xs
xsm
sm
md
lg

ตรวจระบบคัดกรอง “เมอร์ส” รพ.เอกชน ย้ำห้ามไล่ผู้ป่วย หวั่นจุดอ่อนคุมโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมช.สธ. ตรวจระบบคัดกรองโรคเมอร์ส รพ.เอกชน ย้ำห้ามขับไล่ผู้ป่วย หวั่นเป็นจุดอ่อนควบคุมโรค ชี้ หากรับรักษาไม่ได้ ให้แยกตัวผู้ป่วย ก่อนประสาน สธ. ขอรถพยาบาลรับตัวไปรักษาต่อ เผยผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังโรคไม่มีค่ารักษา รพ.เอกชน แจ้ง สธ. ประสานส่งตัว พร้อมช่วยจ่าย เหตุเป็นนโยบายป้องกันโรค



วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 12.00 น. นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ต.นพ.บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดี สบส. ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลป์ สบส. เดินทางมายัง รพ.สมิติเวช สุขุมวิท เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมมาตรการรับมือและเฝ้าระวังป้องกันโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส โดยมี นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผอ.รพ.สมิติเวช เป็นผู้อธิบายแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลายคนกังวลว่า รพ.เอกชน จะเป็นจุดอ่อนของการควบคุมโรคหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา รพ.เอกชน เมื่อพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อมักไม่ได้รายงานต่อ สธ. แต่สำหรับโรคเมอร์สถือเป็นโรคติดต่ออันตรายที่ต้องรายงานตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ รพ.เอกชน ก็มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว สำหรับการตรวจเยี่ยม รพ.เอกชน ในครั้งนี้ ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาเป็นจำนวนมาก ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการรับรักษาผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยโรคเมอร์ส ก็พบว่ามีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการคัดกรองโรค แยกผู้ป่วยทางเดินหายใจที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคในห้องแยกโรคความดันลบ เพียงแต่อยากแนะนำว่าเมื่อมีห้องแยกโรค ก็ควรมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อจำเพาะกรณีต้องสงสัยว่าจะเป็นเชื้อโรคติดต่อ เพื่อป้องกันเชื้อเล็ดลอดด้วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับความกังวลเรื่อง รพ.เอกชนปฏิเสธการรักษา เชื่อว่า คงไม่มี เพราะได้กำชับแล้ว โดยให้ทำตามแนวทางปฏิบัติของ สธ. หากเจอผู้ป่วยที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมีอาการไอ ไข้ อาการบ่งชี้ต้องสงสัยให้รับตัวไว้อยู่ในห้องแยกโรค พร้อมส่งตรวจเชื้อมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งรอผลประมาณ 6 - 8 ชั่วโมง โดย รพ.เอกชน ต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยและญาติ ว่า ยังกลับบ้านไม่ได้ ให้อยู่ที่ รพ. ก่อน และขอให้ รพ.เอกชน กำชับเจ้าหน้าที่อย่ากังวล และอย่าบอกให้ผู้ป่วยไปรักษาที่อื่น เพราะถือว่าผิดมาตรฐานสถานพยาบาล ส่วน รพ.เอกชน บางแห่ง หรือคลินิกที่ไม่มีความพร้อมในการรับดูแลผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยให้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 เพื่อประสานรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อ

ค่าใช้จ่ายระหว่างช่วงเฝ้าระวังโรคเมอร์ส 14 วันนั้น หากผู้ป่วยสามารถจ่ายเองได้ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่สามารถจ่ายได้ก็ให้ประสานมาที่ สธ. เพื่อรับตัวมาอยู่ในการเฝ้าระวังของ สธ. ซึ่ง สธ. จะออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมโรคที่รัฐบาลต้องลงทุน สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคเมอร์ส สธ. จะยังคงมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้นต่อไป จนกว่าประเทศที่ติดต่อด้วยจะพ้นจากการเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรค” รมช.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ดุลย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยต่างชาติส่วนใหญ่ของ รพ.สมิติเวช สุขุมวิท มักไม่ได้เป็นผู้ป่วยที่มาจากประเทศที่มีการระบาด แต่มักจะเป็นชาวญี่ปุ่น ยกเว้น รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ จะมีผู้ป่วยเด็กที่มาจากประเทศที่มีการระบาดอยู่บ้าง แต่ที่ผ่านมายังไม่พบผู้ป่วย ทั้งนี้ ก่อนรับผู้ป่วยต่างชาติ จะมีการติดต่อและคัดกรองก่อนเข้าประเทศไทยอยู่แล้วว่าเป็นโรคติดเชื้ออันตรายหรือไม่ หากพบก็จะขอความร่วมมือว่าอย่าเพิ่งเข้ามารักษา รวมไปถึงโรคเมอร์สด้วย สำหรับการคัดกรองผู้ป่วยเข้าข่ายสอบสวนโรค จะมีการแยกตัวออกมาจากพื้นที่ทั่วไป พร้อมการซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกายโดยเฉพาะอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เอกซเรย์ปอด และตรวจเลือดหาเชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีอาการคล้ายโรคเมอร์ส พร้อมเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งเพื่อตรวจหาเชื้อเมอร์สที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รพ.รามาธิบดี ซึ่งที่ผ่านมาพบผู้ป่วยชาวไทยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเมอร์สตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 4 ราย ซึ่งเดินทางกลับมาจากเกาหลีใต้ โดยผลการตรวจเชื้อพบว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ 1 ราย และไข้หวัดธรรมดา 3 ราย

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า ได้กำชับ รพ.เอกชน และคลินิกเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศแล้ว ว่า ให้มีระบบคัดกรองโรคตามมาตรฐานสถานพยาบาล และให้เข้มข้นขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะโรคเมอร์ส ส่วนที่เคยมีเจ้าหน้าที่ รพ.เอกชน บางแห่งไม่เข้าใจ และให้ผู้เข้าข่ายสงสัยโรคไปรักษาที่อื่นนั้น ได้มีการว่ากล่าวตักเตือน และกำชับ รพ.เอกชน อื่นๆ อย่าทำลักษณะนี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น