ปัตตานี - นายมะแอ สะอะ หรือยีแอท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโลเก่า หลังได้การพักโทษเมื่อ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ออกเล่าความหลังพร้อมแนะแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้
วันนี้ (23 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมะแอ สะอะ หรือยีแอท่าน้ำ อดีตแกนนำพูโลเก่า นับเป็นบุคคลหนึ่งที่มีบทบาท มีชื่อเสียง เป็นที่พึ่งพา เคารพนับถือ และเกรงขามของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกท่านหนึ่ง ผู้คนมักรู้จักในนาม ยีแอท่าน้ำ หรือยีแอตือแน ถึงแม้ช่วงหนึ่งต้องถูกจองจำที่เรือนจำ แต่ความนับถือของผู้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้เสื่อมถอย จะเห็นได้ว่า หลังจากที่ได้การพักโทษเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวที่บ้านเกิดใน ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งมีประชาชนจากทั่วสารทิศ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่างแห่เดินทางมาเยี่ยมถึงที่บ้านอย่างไม่ขาดสาย ทุกคนมีรอยยิ้มบนความหวังแห่งสันติสุขชายแดนใต้จะหวนกลับมาอีกครั้ง
เราได้มีโอกาสถอดใจอดีตแกนนำพูโล เพื่อสร้างความเข้าใจต่อที่มาของกลุ่มขบวนการพูโล และบทบาทบนเวทีการพูดคุยสันติสุขระหว่างกลุ่มขบวนการต่างๆ กับรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาว่า เมื่อปี 2552 ในอดีตวิธีการคัดเลือกผู้นำคนใหม่ ไม่ว่าขบวนการ หรือพรรคการเมือง ก็ไม่ต่างกัน คือ เมื่อมีเหตุ หรือผู้นำลาออก หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเสียชีวิต รองหัวหน้าในขณะนั้นก็จะเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทนไปก่อนที่จะมีการคัดเลือกแต่งตั้งผู้นำคนใหม่โดยอัตโนมัติ
ในอดีตผู้ดำรงตำแหน่งขบวนการพูโล ตั้งแต่ปี 2519-2536 ตึงกูบีรอห์ กอตอนีรอห์ หรือกาบีอับดุลห์ ละห์มัน เป็นหัวหน้าขบวนการ ดร.ฮารุน มูรเล็ง หรือมูฮัมหมัด เบ็นมูฮัมหมัด เป็นรองขบวนการ รับผิดชอบงานโซนอเมริกา และยุโรป ฮัจยีอับดุลห์ฮาดี ฮัจยีรอห์ชาลี รองหัวหน้าขบวนการ ฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN และฮัจยีรุสดี บีงอ รองขบวนการ ฝ่ายเอเชียตะวันออกกลาง
“เหตุการณ์เมื่อปี 2536 ได้เกิดวิกฤตการณ์ขัดแย้งกันในกลุ่มผู้นำขบวนการ จนเป็นเหตุให้ขบวนการพูโลได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขบวนการพูโลเก่า มีตึงกูบีรอห์เป็นผู้นำ และกลุ่มขบวนการพูโลใหม่ ฮัจยีอับดุลห์ฮาดี ฮัจยีรอห์ชาลี เป็นผู้นำ ในขณะที่ฮัจยีรุสดี บีงอ ไม่ฝักใฝ่กลุ่มใด จากที่เคยอยู่ในเมืองดัมซิก เมืองหลวงประเทศซีเรีย ก็ได้ย้ายครอบครัวไปอยู่ประเทศสวีเดนจนถึงปัจจุบัน ทำให้ซัมซูดิง ข่าน ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าขบวนการพูโลเก่า และในช่วงนั้นก็เกิดการเจรจาขึ้นในทางลับระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนกลุ่มขบวนการพูโล จำนวน 2 ครั้ง
“โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่กรุงไคโร ประเทศอียิป ครั้งที่ 2 ที่เมืองดัมซิก ประเทศซีเรีย ซึ่งมีตัวแทนจากประเทศไทยในขณะนั้นคือ พล.ต.อัครนิตย์ มิงสวัสดิ์, พ.อ. พิเศษ ชรินทร์ อมรเขียว, พ.อ.อภิไทย สุวรรณภพ, ดร.มาฮาดี (จำนามสกุลไม่ได้), อ.อภิรักษ์ หรือบังเลาะ ส่วนรายกลุ่มตัวแทนที่เป็นฝ่ายพูโล มี ตึงกูบีรอห์ กอตอนีรอห์ หรือกาบีร์, อับดุลห์รอห์มาน ซัมซูดิง ข่าน, อารีเป็น ข่าน, อะห์หมัด บินฮาเดร์, มะเปอลิส ซูเบร์, ฮุสเซ็น ปะจูเซ็ง หรือเปาะซูเซ็ง, ฮัจย์ศาการียา ฮัจยีอิสมาเอล โดยมีผมเป็นตัวแทนในการประสานงาน”
“การเจรจาในครั้งนั้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2536-2537 ในช่วงเวลานี้ผมก็มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทย ซึ่งมาจากกองบัญชาการทหารสูงสุด มี พล.อ.วัลลภ สายแสงทอง, พล.อ.ปรีชา รุ่งสว่าง, พล.ท.โรจน์ เรื่องอรุณ, พล.ต.กิตติ อินต๊ะสงค์ และ พ.อ.สิทธิศักดิ์ นุ่มนาม จำนวนหลายครั้ง ที่ประเทศมาเลเซีย เนื้อหาสาระสำคัญที่พูดคุยเป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยขอให้เข้าร่วมช่วยแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผมเองก็ได้ตอบรับให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ ในครั้งแรกของการเจรจาพูดคุยนั้น ได้มีระดับผู้นำขบวนการในมาเลเซียหลายคนคัดค้านต่อต้าน เพราะไม่เชื่อว่าทางรัฐบาลไทยจะมีความมุ่งมั่น และจริงจังต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้”
“ตอนนั้นผมก็ได้พยายามชี้แจง อธิบายจนทำให้หลายคนเข้าใจ และเห็นด้วยต่อแนวทางของรัฐบาลไทย แต่ก็ยังมีบางกลุ่มเช่นเดียวกันที่ไม่เชื่อใจ ในระหว่างนี้เองได้เกิดการรวมกลุ่มเบอร์ซาตู โดยมี ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน เป็นแกนนำหลัก กลุ่มนี้ได้ตอบรับเจรจากับรัฐบาลไทย หลังจากนั้น ผู้นำขบวนกรพูโล และกลุ่มเบอร์ซาตูก็ได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลบุกิตอามานของมาเลเซีย เพื่อพบปะพูดคุยกันที่สมาคมตำรวจตาเซ๊ะ ตีติวังซา กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงนั้น พล.อ.กิตติ รัตนฉายา ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาค 4
การพบปะในครั้งนั้น ผู้นำขบวนการพูโลเก่าได้ปฏิเสธการเข้าร่วมกลุ่มกับกลุ่มเบอร์ซาตู โดยให้เหตุผลว่า การเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทย ได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว จึงไม่ควรเริ่มต้นใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ขบวนการพูโลเก่าก็ได้มีการสนับสนุนให้กลุ่มเบอร์ซาตูได้มีการเจรจาอย่างต่อเนื่อง”
“จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2540 ผมกับพวกแกนนำอีกหลายท่านก็ถูกทางการมาเลเซียจับส่งให้รัฐบาลไทย และถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏต่อราชอาณาจักรในประเทศไทย จนกระทั่งยาวนานถึง 18 ปี ในระหว่างนั้นก็ไม่มีผู้นำกลุ่มใดออกมาพูดคุยเจรจากับรัฐบาลไทย เขามองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมว่า ขาดความจริงใจไม่มีความปลอดภัย”
นายมะแอ สะอะ หรือหะยีแอท่าน้ำ ยังได้เล่าความรู้สึกความคิดที่อยู่ในเรือนจำว่า “ในขณะที่ผมอยู่ในเรือนจำ ก็คิดเสมอว่า การพุดคุยเจรจาระหว่างกลุ่มขบวนการกับรัฐบาลไทย น่าจะเป็นไปได้ยาก จะเห็นได้ว่าเมื่อปี 2552 ในขณะที่ผมอยู่ในเรือนจำกลางบางขวางแดน 6 เคยเขียนหนังสือส่งถึงแม่ทัพภาคที่ 4 และช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ ก็เคยเขียนหนังสื่อถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นด้วย เพื่อให้มีการพูดคุยเจรจา และทราบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ส่งตัวแทนไปมาเลเซียเพื่อพบกับผู้นำกลุ่มเบอร์ซาตู แต่กลับถูกปฏิเสธ” นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ใต้เริ่มขยายไปในวงกว้าง เริ่มเกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง
นายมะแอ สะอะ อดีตแกนนำพูโลเก่า ได้กล่าวว่า การใช้อาวุธเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะปัญหาจังหวัดภาคใต้ยังมีปัญหาอีกเยอะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาความยากจน ปัญหาคนไม่มีงานทำ ปัญหาการศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่คนในจังหวัดชายแดนใต้ก็นับเป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องได้รับการแก้ไขปัญหา การใช้กำลังมากมายลงมาในพื้นที่ที่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล อาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในทุกมิติของปัญหาชายแดนใต้