นครศรีธรรมราช - รมว.ศึกษาธิการ อนุมัติขยายเวลาผูกพันงบศูนย์การแพทย์ มวล. เตรียมลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการมูลค่า 2,128 ล้านบาท หลังชะงักนานกว่า 1 ปี เนื่องจากพบเอกสารปลอม และมีการยกเลิกสัญญาว่าจ้าง
วันนี้ (27 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานสารบัญของ ม.วลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ได้รับหนังสืออนุมัติการขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ มูลค่า 2,128 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ ม.วลัยลักษณ์ สามารถจัดการลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการนี้ใหม่ได้ทันที
สำหรับศูนย์การแพทย์แห่งนี้จะเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ตอนบน และเป็นที่เรียนของนักศึกษาสำนักวิชาแพทยศาสตร์ของ ม.วลัยลักษณ์ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้จัดการประกวดราคาด้วยวิธีแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปเรียบร้อยแล้ว และเตรียมลงนามสัญญาจ้างในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ หลังจากโครงการได้ชะงักไปกว่า 1 ปีแล้ว หลังจากพบปัญหาเอกชนผู้รับเหมารายเดิมได้นำเอกสารหลักประกันสัญญาซึ่งสถาบันการเงินที่ระบุในเอกสารได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือเป็นเอกสารปลอม
สำหรับหนังสือฉบับดังกล่าวนั้น เป็นบันทึกข้อความของสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ.0201.1/295(504) ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงนามโดย รศ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องขอขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์พร้อมระบบสาธารณูปการของ ม.วลัยลักษณ์ โดยมีข้อพิจารณาคือ การขออนุมัติขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ จากปีงบประมาณ 2554-2560 เป็นปีงบประมาณ 2554-2562 เป็นการขออนุมัติขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ กรณีระยะเวลาการดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเกินกว่าระยะเวลาที่ ครม.อนุมัติไว้ เนื่องจากมีการบอกเลิกสัญญาจ้างเดิม และดำเนินการประกวดราคาจ้างใหม่
ซึ่งได้อนุมัติการจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ มีระยะเวลา 1,400 วัน คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2562 เป็นเหตุผลในการขอขยายเวลาจากเดิม ปีงบประมาณ 2554-2560 เป็นปีงบประมาณ 2554-2562 ซึ่ง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามอนุมัติในหนังสือฉบับนี้ ส่งผลให้ ม.วลัยลักษณ์ สามารถลงนามสัญญาก่อสร้างได้ใหม่ทันที โดยมีผู้รับเหมารายใหม่คือ บริษัทเพาเวอร์ไลน์ จำกัด (มหาชน) จะเป็นคู่สัญญาในโครงการนี้ หลังจากที่ชนะการประกวดราคาในวงเงินต่ำสุดที่ 2,128 ล้านบาท
ส่วนพื้นที่บริเวณก่อสร้างโครงการนั้นยังคงถูกล้อมรั้วลวดหนาม เป็นพื้นที่หวงห้ามอย่างเด็ดขาดตามคำสั่งมหาวิทยาลัย และพบว่า มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือให้บริษัทพีวีทีร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายเดิมที่ถูกยกเลิกสัญญามาทำการรื้อถอนอาคารสำนักงานชั่วคราว และเสาเข็ม 1 ต้น ท่อคอนกรีตอีกจำนวนหนึ่งออกจากพื้นที่ก่อสร้าง
ปรากฏว่า บริษัทได้บอกปฏิเสธไม่ยอมรื้อถอน โดยอ้างว่ายังมีสิทธิในสัญญา และอยู่ในระหว่างการฟ้องคดี ขณะที่ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ยินดีที่จะกันพื้นที่อาคารชั่วคราวของบริษัทที่ถูกยกเลิกสัญญาไว้ก่อน และจะล้อมรั้วลวดหนามไว้ห้ามไม่ให้ใครยุ่งเกี่ยวเด็ดขาด จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น ส่วนโครงการศูนย์การแพทย์จะต้องเดินหน้าไปตามแผนทันทีหลังจากที่ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่ คือ บริษัทเพาเวอร์ไลน์ จำกัด (มหาชน) ตามกำหนดการในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้