xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตคิดบวก “น้องเดียว” ช่างแกะรองเท้านันยาง เรียนรู้อาชีพจากคนคุก ขอคืนสู่คนดีของสังคม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


   


 
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวการคิดค้นไอเดียสุดสร้างสรรค์ ด้วยการใช้ความสามารถด้านงานศิลปะมาปรับเปลี่ยนแปลงโฉมรองเท้าแตะแสนธรรมดา ให้กลายเป็นรองเท้าแตะที่มีลวดลายสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร
 
ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไปในตัว และยังเป็นการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ แถมเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้อีกทางหนึ่ง
 

 
จากที่ถูกเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในชื่อ “นายหิรัณย์ ตนานุสรณ์” ด้วยข้อความที่ระบุว่า
 
“ช่วยกันอุดหนุนหน่อยครับ รองเท้านันยางแกะลายคู่ละ 300 บาท รวมค่าส่งครับ ลูกชายทำครับ สั่งได้ครับ ส่งถึงบ้านครับ สนใจติดต่อ 08-6957-5311 โอนเงินเข้าบัญชี นายหิรัณย์ ตนานุสรณ์ หมายเลขบัญชี 9710033771 ธนาคารกรุงเทพ พร้อมส่งหลักฐานการโอนเงินมาให้เราด้วยนะครับ ใครอยากให้เราทำลายอะไรส่งแบบมานะครับ”
 

 
ภายหลังการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ ทำให้หลายคนกล่าวชื่นชมความสามารถ และทึ่งในฝีมือการแกะลวดลายที่เรียกได้ว่า ต้องใช้สมาธิ และความตั้งใจเป็นอย่างมาก กว่าจะออกมาเป็นลายไทยที่สวยงามขนาดนี้
 
บ้างแนะนำให้นำไปขายตามแหล่งท่องเที่ยว ขายชาวต่างชาติที่สนใจ บ้างให้การสนับสนุนงานศิลปะดีๆ ที่หาชมได้ยาก บางคนให้กำลังใจ ส่งเสริมให้ซื้อของที่สร้างสรรค์จากฝีมือคนไทย และยังเป็นการสร้างโอกาสสร้างรายได้ดีๆ อีกด้วย
 

 
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้ส่งผู้สื่อข่าวประจำ จ.พัทลุง ได้เดินทางได้ลงพื้นที่เพื่อติดตาม และสอบถามถึงที่มาที่ไปของการหันมาประกอบอาชีพที่น่าสนใจนี้ รวมถึงเพื่อบอกเล่าความเป็นมาของการนำรองเท้าแตะลงลายสร้างรายได้ดังกล่าว
 
ที่บ้านเช่าเล็กๆ ในซอยหลังโรงเรียนวีนาถศึกษา เขตเทศบาลเมืองพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง เราก็ได้พบกับ “น้องเดียว” หรือ “นายสันธิศักดิ์ ตนานุสรณ์” อายุ 21 ปี ขณะที่เขากำลังง่วนอยู่กับการแกะลายไม้เลื้อยบนรองเท้าแตะหน้าบ้านตามยอดสั่งชื้อของลูกค้า โดยมีบิดา มารดา และลูกสาววัย 2 ขวบ นั่งทำงานบ้านอยู่ด้วยกัน
 

 
ภายหลังแนะนำตัวและทำความรู้จัก นายสิทธิศักดิ์ ก็เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ 3 ปี หรือเมื่อตอนที่เขาอายุได้ประมาณ 18 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นคึกคะนอง เขาได้คบหากับเพื่อนบางกลุ่ม และนำไปสู่การติดยาเสพติด จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดี และศาลได้ตัดสินให้จำคุก 3 ปี
 
ระหว่างที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ พ่อแม่ได้ไปเยี่ยมด้วยความห่วงใยอยู่บ่อยๆ แต่การไปเยี่ยมของพ่อแม่แต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อีกทั้งเขาเองก็ต้องขอเงินพ่อแม่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเรือนจำทุกเดือน แรกๆ ก็ยังพอมีให้ แต่หลังๆ ไม่ค่อยราบรื่นเพราะครอบครัวมีฐานะค่อนข้างยากจน
 

 
เมื่อพ่อแม่ไม่มีเงินส่งให้เขาใช้จ่ายในเรือนจำ เขาจึงต้องดิ้นรนหาทางแก้ปัญหา ซึ่งวันหนึ่งก็ได้พบนักโทษรุ่นพี่ในเรือนจำคนหนึ่ง
 
 “นี่น้อง หากน้องไม่มีเงินมาฝึกอาชีพกับพี่ไหม”
 
สิ้นเสียงคำเชิญชวนของรุ่นพี่คนนั้น เขาจึงไม่ลังเลที่จะตอบตกลง จากนั้นเป็นต้นมาเขาก็ทุ่มเทให้ความสนใจต่อการฝึกอาชีพแกะลายบนรองเท้าแตะ ทำได้ประมาณ 1 เดือน ก็เริ่มมีความชำนาญ และคิดว่าถึงเวลาที่ตัวเองน่าจะต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นชิ้นเป็นอันได้แล้ว
 

 
จากนั้นเมื่อพ่อ และแม่มาเยี่ยมเขาจึงได้ขอร้องให้ช่วยไปชื้อรองเท้าแตะแล้วส่งเข้าไปให้ในเรือนจำ ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองด้วยดี เขาจึงเริ่มทำการแกะลงลายบนรองเท้าแตะแล้วขายให้แก่เพื่อนนักโทษด้วยกัน ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมาก็พอได้เงินเป็นค่าใช้จ่าย โดยไม่ต้องขอพ่อแม่อีกแล้ว
 
น้องเดียว เล่าด้วยว่า เมื่อพ้นโทษ และได้กลับไปอยู่กับพ่อและแม่ เขาก็บอกเล่าเรื่องราวในเรือนจำให้ทั้ง 2 ผู้บังเกิดเกล้าฟังถึงที่มาของการอยากประกอบอาชีพ อยากมีอาชีพเป็นหลักแหล่ง เพื่อนอกจากจะได้ไม่ต้องรบกวนพ่อแม่แล้ว ยังจะช่วยเหลือครอบครัวได้บ้าง 
 

 
เสียงตอบรับของพ่อและแม่เป็นไปด้วยความยินดี พ่อบอกว่าได้เลยลูก ลองทำดู แล้วพ่อก็ไปชื้อรองเท้าแตะมาให้เขา 2 คู่ เขาเริ่มลงมือทำงานที่คิดไว้ด้วยความตั้งใจ โดยเฉพาะเขาตั้งใจที่จะแกะลายรองเท้า 2 คู่นี้อย่างสุดฝีมือเท่าที่มี ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะอวดให้พ่อแม่เห็นด้วยความภาคภูมิใจเท่านั้น
 
ทว่า เมื่อแกะลวดลายลงบนรองเท้าอย่างสุดฝีมือแล้วเสร็จ เพียงหวังเอาไปให้พ่อแม่ชื่นชม แต่แล้วพ่อกลับถ่ายภาพแล้วนำไปลงในเฟชบุ๊กของพ่อ พร้อมกับประกาศข้อความดังกล่าวไว้ จากนั้นก็ทำให้หลายคนเริ่มสนใจ และชื่นชมในผลงาน มีการกดไลก์กว่า 3 แสนครั้ง
 

 
“บางรายส่งข้อความมาเพื่อให้กำลังใจ บางรายส่งข้อความมาขอจองรองเท้าแตะคู่ที่ลงลาย พร้อมโอนเงินเข้ามา ซึ่งในแต่ละวันโดยเฉพาะช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา มียอดสั่งจองเข้ามาวันละ 70-80 ราย แต่กำลังการผลิตของผมนั้นทำได้แค่ 10-12 คู่ต่อวันเท่านั้น จึงบอกแก่ลูกค้าว่า ใครที่สั่งจองมานั้นต้องรอนิดหนึ่ง”
 
เสียงบอกเล่าของน้องเดียวเปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งขณะนี้ลูกค้าที่สั่งจองรองเท้าจากฝีมือของเขานั้นได้มีการสั่งจองกันเข้ามาจากทั่วประเทศ
 
“ลูกชายผมหลังจากพ้นโทษออกมาก็ได้กลับตัวกลับใจ ตั้งใจต่อไปนี้จะขอเป็นคนดีของสังคม ผมจึงอยากบอกทุกคนไว้ตรงนี้ว่า ทุกคนที่เคยเป็นนักโทษนั้นไม่มีใครอยากทำผิดหรอก เมื่อผิดพลาดไปแล้วก็อยู่ที่การให้โอกาสเขาคืนสู่สังคม และกลับมาเป็นคนดีมากกว่า” 
 
นายหิรัญ ตนานุสรณ์ ซึ่งเวลานี้มีอายุ 50 ปี ผู้เป็นบิดาของน้องเดียวบอกเล่าอย่างต้องการทิ้งท้ายให้เราฟัง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น