ปัตตานี - ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มมีความหวังอีกครั้ง หลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับ 24 ห้ามใช้ไอ้โง่จับสัตว์น้ำเด็ดขาด ชี้ชาวประมงอวนลอยต้องได้รับผลกระทบหยุดออกหาปลามานานกว่า 2 ปี เนื่องจากเครื่องมือ “ไอ้โง่” กระทบต่อจำนวนพันธุ์สัตว์น้ำ
วันนี้ (20 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานการทำประมงในอ่าวปัตตานีของชาวประมงพื้นบ้าน ล่าสุด เริ่มมีความหวังที่จะได้กลับมาทำประมงอวนลอยอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดพักนานถึง 2 ปีเศษ เพราะผลกระทบจากการทำประมงไอ้โง่ หรือลอบพับที่มีตาขนาดเล็ก ทำให้ชาวประมงหลายครอบครัวต้องขาดรายได้จากการทำประมงมาเลี้ยงดูครอบครัว
วันนี้ที่อู่ซ่อมเรือประมงพื้นบ้าน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี นายเปาะ จิลี ชาวประมงพื้นบ้าน พร้อมช่างเรือ เริ่มกลับมาซ่อมแซมเรือที่มีสภาพเก่าเพื่อกลับมาใช้ใหม่ เตรียมที่จะพาลงอ่าวฯ ทำประมงอวนลอยอีกครั้ง หลังจากที่มีคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ 24/2558 โดยในคำสั่งมีระบุห้ามใช้เครื่องมือไอ้โง่ทำประมงอีกต่อไป จึงทำให้ชาวประมงพื้นบ้านอวนลอยของปัตตานีเริ่มมีความหวัง ถึงแม้ปัตตานีเจ้าหน้าที่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ในการห้ามปรามไอ้โง่อย่างจริงจัง ทำให้ยังคงมีชาวประมงบางคนยังลักลอบนำไอ้โง่มาใช้ทำประมง โดยไม่เกรงกลัวต่อคำสั่งดังกล่าว และการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นอ่อนแอ แต่คำสั่ง คสช.ในครั้งนี้ เราพร้อมที่จะหันมาต่อสู้ชีวิตอีกครั้งกับอาชีพการทำประมง ด้วยเครื่องมือที่ไม่ทำลายล้างสัตว์น้ำ
จะเห็นได้ว่าสภาพเรือเก่าๆ ทรงโบราณเหล่านี้ถูกลากขึ้นมาจอดบริเวณอู่ซ่อมเรือบ้าน ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เพื่อซ่อมแซมให้สามารถพร้อมใช้งานออกทะเลได้ปกติ หลังจากที่เจ้าของต้องทิ้งเรือแล้วไปขายแรงงานในต่างประเทศเพราะพิษ ไอโง่ ระบาดอย่างหนักเมื่อ 2 ปีก่อน วันนี้ หลังจาก คสช. ได้ออกคำสั่งประกาศแก้ไขปัญหาเรือประมงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ ไอโง่ หนึ่งในเครื่องมือที่ถูก คสช.ประกาศสั่งห้ามครอบครอง และใช้ทำการประมงต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ไอ้โง่” เป็นอุปกรณ์ดักปลา ใช้วางดักปลาในน้ำ มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หุ้มด้วยตาข่ายไนลอนคล้ายๆ ลอบดักปลา แต่เอาหลายๆ อันมาวางเรียงกลับหัวกลับหาง ความยาว อยู่ที่ขนาด และจำนวนลอบที่ใช้ทำ ใช้วางตามร่องน้ำ สามารถดักสัตว์น้ำได้ทุกชนิด ลงทุน และใช้แรงงานน้อย เพียงเอาไปวางไว้ตามร่องน้ำ เมื่อถึงเวลาก็ไปเก็บกู้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเหมือนการทำประมงชนิดอื่น ทั้งเรืออวนลาก เรืออวนรุน ที่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดินเครื่องยนต์ จึงเป็นที่นิยมของชาวประมงบางคนนำใช้เป็นเครื่องมือทำประมง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา