ASTVผู้จัดการรายวัน-สาธารณสุขออกประกาศฉบับ 2 กำหนดให้ประชาชนที่กลับจากพื้นที่เสี่ยง มีไข้ ไอ ต้องสงสัยป่วยเมอร์สต้องไปโรงพยาบาลทันที เจ้าบ้านต้องแจ้งรายละเอียดผู้ป่วยและผู้สัมผัสผู้ป่วย ฝ่าฝืนปรับ 2 พันบาท พร้อมแปลเป็นภาษาอังกฤษส่งสถานทูตทำความเข้าใจต่างชาติที่เดินทางมาไทย "สมศักดิ์"ย้ำรพ.เอกชน ห้ามไล่ผู้ป่วย หากเจอให้แจ้ง สธ.มารับตัวไปรักษาต่อ เผยล่าสุดยังตามผู้สัมผัสเมอร์อีก 6 รายไม่พบ เป็นต่างชาติ 5 แท็กซี่ 1
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศเจ้าพนักงานสาธารณสุขฉบับที่ 1 ให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติ เมื่อมีผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์ส ต้องแจ้ง สธ.ทันที ห้ามปฏิเสธการรับผู้ป่วย และถ้าต้องส่งต่อไปรักษาตัวที่อื่น ห้ามให้ผู้ป่วยเดินทางไปเองด้วยรถสาธารณะ ให้ส่งตัวด้วยรถพยาบาลที่มีการป้องกันการติดเชื้อแล้วเท่านั้น
ล่าสุด นพ.โสภณ ได้ลงนามในประกาศเจ้าพนักงานสาธารณสุข ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 24 มิ.ย.2558 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนกรณีโรคเมอร์ส มีสาระสำคัญ คือ 1.ให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะป่วย หรือผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด เพื่อรับการตรวจหรือรับการรักษาในทางการแพทย์ 2.ในกรณีที่มีการป่วยเกิดขึ้น หรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน แจ้งชื่อและที่อยู่ของตน ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้ป่วย โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ผู้ป่วยรับการรักษา วันที่เริ่มป่วย และอาการสำคัญของผู้ป่วย ให้แก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เริ่มมีการป่วยขึ้นหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยเกิดขึ้น และ 3.กรณีผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจจะป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ หรือกรณีเจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้านไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท
***ออกประกาศฉบับ2คุมเข้มมากขึ้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้ออกประกาศเพิ่มเติมในเรื่องการปฏิบัติตัวของประชาชน เมื่อกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรคแล้วป่วยเป็นไข้ ไอ และผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ ไอที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะมีโทษปรับ 2 พันบาท หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเป็นการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523
ทั้งนี้ จะมีการแปลประกาศดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและประสานไปยังสถานทูตต่างๆ ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเข้าใจมาตรการการป้องกันการระบาดในประเทศไทย
***สั่งติดตามนักเรียนไทยที่กลับจากซาอุฯ
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับนักเรียนไทยที่ไปศึกษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทยอยเดินทางกลับบ้านช่วงถือศีลอดและเทศกาลปีใหม่ ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูล และติดตามดูแลเฝ้าระวังโรคทุกคนเมื่อกลับถึงประเทศไทย เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังโรคผู้แสวงบุญฮัจญ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี
**ห้ามปฏิเสธผู้ป่วย แจ้งสธ.มารับตัว
วันเดียวกันนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ต.นพ.บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดี สบส. ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลป์ สบส. เดินทางมายัง รพ.สมิติเวช สุขุมวิท เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมมาตรการรับมือและเฝ้าระวังป้องกันโรคเมอร์ส โดยมี นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผอ.รพ.สมิติเวช เป็นผู้อธิบายแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจเยี่บยม รพ.เอกชนในครั้งนี้ เพราะเป็นโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาเป็นจำนวนมาก ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการรับรักษาผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยโรคเมอร์ส ซึ่งพบว่ามีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการคัดกรองโรค แยกผู้ป่วยทางเดินหายใจที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคในห้องแยกโรคความดันลบ และได้แนะนำว่าเมื่อมีห้องแยกโรค ก็ควรมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อจำเพาะกรณีต้องสงสัยว่าจะเป็นเชื้อโรคติดต่อ เพื่อป้องกันเชื้อเล็ดลอดด้วย และได้กำชับเจ้าหน้าที่อย่ากังวล อย่าบอกให้ผู้ป่วยไปรักษาที่อื่น เพราะถือว่าผิดมาตรฐานสถานพยาบาล ส่วน รพ.เอกชนบางแห่ง หรือคลินิกที่ไม่มีความพร้อมในการรับดูแลผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยให้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 เพื่อประสานรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อ
***ยันมีการคัดกรองผู้ป่วยก่อนรับเข้ารักษา
นพ.ดุลย์ กล่าวว่า ก่อนรับผู้ป่วยต่างชาติ จะมีการติดต่อและคัดกรองก่อนเข้าประเทศไทยอยู่แล้วว่าเป็นโรคติดเชื้ออันตรายหรือไม่ หากพบก็จะขอความร่วมมือว่าอย่าเพิ่งเข้ามารักษา รวมไปถึงโรคเมอร์สด้วย
***พบมีผู้เข้าข่ายสอบสวนโรคอีก14ราย
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เพื่อเตรียมพร้อมกรณีโรคเมอร์ส ว่า สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยโรคเมอร์สยืนยัน 1 ราย ผู้สัมผัสโรค 160 ราย ลดลงจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ไป 3 ราย เนื่องจากเดินทางออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้นอีก 14 ราย เป็น 72 ราย เนื่องจากมีผู้ที่เดินทางจากประเทศระบาดติดต่อเข้ามา เพื่อให้ตรวจหาเชื้อ โดยขณะนี้ไม่พบมีใครป่วยเพิ่มเติม
***ไล่หาตัวต่างชาติ-แท็กซี่อีก 6 ราย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์สัมผัสโรค ซึ่งโดยสารเครื่องมาพร้อมกับผู้ป่วยมีอยู่ 14 ราย ขณะนี้ตามตัวได้แล้ว 9 ราย ยังเหลืออีก 5 รายที่เป็นชาวต่างชาติ กำลังเร่งติดตาม นอกนั้นไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้ ขณะที่แท็กซี่ที่รับตัวผู้ป่วยเมอร์สไป รพ. ยังตามหาตัวอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแท็กซี่ที่ยังตามตัวไม่พบ หากไม่รายงานตัวใน 24 ชั่วโมงจะมีความผิดตามประกาศฉบับที่ 2 หรือไม่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าตัวอาจไม่รู้ ซึ่งหากตามตัวเจอและขอให้ไปเฝ้าระวังที่ รพ. แต่เจ้าตัวปฏิเสธ แบบนี้ถือว่าผิด แต่หากไม่ปฏิเสธและยอมเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง ก็ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างไร ประเด็นการออกกฎหมายก็เพื่อให้ยอมไปอยู่ในระบบเฝ้าระวังที่รพ.มากกว่า
***นายกฯ เชื่อเกาหลียังไม่จัดแข่งกีฬามหาลัย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ไทยเตรียมส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนหน้า ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการประเมิน และเสนอเรื่องขึ้นมา แต่ถ้าเชื้อโรคยังมีการระบาดอย่างหนักจริง ทางเกาหลีคงไม่จัดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ลงนามในประกาศเจ้าพนักงานสาธารณสุขฉบับที่ 1 ให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติ เมื่อมีผู้ป่วยต้องสงสัยโรคเมอร์ส ต้องแจ้ง สธ.ทันที ห้ามปฏิเสธการรับผู้ป่วย และถ้าต้องส่งต่อไปรักษาตัวที่อื่น ห้ามให้ผู้ป่วยเดินทางไปเองด้วยรถสาธารณะ ให้ส่งตัวด้วยรถพยาบาลที่มีการป้องกันการติดเชื้อแล้วเท่านั้น
ล่าสุด นพ.โสภณ ได้ลงนามในประกาศเจ้าพนักงานสาธารณสุข ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 24 มิ.ย.2558 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติสำหรับประชาชนกรณีโรคเมอร์ส มีสาระสำคัญ คือ 1.ให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองจะป่วย หรือผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วย ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด เพื่อรับการตรวจหรือรับการรักษาในทางการแพทย์ 2.ในกรณีที่มีการป่วยเกิดขึ้น หรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้าน แจ้งชื่อและที่อยู่ของตน ความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้ป่วย โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ผู้ป่วยรับการรักษา วันที่เริ่มป่วย และอาการสำคัญของผู้ป่วย ให้แก่เจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เริ่มมีการป่วยขึ้นหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีการป่วยเกิดขึ้น และ 3.กรณีผู้ป่วยหรือผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจจะป่วย หรือผู้ที่สัมผัสผู้ป่วย ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ หรือกรณีเจ้าบ้านหรือผู้ควบคุมดูแลบ้านไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 พันบาท
***ออกประกาศฉบับ2คุมเข้มมากขึ้น
นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้ออกประกาศเพิ่มเติมในเรื่องการปฏิบัติตัวของประชาชน เมื่อกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโรคแล้วป่วยเป็นไข้ ไอ และผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไข้ ไอที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติ และให้สถานพยาบาลสามารถดำเนินการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะมีโทษปรับ 2 พันบาท หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเป็นการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2523
ทั้งนี้ จะมีการแปลประกาศดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษและประสานไปยังสถานทูตต่างๆ ให้ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเข้าใจมาตรการการป้องกันการระบาดในประเทศไทย
***สั่งติดตามนักเรียนไทยที่กลับจากซาอุฯ
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับนักเรียนไทยที่ไปศึกษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ทยอยเดินทางกลับบ้านช่วงถือศีลอดและเทศกาลปีใหม่ ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สาธารณสุขอำเภอ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ ตรวจสอบข้อมูล และติดตามดูแลเฝ้าระวังโรคทุกคนเมื่อกลับถึงประเทศไทย เช่นเดียวกับการเฝ้าระวังโรคผู้แสวงบุญฮัจญ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาหลายปี
**ห้ามปฏิเสธผู้ป่วย แจ้งสธ.มารับตัว
วันเดียวกันนี้ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย น.ต.นพ.บุญเรืองไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ รองอธิบดี สบส. ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลป์ สบส. เดินทางมายัง รพ.สมิติเวช สุขุมวิท เพื่อตรวจเยี่ยมความพร้อมมาตรการรับมือและเฝ้าระวังป้องกันโรคเมอร์ส โดยมี นพ.ดุลย์ ดำรงศักดิ์ ผอ.รพ.สมิติเวช เป็นผู้อธิบายแนวทางปฏิบัติของโรงพยาบาล
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจเยี่บยม รพ.เอกชนในครั้งนี้ เพราะเป็นโรงพยาบาลระดับอินเตอร์ที่มีชาวต่างชาติเดินทางมารักษาเป็นจำนวนมาก ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในการรับรักษาผู้ป่วยเข้าข่ายต้องสงสัยโรคเมอร์ส ซึ่งพบว่ามีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการคัดกรองโรค แยกผู้ป่วยทางเดินหายใจที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคในห้องแยกโรคความดันลบ และได้แนะนำว่าเมื่อมีห้องแยกโรค ก็ควรมีห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อจำเพาะกรณีต้องสงสัยว่าจะเป็นเชื้อโรคติดต่อ เพื่อป้องกันเชื้อเล็ดลอดด้วย และได้กำชับเจ้าหน้าที่อย่ากังวล อย่าบอกให้ผู้ป่วยไปรักษาที่อื่น เพราะถือว่าผิดมาตรฐานสถานพยาบาล ส่วน รพ.เอกชนบางแห่ง หรือคลินิกที่ไม่มีความพร้อมในการรับดูแลผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยให้แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422 เพื่อประสานรับตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อ
***ยันมีการคัดกรองผู้ป่วยก่อนรับเข้ารักษา
นพ.ดุลย์ กล่าวว่า ก่อนรับผู้ป่วยต่างชาติ จะมีการติดต่อและคัดกรองก่อนเข้าประเทศไทยอยู่แล้วว่าเป็นโรคติดเชื้ออันตรายหรือไม่ หากพบก็จะขอความร่วมมือว่าอย่าเพิ่งเข้ามารักษา รวมไปถึงโรคเมอร์สด้วย
***พบมีผู้เข้าข่ายสอบสวนโรคอีก14ราย
นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมทางไกลร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เพื่อเตรียมพร้อมกรณีโรคเมอร์ส ว่า สถานการณ์ยังพบผู้ป่วยโรคเมอร์สยืนยัน 1 ราย ผู้สัมผัสโรค 160 ราย ลดลงจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ไป 3 ราย เนื่องจากเดินทางออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคเพิ่มขึ้นอีก 14 ราย เป็น 72 ราย เนื่องจากมีผู้ที่เดินทางจากประเทศระบาดติดต่อเข้ามา เพื่อให้ตรวจหาเชื้อ โดยขณะนี้ไม่พบมีใครป่วยเพิ่มเติม
***ไล่หาตัวต่างชาติ-แท็กซี่อีก 6 ราย
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์สัมผัสโรค ซึ่งโดยสารเครื่องมาพร้อมกับผู้ป่วยมีอยู่ 14 ราย ขณะนี้ตามตัวได้แล้ว 9 ราย ยังเหลืออีก 5 รายที่เป็นชาวต่างชาติ กำลังเร่งติดตาม นอกนั้นไม่มีอาการใดๆ บ่งชี้ ขณะที่แท็กซี่ที่รับตัวผู้ป่วยเมอร์สไป รพ. ยังตามหาตัวอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีแท็กซี่ที่ยังตามตัวไม่พบ หากไม่รายงานตัวใน 24 ชั่วโมงจะมีความผิดตามประกาศฉบับที่ 2 หรือไม่ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดี คร. กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าตัวอาจไม่รู้ ซึ่งหากตามตัวเจอและขอให้ไปเฝ้าระวังที่ รพ. แต่เจ้าตัวปฏิเสธ แบบนี้ถือว่าผิด แต่หากไม่ปฏิเสธและยอมเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง ก็ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างไร ประเด็นการออกกฎหมายก็เพื่อให้ยอมไปอยู่ในระบบเฝ้าระวังที่รพ.มากกว่า
***นายกฯ เชื่อเกาหลียังไม่จัดแข่งกีฬามหาลัย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีที่ไทยเตรียมส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนหน้า ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการประเมิน และเสนอเรื่องขึ้นมา แต่ถ้าเชื้อโรคยังมีการระบาดอย่างหนักจริง ทางเกาหลีคงไม่จัดขึ้น