xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งสงขลารวมตัวยื่นหนังสือถึง “นายกรัฐมนตรี” จี้แก้ปัญหาราคากุ้งขาวตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา 3 กลุ่ม รวมตัวยื่นหนังสือผ่านทางจังหวัดไปยังนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาราคากุ้งขาวตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ชี้ผลกระทบจากมาตรการประกันราคารับซื้อ และนโยบายการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (9 ต.ค.) เครือข่ายเกษตรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา เริ่มออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหลังจากที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งขาวตกต่ำ โดยที่ศาลากลาง จ.สงขลา เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง 3 กลุ่ม นำโดย นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา และนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง จ.สงขลา

รวมตัวเข้ายื่นหนังสือให้แก่ นายเอกรัฐ หลีเส็น รองผู้ว่าราชการ จ.สงขลา ผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาราคากุ้งขาวตกต่ำอย่างผิดปกติ นอกจากนี้ ยังมีการสะท้อนปัญหา และแนวทางแก้ไขให้แก่ส่วนราชการใน จ.สงขลา ได้รับทราบ

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา ทั้ง3 กลุ่ม ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ทำให้ราคากุ้งทุกขนาดตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้กุ้งขนาด 40 ตัวต่อกิโลกรัมจาก 270 บาท เหลือ 200 บาท ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม จาก 220 บาท เหลือ 160 บาท และขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม จาก 200 บาท เหลือ 140 บาท

 
ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มห้องเย็นออกแคมเปญการประกันราคารับซื้อกุ้ง และเป็นการชี้นำให้ราคากุ้งตกต่ำลง โดยก่อนหน้าที่จะมีการประกันราคารับซื้อกุ้ง ราคากุ้งหน้าฟาร์มจะสูงกว่าราคาที่เสนอรับประกัน รวมทั้งการอนุญาตให้มีการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินโดนีเซีย เข้ามาของกรมประมง จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศ เพราะเป็นการตีตลาดกุ้งไทย และสิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดคือ โรคกล้ามเนื้อขาวขุ่น ที่มีการระบาดอย่างรุนแรงในประเทศอินโดนีเซีย จนเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว มีโอกาสเข้ามาปนเปื้อนในไทย และยิ่งทำให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก

นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา เปิดเผยว่า ข้อเสนอที่ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งต้องการให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา และช่วยเหลือ เช่น การประกันราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ เช่น กุ้งขนาด 60-100 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต้องสูงกว่าราคาที่ประกาศเสนอรับซื้ออีก 30 บาทต่อกิโลกรัม หรือ ขนาด 40-50 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาต้องสูงกว่า 50 บาท

ต้องยับยั้งนโยบายการนำเข้ากุ้งจากประเทศอินโดนีเซีย ให้ตรวจสอบโครงการประกันราคารับซื้อกุ้งของห้องเย็นบางห้องเย็น เพราะหลังโครงการนี้ออกมาทำให้ราคากุ้งตกต่ำลงทันทีกิโลกรัมละ 30-40 บาท จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง และขยายวงเงินสินเชื่อ และให้กรมประมงแต่งตั้งตัวแทนสมาพันธ์เกษตรกร จ.สงขลา ติดตามการดำเนินการแก้ปัญหาในครั้งนี้ และต้องได้รับคำตอบจากรัฐบาลภายใน 30 วัน แต่หากยังไม่มีผลปฏิบัติที่ชัดเจนทางเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใน จ.สงขลา อาจจะมีการยกระดับการเคลื่อนไหวให้เข้มข้นต่อไป



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น