สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 59 เสียง ขณะที่ “วิษณุ” ชมทำงานรอบคอบเหมือนสภาฯ เลือกตั้ง รับปากนำเงินไปใช้ประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (27 ส.ค.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เป็นรายมาตราในวาระที่ 2 ภายหลังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่ได้พิจารณาแล้วเสร็จ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.การกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ชี้แจงว่า กมธ.ได้ให้ความสำคัญ สอดคล้อง เชื่อมโยง กับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และการบูรณาการ กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ จากงบประมาณที่ตั้งไว้จำนวน 2.72 ล้านล้านบาท ได้มีการปรับลดทั้งสิ้น 20,582 ล้านบาท โดยพิจารณาจากรายการงบประมาณต่างๆ ที่สามารถประหยัดได้ ทั้งโครงการงบประมาณที่สามารถใช้จากแหล่งอื่นได้ และนำไปปรับเพิ่มไว้ในส่วนของรายจ่ายงบกลางที่อยู่ในการควบคุมของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นงบประมาณตามแผนงานเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และเพื่อเป็นการเตรียมสำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยการจัดสรรงบประมาณยึดหลักการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง มีการเปรียบเทียบการใช้จ่ายงบประมาณระหว่างปีปัจจุบันและปีที่ผ่านมาเพื่อปรับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พิจารณาค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม สัมมนาต้องไม่มีความซ้ำซ้อน คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับและความคุ้มค่า
ส่วนหน่วยงานที่มีการปรับลดงบประมาณมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 3,055 ล้านบาท รองลงมากระทรวงคมนาคม ปรับลดจำนวน 2,784 ล้านบาท และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถูกปรับลดจำนวน 2,554 ล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหม ถูกปรับลดไปทั้งสิ้น 1,257 ล้านบาท สำหรับการงบประมาณที่ปรับลดนั้น กมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาเพิ่มเติมให้กับงบกลาง จำนวน 20,582 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เท่ากับจำนวนที่ได้ปรับลดลงเพื่อสำรองจ่ายกรณีที่จำเป็น ฉุกเฉิน และรองรับการดำเนินงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ หน่วยงานที่ถูกปรับลดงบประมาณนั้นทาง กมธ.วิสามัญฯ ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษถึงความพร้อม ศักยภาพของการทำงาน และผลการทำงานที่ผ่านมาเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามงบประมาณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในรายมาตราเป็นไปอย่างราบเรียบ และพิจารณาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีสมาชิกสงวนคำแปรญัตติเพียง 2 คน อาทิ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. ที่แปรญัตติขอปรับลดงบกลางในส่วนของเงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 2.57 เปอร์เซ็นต์ จากวงเงิน 1,000 ล้านบาท เนื่องจากหากย้อนหลังไปดูงบประมาณปี 56 ตั้งงบส่วนนี้ไว้ 3,000 ล้านบาท แต่ใช้จ่ายไป 99.27 เปอร์เซ็นต์ ปี 57 ตั้งงบ 1,100 ล้านบาท ใช้จ่ายไป 94.81 เปอร์เซนต์ และล่าสุดปี 58 ตั้ง 1,000 ล้านบาท แต่ใช้จ่ายไปเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปี59 ที่ตั้งงบไว้ 1,000 ล้านบาท เกรงว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้เท่ากับที่ตั้งไว้จึงเสนอปรับลดเช่นเดียวกับ เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 82,963 ล้านบาท ที่ได้เสนอแปรญัตติปรับลดงบประมาณ 0.004 เปอร์เซนต์ เพราะ ปี 56 ตั้งงบไว้ 73,700 ล้านบาท ใช้จ่ายไป 99.87 เปอร์เซ็นต์ ปี 57 ตั้งงบ 72,500 ล้านบาท ใช้จ่ายไป 84.01 เปอร์เซ็นต์ ล่าสุดปี 58 ตั้งงบไว้ 88,823 ล้านบาท ใช้แต่จ่ายแค่ 18.66 เปอร์เซนต์ ดังนั้น งบปี 59 ที่ตั้งไว้ 82,963 ล้านบาท และนำมาจากส่วนอื่นๆอีก 2 หมื่นล้านบาท รวมเป็นหนึ่งแสนล้านบาท นั้น จะเห็นว่าไม่มีรายละเอียดแผนการใช้จ่าย จึงเห็นควรจะนำเงินที่ไม่ได้เบิกจ่ายมาเก็บไว้เป็นเงินคงคลัง
หลังจากอภิปรายครบรายมาตราแล้ว ที่ประชุมได้มีมติรับหลักการวาระ3 ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 184 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ติดภารกิจไปราชการที่ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวขอบคุณสมาชิก สนช.ที่ให้ความเห็นชอบ และคณะกรรมาธิการฯ ที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วยความเหนื่อยยากตลอด 3 เดือน และเท่าที่ดูเนื้อหา เห็นว่าเป็นการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ได้เป็นไปอย่างที่มีเสียงค่อนขอด ว่าสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งไม่ได้ทำหน้าที่แตกต่างจากสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งสมาชิกหลายท่านก็อาศัยประสบการณ์ความเป็นข้าราชการนำปัญหาต่างๆ มาสะท้อนได้อย่างละเอียดชัดเจน กฎหมายงบประมาณถือว่าเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญที่สุด เพราะไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายการเงินเท่านั้น แต่เกี่ยวกับความเป็นความตายของประเทศ เป็นเครื่องมือใช้ขับเคลื่อนนโยบายประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ รวมทั้งวางรากฐานเพื่อพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์ 20 ปี
ส่วนข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ และสมาชิกก็จะนำเข้าที่ประชุม ครม. และส่งไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณา ครั้งนี้เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งที่ 2 และมีโอกาสที่จะทำอีกเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งนายกฯ ฝากว่ารัฐบาลขอให้ความมั่นใจว่าจะนำเงินงบประมาณไปใช้จ่ายให้ตรงต่อความประสงค์ของสมาชิก และตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป