ปัตตานี - นักศึกษาไทยที่กำลังเรียนอยู่ในเยเมนส่วนใหญ่ยังอยากกลับไปเรียนต่อหากสถานการณ์ดีขึ้น หลัง ศอ.บต. จัดโครงการพบปะสร้างความเข้าใจ พร้อมให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ
วานนี้ (28 ก.ค.) ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบโอวาท และพบปะนักศึกษาไทยจากประเทศเยเมน โดยมี นายธาตรี เชาวชตา ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ จำจด ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนผู้แทนศูนย์ประสานงานบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายกสมาคมศิษย์เก่าต่างประเทศ ร่วมแนะแนวทางการศึกษาต่อ และให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ โดยมีมีนักศึกษาที่เข้าร่วม จำนวน 67 คน ส่วนใหญ่มีความประสงค์ที่จะเดินทางกลับไปศึกษาต่อในประเทศเยเมน หากสถานการณ์ดีขึ้น เพราะต้องการความต่อเนื่องของหลักสูตรในสถาบันการศึกษาของประเทศเยเมน
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ศอ.บต.ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นต้นทุนทางสังคมที่มีคุณค่า การที่ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศนั้น นอกจากจะได้รับความรู้ในการศึกษาแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ การช่วยเหลือตนเองในต่างแดน และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในวัฒนธรรมที่หลากหลาย และแตกต่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่น้อยคนนักจะได้รับโอกาส ฉะนั้นทุกคนควรเก็บเกี่ยวความรู้รวมทั้งประสบการณ์ชีวิตที่ได้ประสบพบเจอมาให้ได้มากที่สุด เพื่อนำกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง และยกระดับการพัฒนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยหน่วยงานต่างๆ พร้อมที่จะรับฟังความประสงค์ในการขอรับความช่วยเหลือของนักศึกษาแต่ละราย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมพบปะในวันนี้จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับข้อสรุปด้านการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลของนักศึกษาในประเด็นต่างๆ และเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักศึกษาไทยทุกคนด้วยว่า รัฐบาลไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ได้ให้ความสำคัญในการแสดงความห่วงใยพร้อมให้ความช่วยเหลือต่อไป
ด้าน นายมูฮัมหมัด เซ็งเละ นักศึกษาศาสตร์ทางด้านอิสลาม สถาบัน Ribat Fatah ประเทศเยเมน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผมเรียนที่ประเทศอียิปต์ แล้วได้รู้จักกับคนประเทศเยเมน ผมติดใจในนิสัยความน่ารักของผู้คน จึงทำให้ตัดสินใจย้ายไปเรียนที่ประเทศเยเมน มาตรฐานการศึกษาของที่นั่นจะยึดหลักของความรักเป็นหลัก คือ ครูอาจารย์จะมอบความรักให้แก่ลูกศิษย์ โดยศึกษาเรียนรู้จากนิสัยใจคอ เมื่อพบข้อเสียของนักศึกษาก็จะปรับปรุงแก้ไขจากใจถึงใจ ผลิตบัณฑิตด้วยใจบริสุทธิ์ เน้นการสอนให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง จึงค่อยเติมเต็มวิชาการความรู้เข้าไป ผมอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือเรื่องการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไปศึกษาต่อให้แก่นักศึกษา
ด้าน นายซ่าอา ทับทิมใหม่ นักศึกษาจากคณะนิติศาสตร์อิสลามและสากล มหาวิทยาลัยอัล-อัรกอฟ กล่าวด้วยว่า ในนามของประธานนักศึกษาไทยในประเทศเยเมน ผมขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ และ ศอ.บต. ที่จัดโครงการสร้างความเข้าใจในการศึกษาต่อ เพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนที่ใด ถ้าสถานการณ์ในประเทศเยเมนดีขึ้นภายในปีนี้ ผมอยากกลับไปเรียนต่อจนจบเพราะอยู่ปี 4 ใกล้จะจบแล้ว ถ้าหากไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ผมก็อยากเรียนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ หลักสูตรของภาษาอาหรับให้จบ เพราะผมคิดว่าภาษาอาหรับมีความจำเป็นมากในยุคปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเข้าใจในหลักคำสอนของอัลกุรอานแล้ว ยังสามารถที่จะเป็นล่ามแปลภาษา หรือเป็นไกด์นำเที่ยวได้อีกด้วย