xs
xsm
sm
md
lg

ชุมชนไบโอดีเซลยะลาเจอทางตันมาตรการคุ้มครองผู้ประกอบการ ยันทำตามแนวทางพระราชดำริต่อไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ยะลา - กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซลยะลา เจอทางตัน มาตรการคุ้มครองผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่หวั่น! พร้อมทำตามแนวทางโครงการพระราชดำริต่อไป

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซล ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา นายยศพลพัฒ บุนนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซล จ.ยะลา ได้ให้การต้อนรับ ดร.สัญห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอดีเซล จาก ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และตัวแทนมูลนิธิชัยพัฒนา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เจ้าหน้าที่อาวุโส สำนักพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ยะลา พร้อมทั้งสมาชิกกลุ่มฯ จำนวนหนึ่ง

โดยมี นายไพโรจน์ แก้วสวน พลังงาน จ.ยะลา ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือมาตรการและว่าด้วยระเบียบของไบโอดีเซล และคุณภาพของน้ำมันไบโอดีเซลชุมชน แบบ บี 100 ที่ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซลยะลา ได้ผลิตขึ้นโดยใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วตามท้องตลาด และชุมชนให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ มาตรฐานน้ำมันไบโอดีเซล บี 100 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซลยะลา ได้ผลิตขึ้นนั้นได้ผ่านมาตรฐานการตรวจสอบ 13 ข้อ ตามมาตรฐานของกระทรวงพลังงาน ซึ่งทาง ดร.สัญห์ชัย กลิ่นพิกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันไบโอดีเซล ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ได้เข้าตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการผลิต พร้อมกับตัวแทนจากมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อดำเนินการให้การช่วยเหลือให้เกิดความยั่งยืนในการน้อมนำเอาโครงการพระราชดำริไบโอดีเซล มาประยุกต์ใช้ในชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

 
โดย นายยศพลพัฒ บุนนาค ได้อธิบายขั้นตอนการรวบรวมวัตถุดิบ และขั้นตอนการผลิต แต่ที่น่าชื่นชม และได้สร้างความภูมิใจของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยะลาไบโอดีเซล คือ โดยการจัดตั้งเครือข่ายผู้พิการ และผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสใน จ.ยะลา และจังหวัดใกล้เคียง ให้เป็นผู้รับซื้อน้ำมันน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วตามท้องตลาดและชุมชน เพื่อเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ตามศักยภาพของบุคคลนั้นๆ เป็นการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ผู้พิการ และผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสอีกทางหนึ่ง

ซึ่งขณะนี้มีผู้พิการ และผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสที่สนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 คน ทำให้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยะลาไบโอดีเซล มีวัตถุดิบเพิ่มมากขึ้นประมาณกว่า 20,000-30,000 ลิตรต่อเดือน โดยทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยะลาไบโอดีเซลได้รับซื้อในราคากิโลกรัมละ 10.00 บาท เท่ากับทำให้เครือข่ายผู้พิการ และผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสมีรายได้เฉลี่ยโดยรวมหลัก 2-3 แสนบาทในแต่เดือน ให้เกิดความยั่งยืนในการน้อมนำเอาโครงการพระราชดำริไบโอดีเซลมาประยุกต์ใช้ในชุมชน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ขณะเดียวกัน ยังช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมจากการทิ้งน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วลงสู่แม่น้ำลำคลองอีกทางหนึ่ง และยังมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลอีกด้วย

 
นายไพโรจน์ แก้วสวน พลังงาน จ.ยะลา ได้กล่าวในที่ประชุมหารือว่าตามกฎหมายในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลนั้นแบ่งเป็น 2 มาตรฐาน คือ 1.การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลระดับชุมชน ซึ่งมีการตรวจมาตรฐานทั้งหมด 13 ข้อ 2.การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีการตรวจมาตรฐานทั้งหมด 24 ข้อ ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถที่จะผลิตจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล บี 100 ตามมาตรฐานชุมชนให้แก่สมาชิก และบุคคลทั่วไปที่จะนำไปใช้ตามแต่ความเข้าใจของผู้ใช้ หรือภูมิความรู้ของแต่ละคน เพียงแต่ไม่สามารถที่จะจดทะเบียนการค้าขายน้ำมันไบโอดีเซลเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากมีมาตรฐานการตรวจสอบมากถึง 24 ข้อ และจะต้องส่งไปตรวจสอบที่ห้องแล็บที่มีมาตรฐาน และมีค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 40,000 บาท ซึ่งเป็นแล็บที่มีมาตรฐาน กำหนดโดยกระทรวงพลังงาน ทุกล็อตที่มีการผลิตตามมาตรการคุ้มครองผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทย ของกระทรวงพลังงาน และยังมีข้อกำหนดข้อกฎหมายว่าด้วยการกักตุนน้ำมันไบโอดีเซลได้ไม่เกิน 400 ลิตรในแต่ละจุดที่ตั้งขาย อีกทั้งการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล แบบ บี 100 ในแต่ละครั้งต้องมีการนำตัวอย่างน้ำมันไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบจากแล็บที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง ซึ่งมีค่าดำเนินการใช้จ่ายครั้งละประมาณ 20,000 บาท

นอกจากนี้ หากมีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล แบบ บี 100 ก็จำเป็นจะต้องมีป้ายแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ซื้อได้รับทราบว่า เป็นน้ำมันไบโอดีเซลแบบ บี 100 สำหรับใช้ในเครื่องยนต์สูบเดียวแนวนอนระบายความร้อนด้วยน้ำ นั่นก็หมายถึงเป็นเครื่องยนต์การเกษตรรอบต่ำ ด้านนายยศพลพัฒ บุนนาค ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไบโอดีเซลยะลา ได้รับฟังข้อพิจารณาจากท่านไพโรจน์ แก้วสวน พลังงาน จ.ยะลา ก็ยอมรับว่า มีความหนักใจในข้อกำหนดต่างๆ อยู่บ้าง ถึงแม้ว่าความเป็นจริงการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี 100 หรือจะใช้ไบโอดีเซลชนิดผสมเป็น บี 50 (ไบโอดีเซลครึ่งและดีเซลครึ่ง = บี 50) ตามแต่ทักษะภูมิความรู้ของสมาชิกผู้ใช้เองใช้ได้ดีและใช้กันมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ยอมรับ และเคารพตามกฎ และข้อกำหนดของกระทรวงพลังงาน

 
อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนยะลาไบโอดีเซลพร้อมเดินหน้าทำงานเพื่อน้อมนำโครงการตามแนวพระราชดำริผลิตน้ำมันไบโอดีเซลต่อไป เพื่อช่วยในด้านการประหยัดพลังงานของชาติ และร่วมรณรงค์กับชุมชนต่างๆ และสำนักงานสาธารณสุข จ.ยะลา ในเรื่องการบริโภคน้ำมันทอดซ้ำเกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้น้ำมันทำปฏิกิริยาก่อให้เกิดสารโพลาร์ ซึ่งเป็นสารที่ก่อมะเร็ง และเครือข่ายสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ยะลา ซึ่งดูแลผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อม จ.ยะลา ห้ามการนำน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วไปทิ้งจะก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก และทางน้ำ ให้นำกลับมาแปรรูปเป็นพลังงานทดแทนซ้ำ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือพลังงานสีเขียวที่ทุกภาคส่วนในโลกนี้ให้ความสนใจ และมีความต้องการพลังงานในรูปแบบนี้อย่างมาก

อีกทั้งเป็นการขยายโอกาสให้การช่วยเหลือเครือข่ายผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสไม่น้อยกว่า 1,000 คน ให้มีรายได้จากการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้วผลิตเป็นไบโอดีเซล โดยในอนาคตอันใกล้นี้ทางกลุ่มฯ ได้ปรึกษาหารือกับทางสหกรณ์ จ.ยะลา ว่าด้วยการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อความมั่นคง และขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด เพื่อเป็นส่วนร่วมในการทำงานน้อมนำโครงการตามแนวพระราชดำริ และสร้างอาชีพสร้างรายได้ขยายโอกาสไปสู่เครือข่ายผู้พิการ และผู้ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสอีกนับหมื่นคน เพื่อจะเป็นการนำร่องไปสู่จังหวัดอื่นๆ ต่อไปเมื่อมีโอกาส โดยได้รับคำกล่าวชมจาก ดร.สัญห์ชัย กลิ่นพิกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านไบโอดีเซล จาก ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และทีมงานตัวแทนมูลนิธิชัยพัฒนา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น