้” โดยตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นบ้านกลาง จ.กระบี่ ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และตัวแทนเครือข่ายเทพารักษ์ถิ่น จ.สงขลา โดยมี นางสุภาภรณ์ มาลัยลอย มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งเวทีเสวนาดังกล่าวพอจะสรุปได้ว่า
“ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวต่อที่ดินนั้น นำความเดือดร้อนมาให้ชาวบ้านคนยากจนอยู่ตลอด เช่น เมื่อเวลารัฐบาลสั่งคุ้มครอง หรือห้ามปลูกพืชผลในเขตป่าสงวนฯต่างๆ มักจะเป็นชาวบ้านคนยากคนจนทั้งนั้นที่มักโดนข้อหาบุกรุก ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งทำมาหากินตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ และได้สืบต่อกันมาเป็นทอดๆ แต่พอไม่มีหลักฐานมากพอจะแสดงความเป็นเจ้าของต่อรัฐ จึงไม่สามารถต่อสู้ทั้งในชั้นศาล และถูกเข้าโค่นพืชผลต่างๆ ตามมา สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้าน ไม่มีรายได้ ไม่มีที่ทำมาหากิน แลไม่ได้ถูกเหลียวแลด้วยซ้ำ ขณะที่นายทุนบุกรุกป่าหลายไร่เยอะกว่าชาวบ้านตั้งมากมาย กลับไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ผิดกับชาวบ้านที่มีแค่คนละไร่ 2 ไร่ ไม่มากไปขนาดเท่านายทุน กลับโดนทุกอย่างแบบไม่เป็นธรรม”
หลังจากนั้น ได้มีพิธีเปิดงานสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 “คุณ (ฆ่า) ค่า สิทธิมนุษยชน/ประชาธิปไตย” อย่างเป็นทางการก่อนเวลา 15.00 น. ได้จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ภาคใต้กับการทำให้กลายเป็นศูนย์กลางพลังงานโลก และการเคลื่อนไหวเพื่อการปกป้องความเป็นท้องถิ่น” โดย นายปิยะโชติ อินทรนิวาส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการภาคใต้ ที่ได้พูดให้เห็นถึงภาพรวมของป่าทั้งป่า ซึ่งหมายถึงสถานการณ์แนวทางการพัฒนาของโลกตั้งแต่อดีต ต่อเนื่องมาจนปัจจุบันที่จะเชื่อมโยงไปสู่อนาคต ก่อนจะกล่าวให้เห็นว่า เมื่อสามารถมองป่าทั้งป่าได้แล้ว ก็จะทำให้มองต้นไม้แต่ละต้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น จะเริ่มเข้าจะสถานการณ์โลก และสามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก่อนสุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับทุกคนว่า ต้นไม้แต่ละต้นต้องทำอย่างไรถึงจะต่อสู้ และสามารถงัดท้อนซุงขนาดใหญ่ได้และทุกคนก็มีคำตอบของตัวเองอยู่แล้วในที่สุด
และในช่วงสุดท้ายของกิจกรรมบนเวที ได้มีเล่นดนตรีจากศิลปินวงภูแล ที่ได้นำบทเพลงอันไพเราะขับร้องสร้างความบันเทิงภายในงาน ต่อด้วยกิจกรรมการแสดงเพื่อสิทธิมนุษยชน และปิดท้ายด้วยการอ่านบทกวี โดย นายมนตรี ศรียงค์ กวีซีไรต์ อาจารย์จรูญ หยูทอง นายอภิชาติ จันทร์แดง และนายปรเมศวร์ กาแก้ว เป็นการปิดท้ายงาน และเสร็จสิ้นกิจกรรมในวันนี้ด้วย