xs
xsm
sm
md
lg

“ศิษย์ - อาจารย์” คุณค่าของ “พิธีไหว้ครู” ที่บางคนหลงลืม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิธีไหว้ครูมีขึ้นทุกวันพฤหัสบดีสัปดาห์ใดสัปดาห์หนึ่งของเดือนมิถุนายน แต่ปีนี้กลับไม่เหมือนที่ผ่านมาเมื่อ เนติวิทย์ นักเรียนมัธยมหัวก้าวหน้าประกาศข้อวิพากษ์ถึงพิธีกรรมดังกล่าวโดยจะไม่เข้าร่วม และมองว่าเป็นประเพณีตั้งอยู่บนความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียม

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเพจ ‘ลัทธิไหว้ครู จนเสียสติ’ โดยมีการแสดงความเห็นจากหลายฝ่าย บ้างก็มองว่าพิธีไหว้ครูเป็นเรื่องสิ้นเปลือง บ้างก็มองว่าควรต้องคงไว้ สิ่งหนึ่งที่ชวนให้ขบคิดคือความคิดที่แตกต่างและแลกเปลี่ยนดูจะรุนแรงกว่าที่ผ่านมา เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? คุณค่าของการไหว้ครูกับเด็กยุคใหม่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทยหรือไม่?

เหตุผลที่ไม่ไหว้ครู!

หลังจากช่วงสัปดาห์ของพิธีไหว้ครูผ่านพ้น เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้ร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ได้โพสต์แจกแจงถึงเหตุผลในการที่ตนเองลาหยุดและไม่เข้าร่วมพิธีไหว้ครูไว้หลายประเด็นด้วยกัน

เริ่มตั้งแต่ปัญหาในวงการครูปัจจุบันที่ต้องทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะจนไม่ได้อุทิศตัวทุ่มเทให้กับลูกศิษย์ โดยให้ความสำคัญกับชื่อเสียง ภาพลักษณ์ของโรงเรียนและตำแหน่งทางวิชาการมากกว่า อีกทั้งยังเผยถึงการสอนนักเรียนแบบ ใครเรียนได้ก็เรียน ใครไม่สามารถเรียนก็ปล่อยให้ผ่านๆไปเพราะหากให้นักเรียนสอบตกจะมีผลกับการประเมินครู เขามองว่าครูตอนนี้ไม่ต่างจากสถาบันกวดวิชาที่แค่สอนอย่างเดียว นักเรียนก็เพียงเรียนเพื่อทำสอบ เขาจึงมองว่าไม่ควรไหว้ครู

อีกประเด็นคือการบังคับให้คารวะซึ่งเขาเห็นว่าควรมาจากลูกศิษย์ที่มองครูคนนั้นๆ ทุ่มเทให้กับการสอน ไม่ใช่การบังคับ พร้อมระบุว่าการหมอบคลานมีการยกเลิกไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นการแสดงถึงการแบ่งวรรณะชนชั้นอย่างชัดเจน

“ครูที่เป็นครูที่แท้จริง (ที่จะไม่ได้ยึดติดเรื่องอำนาจ สถานะที่เหนือกว่า) เค้าไม่ได้สนใจหรอกว่านักเรียนต้องมาหมอบคลานกราบไหว้ตัวเองเพื่อแสดงความเคารพ เพียงแต่นักเรียนเจอหน้ายกมือไหว้ นักเรียนตั้งใจเรียนในห้อง ไม่พูดคุยกันเสียงดัง ส่งงานให้ครบ ตรงต่อเวลา แค่นี้ก็เป็นการเคารพครูอย่างยิ่งยวดแล้ว ประเพณีกราบไหว้หมอบคลานมีเอาไว้เพื่อสร้างภาพ เพื่อแสดงอำนาจ มากกว่าการให้ความเคารพจริงๆ เสียอีก”

ท้ายสุดคือเขามองว่าครูในมนุษย์ก็มีความผิดพลาดได้เสมอ การทำให้ครูศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรมจึงควรตั้งคำถาม

“ครูก็เป็นมนุษย์เสมอนักเรียนที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน เติบโตไปพร้อมกัน ฟังเสียงคำวิพากษ์วิจารณ์แล้วปรับปรุงวันไหว้ครูปีนี้ ผมไม่มาโรงเรียน ที่ไม่มาไม่ใช่ไม่รักครู แต่ผมมีเหตุผล การที่ผมรักใครคนหนึ่ง ไม่ต้องไปหมอบคลาน เราหยอกล้อพูดคุยกันสนุกๆกันได้ตรงไปตรงมา

“ครูกับนักเรียนเป็นเสมือนมนุษย์ที่มีผิดมีถูกเรียนรู้ไปด้วยกัน แต่พิธีกรรมดังกล่าวทำลายความสัมพันธ์ของคนสองคนให้ยกอีกคนสูงกว่าอีกคน (ทั้งยังบังคับด้วย) ผมไม่เคยเห็นพิธีกรรมไหว้ครูที่ครูขอโทษนักเรียนว่าตนได้ทำผิดพลาดอะไรไปบ้าง และขอให้นักเรียนให้อภัย หรือเป็นการเปิดใจครูต่อนักเรียน ไม่มีที่พิธีกรรมดังกล่าวจะสร้างความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน”

ท้ายที่สุดเขาทิ้งคำถามว่า การไหว้ครูควรมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรในสังคมไทยบ้าง ก่อนหน้านี้เขาก็ได้มีการจัดทำคลิปสั้นๆที่แสดงถึงการไหว้ครูในแบบต่างขึ้นในชื่อ “เกรียนศึกษา ตอน 5 วิธีไหว้ครูแบบใหม่”

"ประเพณีตั้งอยู่บนความสัมพันธ์อันไม่เท่าเทียม และในเมื่อมนุษย์เป็นคนสร้างประเพณี ไยจะดัดแปลงและเปลี่ยนมันไม่ได้"

ไหว้ครูในมุมมองครู

ภายหลังจากโพสต์เหตุผลของเนติวิทย์ในมุมของนักเรียนก็มีครูเข้ามาแสดงความเห็นเช่นกัน โดยครูหลายคนมองว่านักสามารถวิพากษ์วิจารณ์ครูได้ โดยบางคนก็มองว่าพิธีดังกล่าวเป็นการสิ้นเปลือง

“เราเป็นครูเหมือนกัน และเห็นตามนายว่าควรยกเลิกพิธีไหว้ครู คือมันไม่ก่ออะไรเลยอ่ะ ทำพาน=เสียเงิน ไหว้ครูซึ้งน้ำตาไหล พอกลับเข้าห้องเรียน เด็กไม่ตั้งใจก็ไม่ตั้งใจเหมือนเดิม มันจะดีกว่าถ้าเราเป็นครูพิสูจน์ตัวเองให้เด็กยอมรับ แล้วเด็กคนนั้นเชื่อสิ่งที่เราแนะนำจนประสบความสำเร็จ ค่อยมาขอบคุณเราดีกว่า อย่ากราบนะ ขอบคุณ พอ ครู=อาชีพๆนึง” Natcha Roungsuti

บางคนก็เห็นว่าผู้ยึดอาชีพครูในทุกวันนี้บางคนก็ทำตัวไม่ดีและไม่น่าเลื่อมใสศรัทธา

“อย่าว่าเด็กเลย ผมเป็นครู ผมยังขยะแขยง ครูบางคน มันกราบไหว้ ไม่ลงจริงๆ คิดแต่ว่าเราอคติม้าง แต่ทบทวนเสียงของเด็กๆ มันสอดคล้องกับที่เราคิด รู้ เห็น เกินครึ่ง จนไม่อยากให้เด็กเขาร่วมด้วยความกล่ำกลืน เด็กระดับปฐมวัยกับประถม เชื่อถือได้ครับ แต่ระดับมัธยมขึ้นไปอาจเสแสร้งได้ เรื่องสร้างภาพ มีจริงครับ” ผอ.ประสาท แก้วประสิทธิ์

แต่บางคนก็มองว่า ความเห็นดังกล่าวของเนติวิทย์นั้นไม่สอดคล้องวัฒนธรรมไทยที่เป็นอยู่

“เด็กอย่างเธอไม่สมควรเกิดมาในแผ่นดินไทย วัฒนธรรมไทยไปไกลๆ จากประเทศเถิด ขอร้อง ความคิดเลวสุดๆ” Surasak Nuchanardpanit

“อย่าคลั่งประชาธิปไตยและคลั่งสิทธิเสรีภาพจนเกินขอบเขตจนผิดศีลธรรม จริยธรรม และคุณธรรม” Abhisit Toma

แต่อาจารย์บางคนก็มองว่า ความเห็นดังกล่าวมีทั้งส่วนที่ถูกและผิดไปจากความเป็นจริงที่เป็นอยู่

“ผมเป็นครูนะ ผมเห็นด้วยกับคุณโดยเฉพาะข้อ 1 แต่...ผมขอโทษ นร. เสมอเมื่อผมทำผิด ผมไม่เคยแม้แต่จะขอให้ นร. มากราบไหว้ เขามาด้วยความตั้งใจ อย่าเหมาว่าครูทั้งประเทศจะเป็นแบบที่คุณพูดมาสิครับ” วชิรวิชญ์ ผาดำ

ทางด้าน คุณครูประไพ อ่อนสลุง ครูดีเด่นผู้คว้ารางวัลมามากมายประจำโรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม ตั้งอยู่ที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรีมองว่า ประเพณีไหว้ครูเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ เป็นการแสดงการยอมรับในตัวกันและกันระหว่างศิษย์กับอาจารย์โดยประกอบด้วยพานที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อความหมายมากมายต่อกัน

“มันคือการยอมรับในตัวของกันและกัน อย่างศิษย์ก็โน้มตัวเข้าหาเป็นลูกศิษย์ ครูก็โน้มตัวรับพานเพื่อรับเด็กคนนี้เข้ามาอยู่ในความดูแล”

โดยเธอมองว่า นักเรียนควรมีสิทธิ์ในการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ครูอยู่ในขอบเขตและครูที่ดีก็ควรรับฟัง

“พฤติกรรมของครูปัจจุบันอาจมีการหวังผลตอบแทนไม่เหมือนอดีตที่ไม่หวังอะไร ก็เป็นส่วนหนึ่งของเด็กที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ ครูต้องรับฟังนั่นแหละ ถ้าอยากให้เด็กเคารพนับถือก็ต้องวางตัวเป็นครูจริงๆ ต้องทุ่มเทสอนให้เด็ก เด็กจะได้เห็นคุณค่าของครู และเห็นคุณค่าของพิธีไหว้ครูด้วย”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นครูนั้น บางครั้งก็เป็นศิษย์ได้ โดยในช่วงที่เรียนปริญญาโทแม้ครูของเธอจะอายุน้อยกว่า แต่เธอก็ทำพิธีไหว้ครู เพราะสำหรับเธอแล้วครูคือครู อายุน้อยกว่าก็เป็นครูได้

“ครูเองตอนเรียนปริญญาโทเวลาไหว้ครู ครูยังค่อยๆ ถือพานโน้มตัวไปไหว้ครู ไม่ได้ถือว่าครูอายุเยอะ ครูคือครู อายุน้อยกว่าก็เป็นครูได้ อะไรก็ตามที่เป็นครูแล้วเราอยากจะเรียน เราก็ต้องเอาใจใส่ไปแล้วไหว้ที่ครูเพราะเราอยากได้ความรู้”

ไหว้ครูก็สร้างสรรค์ได้

ในช่วงไหว้ครูหลายปีที่ผ่านมา พานไหว้ครูกลายเป็นสีสันที่แชร์ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ด้านหนึ่งมันจึงกลายเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้น และในบางครั้งก็สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนทางอ้อมอีกด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ในช่วงไหว้ครูเมื่อวันที่ 10 มิ.ย.58 โรงเรียนแห่งหนึ่งที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีการใช้ ‘หัวมัน’ กับ ‘ทุเรียน’ มาทำพานไหว้ครูโดยแฝงความหมายถึงการมุ่งมั่นขยันเรียนได้อย่างลึกซึ้ง
โดยพานแรกมีการนำหัวมันมาวางข้างบนเครื่องชั่งน้ำหนักพร้อมข้อความที่เขียนว่า “อดีตช่างมัน” กับพานที่สองนำทุเรียนมาวางไว้พร้อมข้อความ “ปัจจุบันเรียนลูกเดียว”

ภาพพานดังกล่าวกลายเป็นข่าวดังและสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนพุทธิรังสีพิบูล

ด.ญ.กัลยรัตน์ อ้นมงคล อายุ 13 ปีผู้ที่ออกแบบ บอกว่า ก่อนจะทำได้เปิดอินเทอร์เน็ตหารูปแบบพานที่ไม่อยากให้เหมือนใคร จากนั้นนำมาพลิกแพลงเพื่อไม่ให้ซ้ำกับต้นแบบที่เห็น ปรึกษากับเพื่อนๆ ก่อนที่จะหาวัตถุดิบที่ต้องการ แล้วนำมาช่วยกันทำ

จากกรณีนี้และอีกกรณีที่มีการแชร์รูปพานที่ตกแต่งกันอย่างหลากหลายอาจบอกได้ว่าพิธีกรรมดังกล่าวถือเป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนมีส่วนในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้

ต่อพิธีกรรมไหว้ครูที่มีในปัจจุบันผ่านความเห็นของ ณัฐพงศ์ คำมีพา นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนท่าหลวงวิทยาคม มองว่ายังคงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจอย่างหนึ่ง

“ทำสิ่งใดก็ต้องมีครูบาอาจารย์สั่งสอนเราอยู่เสมอ พิธีไหว้ครูก็ไม่ได้เสียเวลามาก การจัดพานคือความจริงใจของนักเรียนที่ตั้งใจประดิษฐ์พานออกมาเพื่อบูชาครู เวลาที่เสียไปมันก็คุ้มค่าไม่ถึงกับทำให้เสียการเรียนอะไร”

ด้านของอนัญญา บัวพนัส นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 โรงเรียนแห่งเดียวกันก็มองว่า พิธีไหว้ครูยังจำเป็นเพื่อแสดงถึงการยอมตนเป็นศิษย์ให้ครูดูแล

“หนูคิดว่ามันยังจำเป็นอยู่คะ พูดไม่ถูกเหมือนกัน มันเป็นคุณค่าทางจิตใจมากกว่า มันเป็นความรู้สึกที่อยู่ในใจว่าเราต้องทำทุกปี อย่างปีนี้เป็นพฤหัสบดีที่สองของเดือนมิถุนายน หนูทำพานถือพานไหว้ครู เราทำด้วยใจ ไม่ได้เกี่ยงกันทำ มีแต่จะแย่งกันทำด้วยซ้ำ”

...

จนถึงตอนนี้พิธีไหว้ครูอาจมีรูปแบบที่แตกต่างจากสมัยก่อนในส่วนของรูปแบบพานที่สร้างสรรค์ขึ้น อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมการไหว้ครูนั้นเป็นพิธีกรรมทางความเชื่อตามประเพณีไทยอย่างหนึ่ง จะปฏิบัติอย่างไร และรู้สึกอย่างไรกับพิธีกรรมนี้จึงเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ความเชื่อที่แตกต่างจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากสังคมที่มีการหล่อหลอมปลูกฝังค่านิยมที่แตกต่างกันไป สิ่งสำคัญคือข้อถกเถียงถึงคุณค่าของพิธีกรรมไหว้ครู การตั้งคำถามและการแลกเปลี่ยนอาจเป็นเรื่องดีที่ทำให้ทุกคนได้หันย้อนกลับไปมองหาคุณค่าแท้จริงเหล่านั้น

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!


และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754







กำลังโหลดความคิดเห็น