ART EYE VIEW---ณ เวลานี้ จังหวัดเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงของเด็ก บ้านเรียน(Home School)
ยืนยันจากคำบอกเล่าของ สุขี สมเงิน ศิลปินและอดีตคนทำงานโฆษณา ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ย้ายตัวเองจากกรุงเทพฯ ไปปักหลักชีวิตอยู่ที่ หมู่บ้านห้วยกุ ต.บ้านตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และเลือกที่เลี้ยงดู ด.ญ.สู่ขวัญ สมเงิน ลูกสาวคนเดียวของเขา ในระบบการศึกษาแบบบ้านเรียน
“เพราะเวลานี้เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีเด็กบ้านเรียน เยอะกว่าที่กรุงเทพฯ เยอะกว่าทุกจังหวัด”
วิถีเด็กบ้านเรียน เรียนรู้บนพื้นฐานของความสุข
ก่อนหน้านี้ครอบครัวสมเงิน ก็เคยเป็นหนึ่งในอีกหลายครอบครัวบ้านเรียน ที่ร่วมกันลงขัน จัดงาน My way : วิถีบ้านเรียน ครั้งที่ 1 ณ หอศิลปวัฒนธรรม จ.เชียงใหม่ โดยครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจาก ห้องสมุดฟื้นบ้านย่านเวียง
“ปกติบรรดาพ่อแม่บ้านเรียนที่เชียงใหม่ จะมีกิจกรรมทำร่วมกันอยู่แล้ว เพื่อหาหาโอกาสให้เด็กๆแต่ละบ้านได้มาพบเจอและทำกิจกรรมร่วมกัน พอได้เจอกันเรื่อยๆ เราก็ปรึกษากันว่าจัดงานดีไหม เพื่อเปิดให้สังคมได้รับรู้ว่า ยังมีอีกทางเลือกนะ ทางด้านการศึกษา ที่การเรียนของเด็กอยู่บนพื้นฐานของความสุข ของสิ่งที่เขารักและ มีความโดดเด่นทางด้านนั้นๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ถูกบังคับให้เรียน หรือว่าต้องฝืนใจเรียน
ซึ่งงานที่จัด ประสบความสำเร็จมากที่เดียว เราใช้เงินในการจัดงานไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท เป็นเงินที่พ่อแม่แต่ละบ้านร่วมกันลงขัน หรือใครมีอะไรก็เอามาช่วยกัน”
โดยกิจกรรมในงาน My way ครั้งแรก ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
1.กิจกรรมให้ความรู้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่กำลังตัดสินใจจะเลี้ยงลูกในระบบการศึกษาแบบบ้านเรียน “พ่อแม่แต่ละคนจะมีวิธีการตัดสินอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง เช่น จะประสานงานกับหน่วยงานของทางรัฐ หรือเขตการศึกษาอย่างไร ในการที่จะไปจดทะเบียนขอเลี้ยงดูลูกในระบบบ้านเรียน เราจะปูความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้”
2.จัดนิทรรศการให้เห็นถึงความแตกต่างของกระบวนการเรียนรู้ของเด็กบ้านเรียนแต่ละบ้าน “เรามีตัวอย่างของบ้านเรียนมาจัดนิทรรศการ เพื่อให้เห็นว่าแต่ละบ้านมีความแตกต่างกันไป เช่น บางบ้านส่งเสริม ด้านศิลปะ ด้านกีฬา หรือแม้แต่ด้านเกมก็มี
โดยผู้ปกครองจะส่งเสริมตามความสนใจ ตามความรักความชอบของลูก เพื่อให้เขาพัฒนาไปตามความโดดเด่นของเขาในแต่ละด้าน”
และ 3.กิจกรรมที่เชิญอดีตเด็กบ้านเรียนมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เมืองไทยก็มีการเลี้ยงลูกในระบบบ้านเรียนแล้วนะ ซึ่งปัจจุบันเด็กกลุ่มนี้ผ่านพ้นระบบบ้านเรียนไปแล้ว เราเชิญพวกเขามาพูดคุย เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า ชีวิตปัจจุบันของพวกเขาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ได้รับความสำเร็จอย่างไร
มีบางครอบครัวเคยเลี้ยงลูกทั้ง 3 คน ในระบบบ้านเรียน ลูกสาวคนหนึ่งของครอบครัวนี้เรียนอยู่แค่มหาวิทยาลัยปี 2 แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการ มีร้านขนมหลายสาขา มีเงินหมุนเวียนกว่า 20 ล้าน”
การเรียนรู้ต้องไม่ถูกตัดตอน
และเร็วๆนี้ งาน My way : วิถีบ้านเรียน ครั้งที่ 2 จะมีขึ้นในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ.2558 เวลา 09.30 - 17.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากงานจะใหญ่ขึ้น มีกิจกรรมที่หลากหลายกว่าครั้งแรก ยังมี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 2 จ.เชียงใหม่ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ร่วมกับ เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา, คณะศึกษาศาสตร์ และหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“เพราะนอกจากจะมีเด็กบ้านเรียนเพิ่มขึ้น ผลจากการที่เราจัดงานในครั้งแรก ทำให้หน่วยงานรัฐได้เห็นว่ามันส่งผลกับสังคมมากที่เดียว
และมีแนวโน้มที่เราจะไปจัดงานที่กรุงเทพฯ ด้วย เราสงสารเด็ก สงสารเยาวชนของชาติ ที่ต้องมาลำบากลำบนกับการเรียนอะไรมากมาย และสุดท้ายก็ไม่ได้ดีอะไรสักอย่าง ”
กิจกรรมหลักในงาน My way : วิถีบ้านเรียน ครั้งที่ 2 คือเสวนาเชิงวิชาการ ที่เชิญหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาในระบบบ้านเรียน และสื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับครอบครัวบ้านเรียน
“เป็นการพูดคุย ที่ไม่ถึงขนาดจับให้มั่นคั้นให้ตาย คุยกันในเชิงวิชาการ ซึ่งประเด็นที่จะคุยก็สำคัญมากเรื่อง ‘กระบวนการเรียนรู้ของเด็กบ้านเรียน’ ซึ่งถ้าปิดวงเล็บก็คือ ‘หลักสูตร’ แต่เราจะไม่นิยามคำว่าหลักสูตรตรงๆ เพราะมันจะไปกระทบกับหลักสูตรของการศึกษาในระบบปกติที่มีปัจจุบัน
จากการเสวนาประเด็นนี้ก็คงมีประเด็นแตกไปอีกเยอะ เพราะที่ผ่านมายังมีการขัดกัน ระหว่างครอบครัวที่จะทำบ้านเรียน กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งถูกนโยบายกำหนดมาว่าเด็กบ้านเรียน ต้องสอบต้องเรียน เหมือนโรงเรียนภาคปกติ แต่ทางกลุ่มบ้านเรียนก็มองเห็นว่า เด็กแต่ละบ้านมีความแตกต่างกัน นับตั้งแต่เรื่อง ใบหน้า ลายมือ ความคิดความอ่าน ดังนั้นหลักสูตรต่างๆก็ควรเป็นไปตามความถนัด ตามความรักความชอบของผู้เรียนแต่ละคน
ก่อนที่งาน My way ครั้งหน้า เราอยากจะพูดถึงเรื่องการประเมินผลเด็กบ้านเรียนที่ต้องแตกต่าง ต้องไม่เหมือนในระบบ ไม่ใช่การสอบ ก ข ค ง
เพราะแม้แต่ประเทศฟินแลนด์ ที่เรียกได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ทางด้านการศึกษา ไปๆมาๆเขาก็เปลี่ยนมาใช้ระบบการศึกษาที่ใกล้เคียงกับระบบบ้านเรียนของเรา
ปัจจุบัน ในโลกของการศึกษา เราต้องมาพิจารณาเฉพาะตัวบุคคลแล้วละฮะ แต่ที่เรายังเป็นเหมือนเดิมอยู่ อาจจะเป็นเพราะนโยบายด้านการศึกษาของรัฐ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับตลาดแรงงาน สร้างบุคคลกรที่มีประสิทธิภาพทางด้านการใช้แรงงาน แต่เราต้องไม่ลืมว่า เวลานี้โลกไม่เหมือนเดิมแล้ว ตลาดแรงงานอยู่ที่บ้านเราไม่ได้แล้ว เพราะว่าเรื่องของเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ค่าจ้างแรงงานของเราสูง ทำให้ต้องเปลี่ยนเป็นระบบ Hi Technology ที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี แล้วล่ะ
แต่ที่นี้ Hi Technology อย่างเดียวคงไม่พอ มันต้องมีความรู้เรื่องอื่นๆรอบด้าน ด้วย โดยหลักๆก็คือการพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์นำแล้วละครับ ซึ่งปัจจุบัน วิชาการ และความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนแล้ว
แต่ที่ผ่านมาโรงเรียนไปตัดจินตนาการ ตัดความคิดสร้างสรรค์ ตั้งแต่เด็กเข้า ป.1 เลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ในแต่ละวันเด็กจะต้องเรียน 8 วิชาในหนึ่งวัน วิชาละ 1 ชั่วโมง ถ้าสมมุติว่าเด็กคนนั้นเขาสนใจทางด้านคณิตศาสตร์ ระหว่างที่เขากำลังอินกับการเรียนคณิตศาสตร์อยู่ กำลังต่อยอดไปได้เรื่อยๆ พอถึงชั่วโมงที่ 2 กลับเหมือนถูกตัดสวิทซ์ ต้องไปเรียนประวัติศาสตร์ ซึ่งเด็กแต่ละคนพอเจอแบบนี้บ่อยๆ การเรียนของเขาก็จะเบื่อแล้วล่ะ เพราะเขาคิดต่อไม่ได้ นานเข้าก็เกิดความชาชิน จินตนาการที่เขาจะคิดต่อไปได้ ก็หายหมด พอเลื่อนไปเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป ก็จะเป็นแบบนี้ไปตลอด เรียกว่าการเรียนรู้ถูกตัดตอน
ผิดกับของเด็กบ้านเรียน ถ้าเขาสนใจวิชาอะไร เขาสามารถ ไปต่อได้ทั้งวัน หรือจะสองถึงสามวันก็ได้ จนกว่าเขาจะทะลุในเรื่องที่เขาสนใจ เพราะระหว่างการเรียนรู้นั้นเขาจะมีการค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย ในรูปแบบของเขาเองไปด้วย”
สู่โลกการเรียนรู้ของเด็กบ้านเรียน
นอกจากนี้ กิจกรรมย่อยในงาน My way : วิถีบ้านเรียน ครั้งที่ 2 ยังจะประกอบไปด้วย การบอกเล่าวิถีการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย จากบ้านเรียน 3 - 4 บ้านที่มีแนวทางต่างกัน ,บอกเล่าตัวอย่างการเรียนรู้แบบรายวิชา 2 - 3 วิชา ,การถอดกระบวนการเรียนรู้แบบบ้านเรียน สู่ “หลักสูตรสถานศึกษา”
กิจกรรม “ดูละครแล้วย้อนดูตัว” ร่วมชมภาพยนตร์ สารคดีเรื่อง The Wolfpack หมาป่าคอนกรีต เรื่องราวของ 6 พี่น้องเพศชายเชื้อสายเปรู อายุไล่เลี่ยกัน เพราะเป็นลูกหัวปีท้ายปี ไม่เคยไปโรงเรียนเพราะเป็นเด็กบ้านเรียน โดยมีแม่ผู้เป็นทั้งหัวใจ สติ และที่ยึดเหนี่ยวเพียงอย่างเดียวของบ้าน โตมาในอาคารของการเคหะสำหรับคนมีรายได้น้อยย่านโลเวอร์อีสต์ไซด์ในนิวยอร์ก ไม่มีเพื่อนเลยนอกจากกันและกัน เพราะพ่ออนุญาตให้เหยียบเท้าออกจากห้องได้ปีละไม่กี่ครั้ง เป็นเพราะพ่อกลัวเหลือเกินว่าโลกข้างนอกนั่นอาจเต็มไปด้วยสิ่งชั่วร้ายที่ตนไร้อำนาจจะควบคุม
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่คู่ขนานไปกับการฉายภาพยนตร์คือ คลินิกบ้านเรียน ที่ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการทำบ้านเรียน ต่อด้วยกิจกรรมร่วมอภิปราย พูดคุย แสดงความรู้สึก และ ประเด็นที่ได้จากการชมภาพยนตร์ ก่อนจะเปิดโอกาสให้ ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนพูดคุยตาม อัธยาศัย
และตลอดงานผู้เข้าร่วมจะได้พบกับ นิทรรศการผลงาน การเรียนรู้ของบ้านเรียนต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ของเด็ก ๆ ,กิจกรรมศิลปะ work shop ต่าง ๆ อาทิ เช่น การวาดรูป ทำสิ่งประดิษฐ์ พับ ๆ แปะ ๆ ห่อ ๆ แบบวัฒนธรรมญี่ปุ่น, สนุกกับของเล่นพื้นบ้านจากพิพิธภัณฑ์เล่นได้, รายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จากไทยพีบีเอส, กิจกรรมปลูกผักอินทรย์กับกลุ่ม เขียว สวย หอม
“เวลานี้เด็กบ้านเรียนบางคน อายุประมาณ 9-10 ขวบ ไปไกลจนถึงสามารถเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ได้ จะมีกิจกรรมลักษณะนี้ของเด็กถูกนำมานำเสนอในงานด้วย” สุขีบอกเล่าเพื่อเป็นการเชิญชวน เพราะไม่อยากให้คนที่สนใจพลาดไปร่วมงาน
“และในการเปิดงาน ตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว เราไม่ให้ผู้ใหญ่ทำหน้าที่ประธานเปิดงาน แต่เราจะให้เด็ก ร่วมกันเปิดงาน ซึ่งเด็กประมาณ 20 คน จะถือกรรไกร ไม่ได้ใช้ตัดริบบิ้น แต่ตัดพวงดอกไม้ที่ประดิษฐ์จากเศษกระดาษ เศษผ้าอะไรต่างๆ ซึ่งในงานครั้งที่สองก็เช่นเดียว จากนั้นเด็กๆจะมอบกรวยดอกไม้เพื่อเชิญผู้ใหญ่ เข้าสู่โลกของการเรียนรู้ของเขา เด็กต้องเป็นคนนำ ผู้ใหญ่เป็นเพียงผู้ชมและผู้วิจารณ์เท่านั้นและเราอยากให้ผู้มีเกียรติต่างๆลดเกียรติลงมาเสมอกันหมด”
พบ "ด.ญ.สู่ขวัญ สมเงินและเพื่อนๆ"
เช่นเดียวกันว่า ด.ญ.สู่ขวัญ สมเงิน ก็เป็นหนึ่งในจำนวนเด็กบ้านเรียน ที่จะถูกนำเสนอในงานครั้งนี้
“บ้านเราเป็นหนึ่งใน 20 กว่าบ้านเรียน ที่จะมีการจัดบูธนำเสนอผลงาน และสู่ขวัญและแม่(สมพิศ สมเงิน) ก็จะขึ้นพูดในงานสักประมาณ 10 กว่านาที เกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านภาษาอังกฤษของสู่ขวัญ ทั้งที่ผมซึ่งเป็นพ่อและแม่ของเขาไม่มีความถนัดเลย แต่เขากลับโดดเด่น คนอื่นเขาอาจจะอยากทราบกลวิธีหรือกระบวนการว่าเขาเป็นแบบนี้มาได้อย่างไร เราก็จะแบ่งปันกันเพื่อเป็นประโยชน์กับเด็กคนอื่นๆ
และยังมีอีก 3 บ้านเรียน เช่น บ้านแปลนปูน ซึ่งน้องแปลน เด็กบ้านนี้เขาเก่งทางด้านกิจกรรม อายุแค่ 10 กว่าขวบ แต่รับออเดอร์งานได้แล้วนะครับ
บ้านน้องต้นกล้า ที่สามารถไปอเมริกาด้วยเงินของตัวเอง ด้วยการขายไข่เป็ดอารมณ์ดี เป็นบ้านที่เน้นเกษตรกรรม
และบ้านน้องมิคาเอล ที่เก่งทางด้านการ คิด วิเคราะห์ ทางด้านวิศวกรรม และนำเสนอออกมาในรูปแบบเลโก้
เลโก้ของเขามีความพิเศษมาก สลับซับซ้อนมาก มีเปิดได้ หมุนได้ ยกแล้วกันซ้อนสามสี่ชั้น อะไรอย่างนี้ มีซอกมีมุม ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเขาจะมีความคิดซับซ้อนได้มากขนาดนี้ ซึ่งถ้าเป็นเด็กในโรงเรียนปกติ ก็คงค้นพบตัวเองยากนิดนึง เพราะเรียน 8 วิชาต่อวัน รวมกันไปซะหมด”
ในวันนี้ ด.ญ.สู่ขวัญ อายุ 9 ขวบ 10 เดือนแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่ง ART EYE VIEW เคยนำเสนอเรื่องราวของเธอ และแนะนำว่า
....เป็นเจ้าของภาพลายเส้นกว่า 25,000 ภาพและภาพเพ้นท์ 500 ภาพ,ผลงานเขียนประเภทเรื่องสั้น 150 เรื่อง และประเภทเรื่องงยาว 5 เรื่อง โดยทุกเรื่องถูกแต่งขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีความสามารถในด้านการเล่านิทานเป็นภาษาอังกฤษ แต่งและเล่าให้ฟังได้แบบทันทีทันใดโดยไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า แถมยังเป็นนิทานที่ให้คติสอนใจในตอนท้าย จนทำให้คนทุกเพศทุกวัย ที่ได้ไปฟังเธอเล่านิทานที่สวนโมกข์ ในช่วงเว้นวรรคของเสวนาว่าด้วยเรื่อง “นักเรียนนอกกะลา การศึกษาเขย่าโลก” ต่างรู้สึกประทับใจและปรบมือให้กราวใหญ่...
สุขีบอกเล่าว่า ปัจจุบันลูกสาวยังคงมีความสุข กับการวาดภาพ เขียนหนังสือ และเล่านิทาน เช่นเดิม ขณะที่พัฒนาการทางด้านภาษาอังกฤษของเด็กหญิง นับวันยิ่งพัฒนามากขึ้น และยังเป็นประโยชน์กับสังคมรอบตัวด้วย
“นอกเหนือจากนั้นสู่ขวัญก็มีที่ออกไปเรียนเพิ่มเติมด้านบัลเล่ต์ เปียโน และช่วยกิจกรรมอื่นๆ เช่น ช่วยแปลภาษาอังกฤษให้กับห้องสมุดในพื้นที่ เป็นล่ามแปลภาษา เวลามีชาวต่างชาติมา ให้ความรู้กับเด็กๆระดับประถมศึกษา ในพื้นที่ และเขียนอักษรเบรลล์ ช่วยห้องสมุดคนตาบอด
ตอนนี้เรายังคงปล่อยเขาให้เรียนรู้ไปตามธรรมชาติของเขา เขาคิดจะเปลี่ยนไปเรียนในระบบ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ตามที่เขาต้องการ แต่ ณ เวลานี้เขายังมีความสุขกับตรงนี้อยู่”
เด็กหญิงสู่ขวัญ เป็นหนึ่งในจำนวนเด็กบ้านเรียน ที่ถูกส่งเสริมทางด้านศิลปะ แม้จะมีคุณพ่อเป็นคนทำงานศิลปะ แต่คุณพ่อเน้นให้เธอเรียนรู้ด้วยตัวเองเป็นหลัก
“ที่ผมบอกว่าผมไม่ได้สอนเขาเลย เพราะผมถือว่า เด็กตั้งแต่เกิดจนถึง 10 ขวบ ช่วงนี้จินตนาการเขาจะเบ่งบานมาก เราไม่ควรที่จะเข้าไปแตะต้องจินตนาการของเขาเลยในวัยนี้ คงไม่มีมนุษย์คนไหน จะสามารถไปสอนจินตนาการกันได้ แต่ว่าทางด้านฝีมือหรือว่าทางด้านทักษะ การวาด การอะไรต่างๆ มันจะเริ่มได้ก็ต่อเมื่อจินตนาการเขาเริ่มจางไปแล้ว ตอนนั้นจะเริ่มฝึกความคล่อง ความชำนาญในการใช้อุปกรณ์ แล้วก็จะเน้นฝีมือแล้วล่ะ
แต่ว่าตอนนี้สู่ขวัญเขายังอยู่ในโลกของจินตนาการเต็มๆเลย และผมก็ยินดีที่จะดึงระยะเวลาให้เขาได้มีโอกาสใช้จินตนาการของเขาไปเรื่อยๆ หรือไปตลอดชีวิตด้วยซ้ำไป งานของเขามันเป็น Pure Art (ศิลปะบริสุทธิ์) จริงๆ จะเห็นว่างานที่เขาทำออกมา ไม่ได้เป็นงานที่เน้นเรื่องทักษะเลย แต่พูดถึงอารมณ์ ความสัมพันธ์ของสีแต่ละสีที่สอดคล้องกัน
งานของเขาจะมีการแบ่ง space (พื้นที่) มี composition (องค์ประกอบศิลป์) และเข้าหลักทฤษฎีสีเลย ซึ่งจริงๆหลักทฤษฎีสีควรจะสอนกันในระดับมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป”
ไม่ใช่ระบบการศึกษาสำหรับครอบครัวที่ร่ำรวยเท่านั้น
ในฐานะตัวแทนเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา สุขีเชื่อว่า งาน My way : วิถีบ้านเรียน ครั้งที่ 2 จะเป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง และไม่ใช่แต่เฉพาะในเขต จังหวัดเชียงใหม่ หรือภาคเหนือ เท่านั้น
“เราหวังว่าสังคมจะได้รับรู้ว่าการศึกษาของบ้านเรา มันมีให้เลือกนอกเหนือจากการศึกษาในระบบปกติอยู่ เพราะบางพื้นที่ไม่ทราบเลยนะฮะ ว่ามีการศึกษาแบบนี้อยู่
เพราะถ้ามีการส่งเสริม มันเป็นภาระของรัฐ นอกจากเขาจะรับภาระโรงเรียนแต่ละโรงเรียนในระบบปกติแล้ว เขายังต้องมารับภาระบ้านเรียนแต่ละบ้าน ซึ่งแต่ละบ้านเปรียบเหมือนหนึ่งโรงเรียน เพราะฉะนั้นหน่วยงานของ สพฐ.ของแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เขาก็จะเหมือนมีงานงอกขึ้นมาโดยที่เขาไม่ได้รับอะไรตอบแทน”
สำหรับหลายคนที่อาจตั้งคิดว่า เด็กที่เรียนในระบบบ้านเรียนได้ ผู้ปกครองต้องเป็นคนมีฐานะ และมีเวลาเท่านั้น สุขีกล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะครอบครัวสมเงิน รวมถึงอีกหลายครอบครัว ก็ไม่ใช่ครอบครัวบ้านเรียนที่มีฐานะ
“ความพร้อมหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่สตางค์ เหมือนเราจะสร้างบ้าน เราจะสร้างด้วยตัวของเราเอง มันไม่แพง และเวลาเราทำกิจกรรมร่วมกัน เด็กบ้านเรียนห่อข้าวไปกินด้วยกัน เอาน้ำไปจากบ้าน ค่าใช้จ่ายไม่เกิดเลย และทุกคนติดดินมาก เราสอนลูกเราด้วยว่า เราจะไม่ฟุ่มเพือยใช้เงินมากมาย ถ้าเทียบกับโรงเรียนนานาชาติ สาธิต เอกชน ผมว่าแบบนั้นแพงกว่ามั้ง มันอยู่ที่การจัดการของแต่ละบ้าน
คนทำบ้านเรียนไม่จำเป็นต้องมีเงิน ผมเองก็ไม่ได้มีเงิน เป็นชั้นกลางที่ค่อนข้างต่ำด้วยซ้ำไป แต่เราดิ้นรนเพื่อแลกกับอนาคตของลูก
หรือยกตัวอย่าง นักกีฬาเก่งๆของบ้านเรา พ่อต้องลาออกจากงานคนนึง เพื่อที่จะทุ่มเท ทางด้านนี้โดยตรง ไม่ใช่ว่าเรียนก็เรียน เล่นกีฬาก็เล่น แล้วคุณจะมีทักษะทางด้านกีฬา ได้มากแค่ไหน ถ้าคุณเอาทั้งสองอย่าง
คนไทยชื่นชม เดวิด เบ็คแฮม ทั้งที่เขาไม่ได้เรียนหนังสือ ถ้าเขาไม่ได้เป็นนักฟุตบอล เขาเป็นเด็กเกเรด้วยซ้ำไป แต่ทำไมเราชื่นชมเขามากนัก เพราะว่าเขามีทักษะชั้นเลิศทางด้านฟุตบอล
แล้วถ้าถามต่อว่าเขามีทักษะได้อย่างไร เพราะเขารักมัน เขาชอบ เขาฝึกหนักด้วยหัวจิตหัวใจของเขา มันเหมือนกับว่าอัจฉริยะถ้าไม่มีการฝึกฝนก็ไม่มีทางที่จะมีความสามารถ แต่ผมไม่ได้บอกว่าเด็กที่มาเรียนบ้านเรียนจะเป็นอัจฉริยะ แต่ทัศนคติของผม อัจฉริยะสร้างได้ด้วยซ้ำไป คนธรรมดานี่แหล่ะ ฝึกฝนก็สามารถจะเป็นได้
ฉะนั้นเรื่องเงินเรื่องทองไม่เกี่ยวเลย อยู่ที่ทัศนคติ วิธีการดำเนินชีวิตของผู้คนมากกว่า”
ไม่ใช่การเรียนรู้แค่ที่บ้าน
และอีกหลายคนที่มองว่า เด็กบ้านเรียน ไม่น่าจะมีภูมิคุ้มกันชีวิต และมีทักษะในการอยู่ร่วมกับสังคมได้เท่าเด็กที่เรียนในระบบปกติ ในฐานะผู้ปกครองที่เลือกเลี้ยงดูลูกในระบบบ้านเรียนมาหลายปี ได้ตอบคำถามและตั้งคำถามกลับไปให้สังคมได้ขบคิดว่า โลกของเด็กในโรงเรียนที่ฟังดูกว้าง แต่ความจริงอาจจะแคบ ขณะที่โลกของเด็กบ้านเรียน ฟังดูแคบ แต่ความจริงอาจจะกว้าง
“ความเชื่อด้านสังคม เวลาได้ยินคำว่าบ้านเรียน คนฟังอาจจะแปลตรงตัวไปนิดนึงว่า เรียนที่บ้าน จริงๆแล้วไม่ใช่ เด็กไม่ได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนเท่านั้น การเรียนรู้ออกนอกบ้านตลอด เขาได้เจอผู้คนไม่ใช่แค่กลุ่มเพื่อนอายุเดียวกัน ได้เจอคนหลายวัย หลายประเภท เพราะฉะนั้นเมื่อได้เขาพบปะพูดคุยด้วยกับคนที่หลากหลาย ภูมิคุ้มกันเขาจะเยอะกว่าเด็กในโรงเรียนด้วยซ้ำไป แถมยังร่วมกันทำกิจกรรมอีกด้วย ประสบการณ์ตรงนี้น่าจะกว้าง ถ้าเทียบกับโรงเรียน ที่ในห้องเรียนมีเด็ก 40-50 คน เด็กคนหนึ่งอาจจะมีเพื่อนสนิทแค่คนเดียว แต่เด็กบ้านเรียน บางครั้งไป sleep over ไปนอนบ้านคนอื่น ทั้งบ้านคนไทยและต่างชาติ ที่มีหลายประเทศ หลายเชื้อชาติ เขาได้เปรียบ ได้เรียนรู้วัฒนธรรมและความเป็นอยู่ของแต่ละประเทศ เขาได้แลกเปลี่ยนตลอดเพราะเราจะมาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้แลกเปลี่ยนกัน ทั้งกับผู้ใหญ่ รุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน รุ่นน้อง บางทีสู่ขวัญเขาก็ดูแลน้องอายุ 3-6 ขวบ สิ่งที่ได้กลับมาคือภาษา อายุ 3 ขวบเขาพูดได้ปร๋อเลย แต่ผมไม่ได้บอกว่าเด็กที่เรียนบ้านเรียนจะพูดได้ดีกว่าเด็กในระบบ แล้วแต่การตัดสินของสังคม
ปัจจุบันสู่ขวัญมีเพื่อนอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก และเขาก็ติดต่อไปมาหาสู่ ไม่ใช่ทางสื่ออิเลคทรอนิคส์เท่านั้น พบปะตัวต่อตัว ทำขนม กินข้าวด้วยกัน ไปไหนด้วยกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน นี่แหล่ะเพื่อน ถ้าไม่มีเวลามาเจอกันก็ส่งข่าวหากัน ส่งหนังสือมาให้
และตอนนี้เขาก็กำลังเรียนโยคะกับพี่คนหนึ่งซึ่งเป็นชาวเยอรมัน และอีกคนก็เป็นคนแคนาดาสอนกลวิธีการเขียนหนังสือ บางคนก็มาจากฮอลแลนด์ พาน้องมารู้จักพี่สู่ขวัญ สายสัมพันธ์มีความต่อเนื่องตลอด เพราะตอนแรกที่รู้จักกัน แม่ของเขายังไม่มีน้อง
บางทีสังคมเราชอบมองว่า การส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนดีๆดังๆ
เพื่อจะได้มีคอนเนกชั่นกับลูกเจ้าใหญ่นายโต
ผมอยากบอกว่าเรามองอนาคตให้ลูกแคบมากเลย
เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว”
เรื่องโดย : อ้อย ป้อมสุวรรณ
บมสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :
“ถ้าไม่วาดรูปหรือเขียนหนังสือ หนูเหมือนถูกขังอยู่ในห้องที่ถูกปิดทุกทาง” ด.ญ. สู่ขวัญ สมเงิน
แม่รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านมาร่วม 10 ปีของชีวิตลูก
ลูกได้ใช้ชีวิตในการเรียนรู้กับสิ่งที่รักอย่างคุ้มค่า
การที่แม่ไม่มองข้ามการพูดน้อย แต่ชอบมองสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ
กับท่าทางครุ่นคิดมาตั้งแต่ตัวเล็กๆ
การที่แม่ให้ความจริงใจกับทุกบทสนทนาที่ลูกพยายามถ่ายทอดความคิด
อดทนรอด้วยความตื่นเต้นขณะลูกเดินไปเดินมาเพราะลูกบอกว่า
"มิคาเอลกำลังคิดหม่าม้า มิคาเอลกำลังคิดแรงมาก"
...ทั้งหมดนั้นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับ "ความคิดสร้างสรรค์" สิ่งสำคัญต่อทุกชีวิตในศตวรรษที่ 21
ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com
และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews