โดย..ระพี มามะ ผู้สื่อข่าวพิเศษ จ.นราธิวาส
จังหวัดยะลา ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ดินแดนสวรรค์สำหรับ นักท่องเที่ยว ที่หลงใหลในธรรมชาติ วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกับธรรมชาติ ได้อย่างลงตัว
ในแต่ละปี จ.ยะลา ได้รองรับ นักท่องเที่ยวอย่างไม่ขาดสาย ผ่านกิจกรรมต่างๆ และปัจจุบันภาครัฐได้ผลักดันและให้ความสำคัญในทุกมิติ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างความสุขและความประทับใจให้กับ นักท่องเที่ยว โดยใช้ต้นทุนของธรรมชาติที่มีอยู่นำมาบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีความเป็นอยู่ของชุมชน ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายในด้านต่างๆ
"ป่าฮาลาบาลา” ก็เป็นแหล่งสถานที่หนึ่ง ที่มีป่าเขา อุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย และได้รับ ขนานนามว่า เป็น “อะเมซอนเมืองประเทศไทย”
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนราธิวาส ยังคงคัดสรรกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและเป็นตัวขับเคลื่อนผ่านกิจกรรม ปั่นสองน่อง ล่องเรือ ท่องป่าฮาลาบาลา เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับพื้นที่
ซึ่งมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 250 ชีวิต ร่วมปั่นจักรยานคู่ใจ เพื่อนำเที่ยวพิชิตเส้นทางกว่า 60 กม. มุ่งสู่ปลายทางเขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ในช่วงการปั่นจักรยาน ได้แวะสถานที่สำคัญ คือ สะพานยือลาปัน ซึ่งเป็นสะพานเหล็กที่แห่งเดียว ที่คงเหลืออยู่ อายุราว 85 ปี ก่อสร่างสมัยสงครามโลก
สะพานยือลาปัน เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปัตตานี บนทางหลวงท้องถิ่น เลขที่ 410 บริเวณ กิโลเมตรที่ 35 (นับจากจังหวัดยะลา) บ้านยีลาปัน ตำบลตะลิ่งชัน อำเภบันนังสตา จังหวัดยะลา มีความกว้าง 6 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร พื้นสะพานเป็นเหล็กแบบรังผึ้ง ตัวโครงสร้างทั้งหมดเป็นเหล็กกล้าล้วนๆ สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวๆ ปี พ.ศ. 2485 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่น ยกพลขึ้นบกแถวชายฝั่งภาคใต้และยึดครองแหลมมาลายู หรือประเทศสหพันธรัฐมาเลเชียในปัจจุบัน
โดยหากย้อนไปไกลกว่านั้น จุดตรงสะพานนี้ ก็คือท่าแพของคนโบราณ ที่เดินทางข้ามไป-มาระหว่างฝั่งเมืองยะลากับเบตง หรือเพื่อเดินทางไปแหลมมาลายู เป็นเส้นการค้าระหว่างเมืองปัตตานี กับเมืองเคดาห์หรือไทรบุรีที่สำคัญ โดยกองคาราวานที่จะต้องเดินทางผ่านโดยการข้ามแม่น้ำปัตตานี ด้วยแพ ณ จุดนี้ และใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง
ยิ่งถ้าย้อนไปยุคของคนบ้านฮาลา หมู่บ้านที่สาบสูญ ยิ่งน่าสนใจ เพราะคนฮาลาจะตัดไม้ไผ่จากหมู่บ้านกลางป่าลึก ร่องลงมาตามสายน้ำจนกระทั่งแพไม้ผ่ามาถึงตรงจุดนี้ ก็จะเก็บกล้วย ผลไม้ เพื่อเอาไม้ไผ่ ของป่า ผลไม้ และกล้วย ไปแลกกับเกลือ และกะปิที่ท่าเรือเมืองปัตตานี สำหรับสมาชิกชาวฮาลาใช้กิน ประกอบอาหารกัน ทั้ง 3 หมู่บ้าน นี่คือวิถีชีวิตของคนโบราณที่ชวนประทับใจ ครั้งเมื่อผู้เขียนได้ไปเข้าค่ายเยาวชนอนุรักษ์ฯ และมีโอกาสนั่งคุยกับผู้เฒ่าฮาลาในครั้งนั้น ซึ่ง วันนี้ สะพานยีลาปัน ยังคงอยู่ ยังคงตั้งตระหง่านท้าทายสายลม แสงแดด และสถานการณ์ไฟใต้ วันหน้าหากเหตุการณ์สงบ หากบ้านนี้เมืองนี้หันหน้าเข้าหากัน เราคงได้เห็นกรุ๊ปนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ชาวอังกฤษ ได้มายืนถ่ายรูป มายืนรำลึก ซึมซับ ถึงอดีตกาล
นายอะหมาน หมัดอะดัม ผอ.ททท.สนง.นราธิวาส บอกกับเราว่า กิจกรรมปั่นสองน่อง ล่องเรือ ป่าฮาลาบาลา เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนภาคใต้ เพราะตลอดระยะเวลา 11 ปีโดยประมาณในห้วงที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซบเซาอย่างมาก เพราะสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวไม่กล้ามาในพื้นที่ 3 จ.ชายแดนภาคใต้ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัย การที่ประชาชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมพลังกายและใจ ปั่นจักรยาน ซึ่งใหญ่เป็นนำเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ยะลา ซึ่งจะสะท้อนบอกกับคนต่างพื้นที่ว่า ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ยังคงมีความปลอดภัย สำหรับนักท่องเที่ยว แหล่งธรรมชาติ อารยะธรรม ศาสนา วัฒนธรรม ธรรมชาติ อาหารการกิน ที่นี้ มีความพร้อมทุกด้าน และพร้อมน้ำใจคนในพื้นที่พร้อมรอยยิ้ม ที่คุณหรือนักท่องเที่ยวจะประทับใจอย่างแน่นอน
กิจกรรมปั่นสองน่องยังผ่านไปยังเส้นทางที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และเข้าไปในเขตพื้นที่ เขื่อนบางลาง ซึ่งเป็นที่คดเคี้ยว เขาสูงชั้น สองข้างทางเต็มด้วยป่าไม่ที่อุดมสมบูรณ์ แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่นักปั่น ก็ไม่ลดละความพยายาม เพื่อให้จะถึงจุดหมายและสัมผัส พื้นที่ป่าฮาลาบาลา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาที่อยู่คู่กับคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน
ผืนป่าฮาลาบาลา ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างอำเภอเบตง จังหวัดยะลากับอำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส ขนาดพื้นที่ประมาณ 165,100 ไร่ ป่าทั้งสองผืนถูกประกาศรวมอยู่ภายใต้การจัดการของเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเดียวกันชื่อ "ฮาลา-บาลา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาสันกาลาคีรี ป่าฮาลา-บาล เป็นป่าดงดิบชื้นที่สมบูรณ์หรือ Tropical Rain Forest มักเรียกอีกคำหนึ่งว่าป่าฝนเขตร้อน เป็นป่าที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากที่สุดของโลก เป็นแหล่งของตัวยามากมายที่ช่วยชีวิตคนจากโรคร้าย มีความชุ่มชื้นสูง มีฝนตกตลอดปี ปริมาณน้ำฝนไม่ต่ำกว่า 2,000 มิลลิเมตรต่อปี ไม่มีฤดูแล้ง พืชพันธุ์ไม้ที่สำคัญ เช่น สยาแดง ตะเคียนซันตาแมว ตันยวน ฟิน ประ ตันพันรู ปุด ต้นโสก ต้นปอ ว่านพังพอน ไม้ยาง หวาย กะพ้อ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์และสัตว์ชนิดใหม่ของเมืองไทยที่พบ เช่น นกเงือกหัวแรด นกเงือกชนหิน นกเงือกปากยน นกเงือกดำ ชะนีมือดำ กระซู่ สมเสร็จ แมวลายหินอ่อน นกโพรดกหนวดแดง นกโพรดกคิ้วดำ นกกระยางดำ นกมุ่มรกภูเขา นกเงือกหัวหงอก นกเงือกกรามช้าง นกแก้ว และนกกก และนกชนิดอื่นกว่า 300 ชนิด
ความหลงใหลธรรมชาติ นางสาวเมธิณ พงศ์รัชะการัณ นักปั่นจักรยานเสือภูเขา และนักท่องเที่ยว ชาวจังหวัดสงขลา ได้มาเที่ยวครั้งแรก ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สัมผัสป่าเขา ล่องเรือ เดินป่า ซึ่งเธอชื่นชมมาก และคิดไม่ถึงว่า ความสวยงามของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะมากมายและงดงาม เกินบรรยาย ทั้งป่า เขา แม่น้ำสดใส
“ฉันว่า มันเป็นความสวยงามมาก ที่ผ่านมา เราไปเสียเงินทองไปเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ทั้งที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทะเล มีเขา มีป่า มีน้ำตกมีแทบทุกอย่างทุกมุม เพียงแต่ประชาชนในพื้นที่ ต้องพร้อมใจเป็นเจ้าบ้าน ที่ดีเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ที่จะสร้างรายได้เข้าพื้นที่ สำหรับดิฉัน คงมาเยือนอีกแน่นอน เพราะประทับใจมากๆ และจะเชิญชวน ชาวต่างจังหวัด และชาวต่างประเทศมาท่องเที่ยว 3 จ.ชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน”
ท่ามกลางสถานการที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หลายๆ พื้นที่เกิดรอยร้าวและช่องว่าง นำมาซึ่งความหวาดกลัวและหวาดระแวงจากคนต่างพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันด้วยความมุ่งมั่นของภาครัฐและความร่วมมือจากประชาชนทำให้ วันนี้จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงความสวยงามและความสงบสุขที่ดำเนินอยู่ เพราะทุกคนเชื่อว่า ธรรมชาติยังคงมอบสิ่งสวยงามเสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่หรือจะเผชิญกับเหตุการณ์ใดอยู่ก็ตาม