xs
xsm
sm
md
lg

ชวนชิม “ปลาส้มสมุนไพร” มีให้เลือก 3 รส ตรา “โอโห้อัยเยอร์เวง” จากโรงเรียนบนแผ่นดินสุดปลายด้านขวาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ครูพรทิพย์ แวงวรรณ และ ครูศศิกานต์ พวงแก้ว
 
โดย...เจษฎา  สิริโยทัย
 
“โรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง” ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา มีระยะทางห่างจากตัวอำเภอประมาณ 70 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขา มีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านหลายสาย และไม่ห่างไกลกันมากก็มีแม่น้ำจากเขื่อนบางลาง ทำให้สภาพพื้นดินมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเกษตรกรรม การใช้น้ำเพื่อทำสวน ปลูกพืชผักทางการเกษตรต่างๆ
 
ความที่เป็นพื้นที่มีแม่น้ำลำคลองหลายสายไหลผ่าน ทำให้มีปลาหลากหลายชนิดชุกชุม ชาวบ้านได้อาศัยการหาปลาเพื่อเลี้ยงชีพ บ้างก็กักเก็บน้ำไว้เลี้ยงปลาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว เมื่อมีปลาจำนวนมากเหลือจากการกินในแต่ละวัน ชาวบ้านก็เริ่มที่จะหาวิธีถนอมอาหาร และแปรรูปอาหารเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ครอบครัว
 
สลากผลิตภัณฑ์
 
การนำปลามาทำ “ปลาส้ม” ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งของการแปรรูปอาหาร เพี่อให้เก็บรักษาไว้รับประทานได้นานๆ ประกอบกับมีการพัฒนาวิธีการทำเพื่อให้มีรสชาติที่แปลกใหม่ จนสามารถใช้ดึงดูดลูกค้าได้มากกว่าปลาส้มแบบธรรมดาที่วางขายในท้องตลาด แถมให้คุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าเดิมด้วย จนนำไปสู่แนวความคิดการผลิตเพื่อจำหน่ายจึงเกิดขึ้น
 
น.ส.พรทิพย์ แวงวรรณ และ น.ส.ศศิกานต์ พวงแก้ว 2 ครูแห่งโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง จึงได้คิดริเริ่มนำวิธีการทำปลาส้มเข้าบรรจุไว้ในวิชาชุมนุม และเกิดเป็นโครงงานการทำ “ปลาส้มสมุนไพรกลิ่นใบเตย” รวมถึง “ปลาส้มกลิ่นตะไคร้” และ “ปลาส้มกลิ่นมะกรูด” ขึ้นมา ซึ่งสามารถสร้างเป็นอาชีพให้แก่นักเรียนได้ 
 
พร้อมเสิร์ฟ
 
ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนร่วม และคอยช่วยเหลือในการนำภูมิปัญญานี้มาสู่การเรียนการสอน รวมถึงการผลิตสินค้าของโรงเรียนคือ นายจำลอง จันทรโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวง นายมณเฑียร แตปูซู กำนัน ตำบลอัยเยอร์เวง รวมถึงชาวบ้าน คณะครู และนักเรียนโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวงด้วย ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่อาหารพื้นถิ่น แถมยังสร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนของนักเรียนอีกทางหนึ่ง
 
“ครูพรทิพย์” บอกว่า ทางกลุ่มได้ผลิตอาหารเกี่ยวกับปลามานานมากแล้ว แต่ที่ถนัด และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลูกค้าต้องการมากที่สุดก็คือ “ปลาส้ม” เพราะสามารถทำได้จากปลาหลายๆ ชนิด
 
ปลายี่สก
 
สำหรับวัตถุดิบเบื้องต้น ได้แก่ ปลายี่สก 5 กิโลกรัม เกลือป่น 10 กำมือ ข้าวคั่วบด 5 ถ้วยตวง น้ำตาลทราย 1 ถ้วยตวง น้ำตาลแว่นบดละเอียด 1 ถ้วยตวง เติมใบเตยคั่วบด ตะไคร้คั่วบด หรือใบมะกรูดคั่วบด ตามแต่ละสูตรที่กำหนดไว้เพียงอย่างละ 1 ถ้วยตวง
 
ในเรื่องของขั้นตอนการทำนั้น นำปลาไปทำความสะอาด ขูดเกล็ด เอาไส้ออก ล้างให้หมดจด ผ่าปลาเป็น 2 ส่วน โดยเฉพาะส่วนท้องปลาใช้แปรงขัดให้สะอาด บั้งตัวปลาให้เป็นริ้ว วางใส่ตะแกรงรอให้สะเด็ดน้ำ จากนั้นนำเกลือมาหมักกับปลาเรียงใส่ขวดโรยเกลือเป็นชั้นๆ ปิดฝาให้มิดชิดกันแมลงวัน แล้วทิ้งไว้สัก 1 คืน
 
ขั้นตอนการทำ
 
จากนั้นนำปลาที่หมักไว้ 1 คืนมาล้าง และแช่น้ำให้ความเค็มเจือจาง หรือพอมีรสเค็มนิดหน่อย ให้ปลาสะเด็ดน้ำแล้วนำมาใส่กะละมัง นำข้าวคั่ว น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลแว่นที่บดละเอียดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันจนทั่วตัวปลา นำใบเตยคั่วบด ใบมะกรูดคั่วบด และตะไคร้คั่วบดตามกลิ่น และรสชาติของปลาส้มที่กำหนดไว้ไปคลุกที่ตัวปลา ก็จะได้ปลาส้มสมุนไพรกลิ่นต่างๆ ที่แตกต่างจากท้องตลาด
 
นำปลาที่คลุกเคล้ากับส่วนผสมทั้งหมดใส่ในขวดโหลปิดฝาให้มิดชิด ทิ้งไว้ประมาณ 5-6 คืน ปลาจะออกรสเปรี้ยวเค็มพอดี นำปลามาแพกใส่ถุง ติดสลาก และโลโก้โรงเรียนพร้อมออกจำหน่าย สนนราคาการจำหน่ายบรรจุถุงพลาสติกราคา 35 บาทต่อน้ำหนัก 300 กรัม
 

“ครูพรทิพย์”  บอกอีกว่า นอกจากที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ครัวเรือนของนักเรียนแล้ว ยังสามารถทำประโยชน์ที่ได้รับจากโครงงาน กล่าวคือ ช่วยให้นักเรียนมีอาชีพระหว่างเรียน ได้เรียนรู้วิธีการทำปลาส้มสมุนไพร ทำให้มีทักษะชีวิตมากขึ้น ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
 
ปลาเส้นสมุนไพร ผลผลิตจากกลุ่มเสริมสร้างทักษะชีวิตนักเรียนโรงเรียนบ้านอัยเยอร์เวงที่นี่ นับว่ามีคุณค่าทางอาหารไม่น้อย เพราะประกอบไปด้วยสารอาหารสำคัญคือ ไอโอดีน โปรตีน เกลือแร่ และสมุนไพร มีการตีตราบนสลากไว้อย่างเป็นที่สังเกตได้ง่ายๆ ว่า...
 
“ปลาส้มสมุนไพร ตราโอโห้ อัยเยอร์เวง”
 

 
แม้เวลานี้จะไม่โด่งดังจนเป็นที่รับรู้กันกว้างขวาง แต่สำหรับคนในพื้นที่ และในเขต อ.เบตง แผ่นดินสุดปลายด้ามขวานทองแล้ว กลับเป็นที่ต้องการของตลาดจนผลิตแทบไม่ทัน ใครสนใจไปชิม หรือไปซื้อหาผลิตภัณฑ์ติดต่อได้ที่ “ครูพรทิพย์” 0-7328-5126 หรือที่ 09-3582-1158 ในเวลาที่เหมาะสม
 





ขั้นตอนการทำ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น