ตรัง - ส.อบจ.ตรัง ขอความชัดเจนโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน หลังถูก สตง.ท้วงติง และจะเรียกคืนเงินย้อนหลังร่วม 43 ล้านบาท ด้านนายก อบจ.ยันตั้งงบปี 59 เดินหน้าต่อ แต่รอกฤษฎีกาตีความ
วันนี้ (29 ก.ย.) นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง กล่าวในการประชุมสภา อบจ.ตรัง สมัยวิสามัญ สมัยที่ 2 ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ว่า ด.ต.ชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย สมาชิกสภา อบจ.ตรัง เขตอำเภอเมืองตรัง รวมทั้งสมาชิกสภา อบจ.หลายคน ได้แสดงความคิดเห็น และสอบถามผู้บริหาร และปลัด อบจ.ตรัง ถึงกรณีมีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัดตรัง ได้ส่งหนังสือแจ้ง อบจ.ตรัง เป็นจำนวนถึง 2 ครั้ง เพื่อให้ยกเลิกการจัดทำโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน เนื่องจากไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และจะเรียกคืนเงินย้อนหลังร่วม 43 ล้านบาทนั้น อยากให้ผู้บริหาร หรือหัวหน้าส่วนราชการ อบจ.ตรัง อธิบายกฎหมาย กฎระเบียบ และโดยเฉพาะในเดือนตุลาคม ซึ่งจะมีการเสนอข้อบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2559 ว่า ควรดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ นายก อบจ.ตรัง ยืนยันว่า ตลอด 13 ปีที่ดำเนินโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน มีประชาชนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 185,000 คน ส่วนการที่ สตง.ท้วงติงว่า เป็นหน้าที่พื้นๆ ใครก็ทำได้ และส่วนอื่นมองว่าหาประโยชน์นั้น แต่เนื่องจาก อบจ.ตรัง ทำไม่เหมือนจังหวัดอื่น เพราะมีหมอมาแปรผลเลือด และปัสสาวะ พร้อมให้ความรู้ด้านสุขภาพ และการป้องกันตัวเองแก่ประชาชนด้วย ส่วนรายละเอียดอื่นไว้สู้กัน แต่ย้ำว่าเป็นโครงการที่ทำตามนโยบายที่ให้ไว้ในสภา อบจ.ตรัง ในการที่จะดูแลสุขภาพประชาชน เพราะจังหวัดตรังเป็นเมืองคนช่างกิน และสำนักงานสาธารณสุขเองก็นึกว่าจะป้องกันดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไร อบจ.ตรัง จึงได้มาช่วยเสริม และเกิดโครงการนี้ขึ้น ดังนั้น อบจ.ตรัง ยืนยันว่าจะบรรจุโครงการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชน ในข้อบัญญัติงบประมาณ ประจำปี 2559 แต่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามการตีความของกฤษฎีกา
ด้าน นางสุภมาส ศรมณี ปลัด อบจ.ตรัง กล่าวว่า การเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนเป็นภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข ส่วน อบจ.มีหน้าที่ในการส่งเสริม หรือสนับสนุนเท่านั้น ซึ่งการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในช่วงที่ผ่านมานั้นเนื่องจาก อบจ.มองว่ากฎกระทรวงได้มอบอำนาจให้ อบจ.มีหน้าที่ในการป้องกันดูแลการสาธารณสุขของประชาชน และยังมีประกาศของคณะกรรมการกระจายอำนาจที่ให้ อบจ.จัดทำภารกิจที่เป็นประโยชน์โดยภาพรวมของทั้งจังหวัดได้
เบื้องต้นในอันดับแรก อบจ.ตรัง จะทำการชี้แจงเหตุผลข้อกฎหมายต่อทาง สตง.ไปก่อน และผู้วินิจฉัยคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่าไม่เป็นผลดีต่อ อบจ.ก็จะมีการส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความ หรืออาจมีการฟ้องร้องถึงศาลปกครอง ซึ่งจะเป็นทางเลือกอันดับสุดท้าย