xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเล่าจากคาบสมุทรมลายู : อันเนื่องมาจากรางวัล “สันติประชาธรรม” (๒) / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์  :  คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย 
 
บทบาทในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพของเงินบาทของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นับตั้งแต่เริ่มรับราชการใหม่ๆ สะท้อนให้เห็นแนวคิดว่า รัฐบาลที่ทันสมัย และมีเหตุผลควรมีวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ  ๓  ประการคือ
 
๑.การพัฒนา  คือ การเพิ่มขึ้นของรายได้ และทรัพย์สินของประเทศชาติ
 
๒.เสถียรภาพ  คือ การจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ใช่แบบหยุดชะงัก และเร่งเป็นช่วงๆ
 
๓.ความเป็นธรรมทางสังคม  คือ การกระจายทรัพย์สินให้เป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน
 
คำบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ของอาจารย์ป๋วย สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๔  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้รับการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ  เศรษฐกิจประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๘  ส่วนคำบรรยายเกี่ยวกับหลักธรรมจริยา ซึ่งควรยึดถือในทางเศรษฐศาสตร์เน้นว่า ธรรมและศีลตามหลักพุทธศาสนานั้นมีความสอดคล้องกันในทางเศรษฐศาสตร์  ด้วยธรรมหมายถึงการช่วยเหลือให้บุคคล และสังคมโดยรวมดีขึ้น  ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ  ความยุติธรรม  ส่วนศีลหมายถึง การละเว้นจากการสร้างความเดือดร้อนให้ตนเอง และผู้อื่น
 
กรณีที่ขัดหลักธรรมจริยาในทางเศรษฐศาสตร์  ได้แก่
 
๑.ข้าราชการผู้รับสินบน หรือใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน
๒.ข้าราชการผู้เกี่ยวโยงกับธุรกิจเอกชนในฐานะประธาน หรือกรรมการบริษัท ซึ่งมีผลประโยชน์ขัดกับหน่วยงานซึ่งข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่  ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมิได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจนั้นก็ตาม
 
๓.ข้าราชการผู้ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตก็ตาม
 
๔.นโยบายเศรษฐกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อย ในขณะที่เป็นผลร้ายต่อคนส่วนใหญ่
 
๕.บุคคลผู้สมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการเพื่อเอาเปรียบสาธารณชน
 
๖.ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งรัฐบาลออกบังคับใช้อย่างสมเหตุสมผล
 
๗.การหลีกเลี่ยงภาษีอากรของบุคคล และบริษัทห้างร้าน
 
๘.การกักตุนิสนค้าในยามขาดแคลน โดยมุ่งค้าหากำไรในตลาดมืด
 
๙.ราษฎรผู้ปราศจากอาชีพ  ผู้ไม่พยายามหาเลี้ยงชีพโดยสุจริต หรือไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองของชาติ  ผู้ปราศจากสติยับยั้ง และความรู้สึกผ่อนหนักผ่อนเบา  ผู้ที่พยายามเอาเปรียบผู้อื่น และผู้ไม่พยายามขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว และคอยขัดขวางความก้าวหน้า
 
๑๐.ชนกลุ่มน้อยซึ่งกลายเป็นผู้ร่ำรวยอย่างมหาศาล ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากจนแร้นแค้น
 
๑๑.ผู้ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ และมีรายได้สูง หรือผู้ที่ได้รับมรดกตกทอดจำนวนมาก แต่มิได้นำทรัพย์สินเหล่านั้นลงทุนในทางที่ก่อให้เกิดผลผลิตอันจะช่วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
 
ปี  ๒๔๙๘  อาจารย์ป๋วย ได้แสดงปาฐกถาอย่างตรงไปตรงมา เกี่ยวกับการใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศไทยว่า
 
“นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งมีประสบการณ์ และความสามารถควรได้รับมอบหมายให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ…โดยทั่วไปแล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่า  เหตุผลทางการเมืองทั้งหลายก็ควรจะตระหนักว่า  การใช้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายทางสังคมนั้น  มิใช่สิ่งเดียวต่อการพยายามบิดเบือนกฎเกณฑ์ทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสนองตัณหาทางการเมือง”
 
ปี  ๒๕๐๒  อาจารย์ป๋วย เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แทนรัฐมนตรีที่ลาออก เพราะคดีอื้อฉาวเรื่องการพิมพ์ธนบัตร  อาจารย์ป๋วย ได้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เป็นหน่วยงานที่ทรงความสามารถในด้านการงาน และยึดมั่นในหลักธรรมจริยา  มีอิสระ และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  เป็นเหตุให้ประเทศไทยประสบปัญหาในการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เหมาะสม และได้มาตรฐานอย่างอาจารย์ป๋วย ในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
 
จะเห็นได้ว่า แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของอาจารย์ป๋วย สวนกระแสกับนักเศรษฐศาสตร์ และผู้นำระดับชาติในยุคหลังจนถึงปัจจุบัน  ทั้งๆ ที่สังคมไทยยกย่องอาจารย์ป๋วย กันเหลือเกิน  สะท้อนว่าสังคมไทยเป็นสังคม “หน้าไหว้หลังหลอก” หรือ “เห็นด้วย แต่ไม่เอาด้วย” เราจึงไปไม่ถึงไหน และ “ด้อยพัฒนาและล้าหลัง” จนทุกวันนี้.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น