ข่าวคราวกรณีของ “น้องปราง” น.ส.ศิรดา ไตรตรึงษ์ทัศนา อายุ 18 ปี นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ซึ่งได้คะแนนสอบแอดมิชชันประจำปี 2558 อันดับที่ 1 ของประเทศ ด้วยคะแนนร้อยละ 91.60 เป็นที่ฮือฮามาก
และน่าชื่นชมมากด้วย !
ไม่ใช่ชื่นชมที่ได้ที่ 1 เท่านั้น แต่ชื่นชมที่น้องปรางค้นพบตัวเองว่าชอบอะไร และกล้าหาญที่จะเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ แม้โดยคะแนนสามารถจะเลือกเรียนแพทย์ได้เลย แต่ตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ตนเองชอบ และเลือกสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ สาขาภาพยนตร์-โฆษณา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และที่น่าชื่นชมมากยิ่งขึ้นไปอีก เห็นจะเป็นครอบครัว ทั้งที่พ่อแม่เป็นหมอทั้งคู่ แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นความคิดความอ่านของลูก ไม่ได้ชี้นำ หรือฝืนใจลูก
แต่ยอมรับในสิ่งที่ลูกตัดสินใจ
ที่ผ่านมา พ่อแม่ส่วนใหญ่ในบ้านเรามักคาดหวังกับการเรียนของลูกเป็นอย่างมาก ต่างตะบี้ตะบันส่งลูกไปเรียนกวดวิชา เพื่อหวังให้ลูกเรียนเก่ง ได้เกรดเฉลี่ยดีๆ และพุ่งเป้าไปสู่การสอบเข้าคณะดังๆ ในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
เด็กบางคนต้องแบกความคาดหวังของพ่อแม่ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะนั้นคณะนี้ให้ได้ บางคนถึงขนาดต้องแบกทั้งชีวิตเพียงเพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ !
เราจึงเห็นการเลือกแผนการศึกษาของเด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เด็กจำนวนไม่น้อยต้องเลือกแผนการศึกษาที่ไม่ตรงกับความถนัดของตัวเอง
จริงอยู่เป็นเพราะส่วนหนึ่งไม่รู้จะเรียนอะไรดี หรือเลือกตามเพื่อน แต่ก็มีไม่น้อยที่เลือกเรียนตามที่พ่อแม่ต้องการ
ปัญหาใหญ่ของบ้านเรา คือ ด้วยทัศนคติส่วนใหญ่ของผู้ใหญ่ในสังคมจะใช้เกรดเฉลี่ยในการแบ่งแผนการศึกษา มากกว่าที่จะแบ่งตามความถนัด ขณะเดียวกันค่านิยมของคนเป็นพ่อแม่ และครูบาอาจารย์ ก็ยังให้คุณค่ากับเด็กที่เกรดเฉลี่ยดี จะสนับสนุนให้เลือกเรียนแผนวิทย์คณิตมากกว่า ส่วนเด็กที่เกรดเฉลี่ยไม่ดี ถึงจะไปเรียนแผนศิลป์ภาษา
สังคมไทยอยู่กับค่านิยมและทัศนคติเรื่องเกรดเฉลี่ย หรือ ผลการเรียนมาโดยตลอด และเมื่อเด็กเกรดเฉลี่ยเรียนดี แม้จะชื่นชอบแผนการเรียนศิลป์ภาษา ก็ไม่ค่อยได้เลือกอย่างที่ปรารถนา เพราะมักถูกพ่อแม่หรืออาจารย์ร่วมมือกันทั้งหว่านล้อม ทั้งเกลี้ยกล่อมแกมขอร้องหรือบังคับ เพื่อให้เด็กเลือกสายวิทย์คณิตเท่านั้น
เด็กบางคนอยากเรียนทางด้านศิลป์ภาษาใจจะขาด แต่ก็ไม่สามารถขัดใจพ่อแม่ได้ หรือถ้าผ่านด่านพ่อแม่ได้ ก็ต้องมาผ่านด่านคุณครูอีกที่มักจะสนับสนุนให้ลูกศิษย์ที่เกรดเฉลี่ยดี เรียนสายวิทย์คณิต ด้วยเหตุผลว่า
“มีทางเลือกได้มากกว่า”
“เธอหัวดี จะไปเรียนศิลป์ภาษาทำไม”
จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะพบเด็กที่ประสบปัญหาเหล่านี้ เมื่อเรียนจบไปหางานทำ มักจะมีอยู่สองประเภท
ประเภทที่หนึ่ง ค้นหาตัวเองไม่เจอสักที
เนื่องเพราะเด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้จักตัวเอง ส่วนใหญ่เดินตามที่พ่อแม่ออกแบบชีวิตให้ มักไม่ค่อยรู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองสนใจอะไรจริงๆ เด็กจำพวกนี้เมื่อออกไปทำงานจริง มักจะเปลี่ยนงานบ่อย เพราะเมื่อทำงานที่นี่ก็รู้สึกไม่ใช่ ทำงานที่นั่นก็รู้สึกไม่เหมาะ บางคนอาจค้นหาตัวเองไปตลอดชีวิตก็มี
ประเภทที่สอง ทำงานไม่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา
จำพวกนี้ก็เยอะ เพราะเมื่อเรียนจบก็พบว่าตัวเองไม่ได้ชอบคณะที่เรียนมา รู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวเอง เด็กแบบนี้เยอะมาก บางคนอาจค้นพบตัวเองตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ทำให้ต้องย้ายคณะกลางคัน หรือยอมเรียนซ้ำชั้นเพื่อเปลี่ยนคณะที่เรียน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ค้นพบว่าตัวเองชอบสิ่งใดเมื่อเรียนจบออกมา แล้วไปหางานทำซึ่งไม่ตรงกับสายที่เรียนจบมา แม้จะมีไม่น้อยที่ตัดสินใจทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักในภายหลัง ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย เพราะต้องเสียเวลาในการค้นหาความสนใจและสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ก็ยังดีที่ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ แต่บางคนอาจใช้เวลานานกว่าจะค้นพบว่าตัวเองทำงานหรือถนัดอะไร หรือทำสิ่งใดได้ดี
กรณีของน้องปรางจึงน่าชื่นชมพ่อแม่เป็นอย่างมาก ที่เปิดกว้างและให้โอกาสลูกได้เดินตามความถนัดหรือในสิ่งที่ลูกชอบ
เรื่องส่งเสริมความถนัดและความสนใจของลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่สามารถช่วยลูกให้ค้นหาความถนัดของตัวเองได้ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ
หนึ่ง เป็นโค้ชที่ดี
พ่อแม่ควรทำหน้าที่คอยสังเกตและสนับสนุนในสิ่งที่ลูกถนัดและทำได้ดี รวมไปถึงควรชื่นชมและให้กำลังใจทุกครั้งที่ลูกทำสิ่งใดได้ดี จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจ และความพยายามที่จะทำสิ่งที่ตัวเองชอบและทำได้ดี
สอง ตั้งใจฟัง
พ่อแม่มักถือดีว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน จึงมักคิดและตัดสินใจแทนลูกอยู่เสมอ ทั้งที่เด็กทุกคนและทุกวัยต้องการให้พ่อแม่รับฟังเขา ยิ่งลูกเติบโตมากเท่าไหร่ พ่อแม่ยิ่งต้องพูดน้อยลงและรับฟังลูกมากขึ้น ที่สำคัญต้องตั้งใจฟัง มิใช่ฟังแบบขอไปที หรือชอบตัดบทประมาณรู้ว่าลูกจะพูดอะไร พ่อแม่ต้องสร้างบทบาทการฟังลูกให้มาก ฟังอย่างตั้งใจ แล้วเราจะว่าลูกคิดอย่างไร ลูกอยากทำอะไร โดยพ่อแม่ทำหน้าที่ตั้งคำถาม หรือกลับไปข้อหนึ่งคือการเป็นโค้ชที่ดี
สาม เปิดโอกาส
สิ่งนี้สำคัญมาก เป็นสิ่งพ่อแม่ต้องมี คือ การเปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้จักตัวเอง เปิดโอกาสให้ค้นหาตัวเอง เพราะโอกาสคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับพวกเขา เป็นที่น่าเสียดายว่าเด็กเก่งในบ้านเราจำนวนมากไม่เคยได้รับโอกาสที่ดีในการแสดงความสามารถหรือศักยภาพของตัวเองอย่างแท้จริง เราถูกผู้ใหญ่ในสังคมปิดโอกาสด้วยค่านิยมและทัศนคติที่ผิดๆ มามาก
สี่ ลงมือทำ
ไม่ใช่เปิดโอกาสอย่างเดียว การเปิดโอกาสต้องปล่อยให้ลูกได้ลงมือทำด้วย เพราะการได้ลงมือทำคือการได้ลองผิดลองถูก ได้เรียนรู้ ได้ลองค้นหาด้วยตัวเอง ทำให้ได้มีโอกาสคิด วิเคราะห์ และประเมินได้ว่าเราถนัดอะไร แล้วคุณจะพบว่าลูกคุณมีความคิดที่ดีหรือเป็นผู้ใหญ่มากกว่าที่คุณคิด
ห้า เข้าใจและยอมรับ
ขั้นตอนสุดท้ายสำคัญมาก เมื่อลูกของเราค้นหาและค้นพบว่าตัวเองถนัดอะไร ชอบอะไร ซึ่งไม่ว่าสิ่งนั้นจะตรงใจพ่อแม่หรือไม่ก็ตาม ต้องเข้าใจและยอมรับในตัวลูกด้วย
อย่าลืมว่าพ่อแม่ไม่สามารถที่จะอยู่กับลูกได้ตลอดชีวิต การฝึกให้เขาเรียนรู้ทักษะชีวิต ได้เรียนรู้จักตัวเอง ได้มีโอกาสเผชิญโลกด้วยความมั่นใจ
สุดท้ายชีวิตของเขาก็จะมีความสุข
ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่