เรื่อง/ภาพ : ถนอม ขุนเพ็ชร์
“มีคนเคยมาขอซื้อลูกมะพร้าวผม ให้ราคาเป็นหมื่น แต่ผมไม่ขายหรอก ก็ให้เขาไปฟรีๆ”
สาเหล็ม หมาดหวัง หมอพื้นบ้านแห่ง ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล เล่าให้ฟังพร้อมๆ กับโชว์มะพร้าวปอกเปลือกจนเหลือแต่กะลาทั้งลูก โดยนำมาเป็นอุปกรณ์สำคัญในการรักษาอาการปวดเมื่อยไปจนถึงอัมพฤกษ์-อัมพาตได้อย่างอัศจรรย์
ที่อัศจรรย์ยิ่งกว่าคือ สาเหล็ม หมาดหวัง ในฐานะคณะทำงานโครงการร่วมสร้างสมุนไพรให้ห่างไกลโรค บ้านในเมือง หมู่ 12 ต.ละงู อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เขาบอกว่า เทคนิคเหล่านี้ไม่มีผู้ใดสอน และเชื่อว่าพระเจ้ามาเข้าฝัน และบอกให้เขาทำ
เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ตอนนั้นเขาอายุ 32 ปี สาเหล็ม เคยเป็นอัมพฤกษ์ ขาข้างหนึ่งยกไม่ขึ้น และมีอาการปวด ระหว่างนั้นที่เขาเริ่มเรียนรู้การรักษาตัวเอง และพบว่า หากปวดเมื่อยบริเวณไหนก็ให้เอากะลามะพร้าวแบบทั้งลูกมานั่งทับในบริเวณนั้น อาการจะทุเลา และหายไปเอง
เขาเล่าว่า ก่อนนั้นไม่ได้สนใจเรื่องแบบนี้มาก่อนเลย แต่สถานการณ์เจ็บป่วยส่วนตัว จึงหันมาลองบีบนวดตัวเอง
“ประสบการณ์ส่วนตัวมาสอนผม พระเจ้ามาทดสอบกับเราเอง พระเจ้าทรงเอ็นดูผม ก็มาบอกในฝันว่าให้เราทำตามที่บอกว่า ให้เอาของแข็งหนุนนอน เราก็มาทำเอง โดยที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดมาจากใคร ก็เลยพัฒนาเอาลูกมะพร้าวมาเป็นเครื่องมือในการรักษา”
หลังจากนั่งทับกะลามะพร้าว 1 เดือน เขาเริ่มเดินได้ เมื่อพบว่าเป็นวิธีรักษาที่ดี ต่อมาเขาก็ถ่ายทอดให้คนอื่นทำตาม
เขาเล่าพร้อมกับสาธิตการวางตำแหน่งกะลามะพร้าว สำหรับอาการปวดเมื่อยร่างกายในตำแหน่งต่างๆ หากไม่มีกะลามะพร้าว อาจใช้ขอนไม้เล็กๆ มาแทนได้ ระหว่างที่เขาป่วยยังได้วิชาการบีบนวดที่ใช้แก่ตัวเอง มีเทคนิคการนวดที่ใช้ปลายนิ้ว ทุกวันนี้เขาจึงเป็นหมอบีบนวดผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต ทุกคนที่มาหาเขาแนะนำให้กลับไปนั่งทับลูกกะลามะพร้าวประกอบด้วย
“มีวิธีปฏิบัติที่ผมแนะนำตามอาการแต่ละคน ผมก็จะแนะนำให้ด้วย เจ็บตรงไหนก็ใช้ได้หมด แค่นอนทับ ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์ของระบบการไหลเวียนเลือด คนที่ไปใช้ก็ว่าได้ผล และสนใจมาก”
ทุกวันอาทิตย์ สาเหล็ม กับเพื่อนหมอพื้นบ้านตำบลละงูมักมาร่วมกิจกรรมที่ศูนย์โครงการร่วมสร้างสมุนไพรให้ห่างไกลโรค เพื่อช่วยรักษาอาการเข็ดเมื่อย ซึ่งโรคที่เป็นกันมากในแถบนี้ตามรายงานของ รพ.สต.ในพื้นที่
เฉลิม บัวดำ แพทย์แผนไทยปฏิบัติการโรงพยาบาลละงู ซึ่งเป็นคณะทำงานโครงการร่วมสร้างสมุนไพรให้ห่างไกลโรค เล่าว่า สาเหล็ม กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการ ซึ่งดำเนินการโดยชมรมแพทย์แผนไทยตำบลละงูที่มี นายกาเหตุ ดุลโรจสิริ เป็นประธานโครงการ
ที่นี่มีการรวมตัวกับหมอพื้นบ้านรุ่นเก่า ดึงความรู้ภูมิปัญญากลับมาให้ชุมชน เสนอแนวคิดผ่าน อบต.ละงู และอำเภอละงู ขอพื้นที่ของกรมพัฒนาชุมชน จำนวน 12 ไร่ ในหมู่ 12 บ้านในเมือง ต.ละงู ซึ่งเดิมเป็นป่ากระถินณรงค์ แล้วนำมาปลูกสมุนไพรทั้งที่ใช้รักษา และสมุนไพรหายากแทน แล้วทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ชาวบ้าน
“จุดเริ่มจริงๆ มาจากการเริ่มต้นของหมอพื้นบ้าน 5 คน ในจำนวนนี้บางคนเสียชีวิต บางคนก็ชรามาก ตอนแรกไม่มีหน่วยงานใดสนับสนุน แต่หมอพื้นบ้านหลายคนมาบุกเบิกป่าที่เคยรกมาก นำมาปลูกต้นไม้ ช่วยกันดูแล โดยไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเลยตั้งแต่ปี 2543”
กระทั่ง ทางโรงพยาบาลละงู เครือข่ายสาธารณสุขอำเภอละงู และ อบต.ละงู มองเห็นความสำคัญของแพทย์แผนไทย จึงเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้เครือข่ายระดับอำเภอ
“ที่ศูนย์สมุนไพร เรามีเป้าหมายที่ต้องการให้ชาวบ้านรู้ว่า จากที่เคยเป็นป่ามืดๆ รกๆ เคยมีเพิงเก่าๆ น่ากลัว ลึกลับ ก็จะเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่สุขภาพ โดยเฉพาะหมอพื้นบ้านของเรา คนที่อื่นรู้จักและมาหากันเยอะ แต่คนในชุมชนกลับไม่ค่อยรู้จัก การทำตรงนี้เป็นการนำเสนอครูภูมิปัญญาให้ที่เป็นที่รู้จัก”
การถอดองค์ความรู้จากหมอพื้นบ้านนั้น จะทำให้ชาวบ้านกลับไปดูแลตัวเองได้ เช่น การประคบสมุนไพร การนวดโดยกะลามะพร้าว ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่เยอะในชุมชน มีการเอาภูมิปัญญาจากหมอพื้นบ้านถ่ายถอดให้แก่ชาวบ้าน อย่างเช่นกรณีของ สาเหล็ม หมาดหวัง ที่ใช้กะลามะพร้าวมารักษา และเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งก็จะสอนให้ชาวบ้านได้ใช้
เฉลิม กล่าวว่า วิถีหมอพื้นบ้านเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นของชาวบ้านที่มีมานานแล้ว แต่ในยุคที่เทคโนโลยีที่เข้ามาเยอะอาจทำให้คนลืมตรงนี้ไป โครงการได้มีส่วนฟื้นความรู้เก่ากลับมาให้ชุมชน จนเป็นที่ได้ยอมรับในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่
สำหรับผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู ได้มีนโยบายชัดเจนในการให้แพทย์แผนไทยเป็นแพทย์ทางเลือกสำหรับชาวบ้าน มีการสนับสนุนพัฒนายาสมุนไพรมาใช้ ช่วยลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน และก็ได้รับความสนใจจากชาวบ้านมาก
“นอกจากส่งเสริมให้ปลูกตามบ้านแล้ว อนาคตเราก็มองว่าพื้นที่ 12 ไร่นี้ที่นำมาปลูกสมุนไพร ต่อไปจะให้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตยาสมุนไพรให้โรงพยาบาลด้วย” เฉลิม กล่าว
สุรสิทธิ์ สุรการากุล รองประธานโครงการเล่าว่า ทีมหมอพื้นบ้านในตำบลละงูปัจจุบันได้รับการฝึกอบรมภูมิปัญญามาจากหมอพื้นบ้านกลุ่มแรกของชุมชน 4-5 คนในปี 2543 การได้ร่วมกันทำสวนสมุนไพรในพื้นที่รวมของชุมชน ใช้รูปแบบช่วยกันหามาปลูก และช่วยกันดูแล
ตอนนี้สามารถปลูกสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด และกำลังปลูกเพิ่มอีก 100 ชนิด ทั้งนี้ เพื่อมุ่งให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน เพื่อใช้สมุนไพรไปดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่โรงเรียน เด็ก เยาวชน ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนรุ่นหลัง ในอนาคตถ้าสามารถมีปริมาณสมุนไพรที่ผลิตได้มากพอก็จะนำไปทำผลิตภัณฑ์ชุมชน
“เราก็ไม่คิดว่าจะให้แค่เป็นศูนย์เกี่ยวกับสมุนไพร แต่จะต้องมีความหมายกว้างเกี่ยวกับสุขภาพทุกอย่างด้วย ในอนาคตเราอยากมีสมุนไพรหลากหลายชนิดเป็นทางเลือกของคนในชุมชน ในการที่จะมารักษา บำบัดโรค เป็นสถานที่ออกกำลังกาย และที่รวมของนวัตกรรมของชุมชน”
นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลละงู กล่าวว่า จากการทำงานที่โรงพยาบาลละงูมา 20 กว่าปี พบว่า การพัฒนาหลายเรื่องต้องขับเคลื่อนไปกับชุมชน อย่างการเดินไปสู่อำเภอสุขภาวะ ต้องเอาคนมามีส่วนร่วม ไม่ว่าประชาชน เครือข่าย อปท. ตามแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาของ ศ.นพ.ประเวศ วสี
โครงการร่วมสร้างสมุนไพรให้ห่างไกลโรคที่โรงพยาบาลละงูมีส่วนสนับสนุน เป็นการเชื่อมต่อภูมิปัญญาในท้องถิ่น ช่วยให้ชาวบ้านฝึกเปลี่ยนแนวคิด ฝึกอาวุธทางวิชาการ ปัญญา อ้างอิงจากพื้นฐานทางวัฒนธรรม ข้อมูล ความรู้พื้นฐานของตนเองที่มีอยู่แล้วมาใช้ หลังจากทำงานร่วมกับส่วนต่างๆ ก็ได้ศูนย์สมุนไพรที่ประชาชนสามารถมาใช้บริการได้
“เราก็มีแนวคิดที่จะไปนวดตามบ้าน นอกจากนั้น ก็จะมีเยาวชน คนจากที่อื่นทุกระดับมาเรียนรู้กับเราด้วย ภูมิปัญญาเหล่านี้คิดว่ามันจะอยู่ไปกับพื้นที่ได้อีกนาน”
เขาเล่าด้วยว่า รู้สึกภูมิใจในชาวบ้านที่สามารถมาทำ และขับเคลื่อนโครงการได้ เจ้าหน้าที่แค่ให้ความรู้ และกระตุ้น หรือสนับสนุนในบางเรื่อง
“ผมคิดว่าคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะคนทำงานที่มาช่วยทำงานด้วยใจ ถ้ามาด้วยใจแล้ว คนอื่นจะตามหลังมา แล้วก็จะเป็นแนวโน้มถึงความยั่งยืนต่อไปด้วย”
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลละงูก็ได้เปิดโอกาสในการรักษาพยาบาลด้วย โดยให้ผู้ป่วยเลือกใช้แพทย์แผนไทย หรือแผนปัจจุบันได้ เพราะหลายโรค เช่น ปวดเมื่อย ปวดขา แน่นท้อง ท้องอืด รักษาโดยแพทย์แผนไทยได้อยู่แล้ว มีการรักษาหลายแบบ ทั้งนวด อบ ประคบสมุนไพร ยากิน การดูแลหญิงหลังคลอด เป็นต้น
นพ.ปวิตร เล่าเสริมอีกว่า การบริหารแบบผสมผสาน และอัตราการใช้ยาแพทย์แผนไทยก็มากขึ้น ส่งผลให้อัตราการใช้ยาแผนสมุนไพรที่โรงพยาบาลละงูเพิ่มขึ้นเป็น 15% ของมูลค่ายาทั้งหมดในโรงพยาบาลละงู ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุข
“แพทย์ทั้ง 2 ส่วนก็ต้องอาศัยการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แพทย์แผนปัจจุบันก็สั่งยาแผนไทยให้คนไข้ด้วย เช่น ขมิ้นชันแก้ท้องอืด ปวดท้อง ไอก็สั่งยาอมมะแว้ง ครั่นเนื้อครั่นตัวจะไข้ก็อาจให้ฟ้าทลายโจร อย่างผมก็กินขมิ้นชันทุกวัน จริงแล้วยาพวกนี้สามารถจ่ายให้ชาวบ้านในชุมชนได้ด้วยซ้ำไป เพื่อให้นำไปใช้แก้ไขเบื้องต้น ปรับธาตุสมดุลในร่างกาย ถ้าหายก็ไม่ต้องรักษาแบบอื่น”