xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรค แจงผู้ป่วยเมอร์สดีขึ้น ตามล่า 5 ต่างชาติ 1 โชเฟอร์แท็กซี่ ใกล้ชิดคนป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจง กมธ.สธ.สนช. ผู้ป่วยเมอร์ส ดีขึ้น ส่งทีมแพทย์ร่วมชาวมุสลิมไปแสวงบุญ ชูตะแกรง 3 ด่านมาตรการป้องกัน เน้นให้ข้อมูลตามจริง แต่รับแล็บไทยยังอยู่ในระดับปฐม พร้อมติดตาม 5 ต่างชาติ กับ 1 แท็กซี่ ใกล้ชิดคนป่วย “หมอยง” บอกไม่น่ากลัวเหมือนซาร์ส อีโบลา

วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติ (สนช.) ที่มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช. เป็นประธาน ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีการระบาดของโรคเมอร์ส หลังจากที่ไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย โดยสมาชิกในที่ประชุมได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันโรค รวมถึงการควบคุมว่าจะมีมาตรการ หรือกฎหมายในการควบคุมผู้ที่ฝ่าฝืนอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. ซึ่งจะมีผู้เดินทางไปแสวงบุญกว่า 10,000 ราย และจะทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างไรเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกในเรื่องนี้

โดย นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อขณะนี้ ว่า อาการโดยรวมดีขึ้น ผู้ป่วยสามารถหายใจเอง และสามารถรับประทานอาหารได้ ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการในการดูแลในเรื่องนี้นั้นกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศให้โรคเมอร์สเป็นโรคติดต่ออันตรายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับไปยังกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการต่างประเทศ ให้ช่วยกันดูในเรื่องนี้
ขณะที่ผู้ที่จะไปแสวงบุญนั้นจะต้องมีการลงทะเบียน โดยจะมีการให้ความรู้พร้อมส่งทีมแพทย์ร่วมเดินทางไปด้วย และเมื่อเดินทางกลับมาจะต้องมีการตรวจสอบผู้ที่เดินทางอีกเป็นเวลา 30 วัน ทั้งนี้ สิ่งที่เราเป็นห่วง คือ เทศกาลอุมเราะห์ ที่สามารถเดินทางไปได้ตลอดโดยไม่มีเทศกาล ต่างจากพิธีฮัจญ์ที่มีช่วงเวลาในการเดินทาง นอกจากการที่เราเป็นเมดิเคิลฮับ ทำให้ยังมีคนไข้ต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาในโรงพยาบาลซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบคนไข้ที่เข้ารับการรักษาที่เข้มข้น

นพ.โสภณ ยังกล่าวว่า เรามีมาตรการซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตะแกรง 3 ด่าน ด่านที่ 1 เริ่มต้นที่สนามบินที่จะต้องมีการตรวจผู้ที่เข้าออกอย่างเข้มงวด ด่านที่ 2 โรงพยาบาล และ ด่านที่ 3 คือ ชุมชนที่จะต้องให้ความร่วมมือ

“ต้องยอมรับว่าตะแกรงที่เราใช้ในการคัดกรองนั้นเป็นตะแกรงที่ห่างคงไม่สามารถตรวจจับได้ทั้งหมด เพราะในการตรวจผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ เราก็แค่ตรวจวัดไข้เท่านั้น อย่างเช่น ผู้ป่วยที่พบเชื้อนั้นในขั้นแรกก็เดินทางไปรักษาอาการเหนื่อยหอบยังไม่พบไข้ แต่มาปรากฏอาการในภายหลัง” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการให้ข้อมูลนั้น เราจะเน้นการสื่อสารตามความเป็นจริง แต่การให้ข้อมูลแต่ละครั้งนั้นก็ต้องรอผลตรวจที่ชัดเจนจากห้องแล็ป ซึ่งต้องยอมรับว่าห้องแล็ปในไทยยังอยู่ในระดับปฐมอยู่ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับมาตรการ ที่ใช้ดำเนินการกับหน่วยงานหรือผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนนั้น มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน

“ขณะนี้กรมควบคุมโรคติดต่อกำลังติดตามผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นชาวโอมานจำนวน 6 คนโดย 5 คนเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แท็กซี่อีก 1 คนซึ่งขณะนี้ยังติดตามไม่ได้ก็ประสานให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามทำตัวมาตรวจสอบตามขั้นตอนต่อไป” นพ.โสภณ กล่าว

ด้าน นพ.ยง ภู่วรวรรณ ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า โรคเมอร์สมีการตรวจพบมาตั้งแต่ปี 2555 ที่ประเทศแถบตะวันออกกลางโดยเชื้อของโรคนี้พบในอูฐโหนกเดียว ที่ผ่านมา 3 ปีพบผู้ป่วย 1,000 คนซึ่งโรคนี้จะไม่สามารถปราบได้ เนื่องจากไม่สามารถฆ่าอูฐซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ได้หมดทั้งโลก ไม่เหมือนกรณีไข้หวัดนกที่พบเชื้อในไก่ อย่างไรก็ตาม โรคเมอร์ส ไม่ได้ติดกันง่ายๆ ติดเชื้อยากกว่าโรคซาร์สถึง 5 เท่า จากสถิติพบว่า ผู้ที่ติดโรคเมอร์สที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จะไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้มีอายุ 40 - 50 ปี มีอัตราการตายเพียง 3% อายุ 50 - 60 ปี มีอัตราการตาย 11% แต่ที่อัตราการตายสูงที่สุด คือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปโดยมีอัตราการตายสูงถึง 50%

นพ.ยง กล่าวอีกว่า โรคดังกล่าวไม่น่ากลัวเหมือนโรคติดต่อชนิดอื่นๆ แต่ก็ไม่มีวัคซีนที่จะรักษาได้ โดยจะรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น แต่จะสามารถควบคุม ระมัดระวังไม่ให้โรคดังกล่าวเกิดการระบาดได้หากมีมาตรการที่ดีและโปร่งใส

นพ.เจตน์ กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่า โรคเมอร์สไม่ใช่โรคติดต่อที่น่ากลัวเหมือนโรคซาร์ส และ อีโบลา จึงไม่น่าวิตกกังวล อีกทั้งกรมควบคุมโรคก็มีมาตรการดูแลเฝ้าระวังป้องกันอย่างดีมีมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การยอมรับ และจนถึงขณะนี้ยังไม่ผู้ติดเชื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงต้องมีมาตรการในการป้องกันอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มาจากตะวันออกกลาง และ เกาหลีใต้ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น