xs
xsm
sm
md
lg

ทีมสันติสุข จชต.แจงขับเคลื่อน 3 ระยะ ถกลับจนกว่ามีข้อตกลง เผยคุยแล้ว 6 กลุ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง เลขานุการคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ (แฟ้มภาพ)
เลขาฯ ทีมพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ เผยขับเคลื่อน 3 ระยะ สร้างความเชื่อใจ-ลงสัตยาบัน-ทำโรดแมป คาดต้นปีหน้าเข้าสู่ขั้นที่ 2 แจงที่ผ่านมาคุยทางลับ ทำจนกว่าจะมีข้อตกลงถึงเปิดเผยบนโต๊ะ ย้ำนายกฯ ต้องการให้ทุกกลุ่มร่วมคุย รับตอนนี้มี 6 กลุ่ม บางกลุ่มยังไม่เอาจึงมีป่วนอยู่ ปัดมีข้อตกลงช่วงรอมฎอน ติงกระทบแก้ปัญหา ให้รอคณะพูดคุยชี้แจงเอง

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการปฏิบัติที่ 5 ในฐานะเลขานุการคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ โดยมี พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข ได้ชี้แจงกรณีความเคลื่อนในการเสนอข่าวเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ว่า ขบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้จะขับเคลื่อน 3 ระยะ คือ 1. การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ 2. การลงสัตยาบันในข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหา และ 3. การทำโรดแมปในการนำปัญหามาขยายและทำให้สำเร็จจนจะบังเกิดความสันติสุขในแต่ละเรื่อง โดยคาดว่าจะเข้าสู่ขั้นที่ 2 ของกระบวนการพูดคุยช่วงต้นปี 2559

“การพูดคุยที่ผ่านมาจะทำให้หลักการทางลับเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ การทำงานด้านลับจะดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะมีข้อตกลงเราถึงจะเปิดเผยกันบนโต๊ะ การพูดคุยทั้งสามฝ่ายก็จะต้องเชื่อใจกัน และก็เราได้มีการพูดคุยครั้งแรกราวปลายเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา โดยการพูดคุยทั้งสองครั้งนั้นไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ ทางนายกฯ ต้องการให้ทุกกลุ่มเข้ามาพูดคุย ไม่ใช่เป็นกลุ่มเดียว หรือเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลมาครอบงำ เพื่อให้เกิดความสมดุล และจ้องมีบทบาท พร้อมทั้งสามารถยุติปัญหาได้” พล.ต.นักรบกล่าว และว่าตัวแทนกลุ่มพูดคุยประกอบไปด้วย 6 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) 2. กลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (BIPP) 3. ขบวนการมูจาฮีดีนอิสลามปัตตานี (GMIP) และกลุ่มย่อยองค์กรปลดปล่อยรัฐปัตตานี (PULO) ที่มี 3 กลุ่มย่อยก็สมัครใจเข้ามาพูดคุยกับทางการไทย และมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก

พล.ต.นักรบกล่าวต่อว่า การพูดคุยอย่างเป็นทางการจะเป็นการที่ใช้ทางเมืองเป็นหลัก และอาจมีบางกลุ่มโดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงยังไม่เห็นชอบ หรือยังลังเลที่จะเข้าร่วม ดังนั้นสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จึงยังไม่ยุติลงได้ อย่างไรก็ตามในระหว่างกระบวนการพูคุยดำเนินการอยู่นี้ เจ้าหน้าที่ความมั่นคงยังปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ ทั้งนี้ การกำหนดกลุ่มพูดคุย 6 กลุ่มไม่ใช่การระบุตายตัว แต่ทุกกลุ่มสามารถเข้ามาร่วมได้ ส่วนกระแสข่าวที่สื่อมวลชนบางสำนักระบุว่าได้มีข้อตกลงในช่วงรอมฎอนนั้น ต้องขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง เพียงแต่มีการพูดคุยกันและมีความเห็นตรงกันว่าให้ประชาชนในพื้นที่ปฏิบัติตามศาสนกิจทางศาสนาได้อย่างปลอดภัย

พล.ต.นักรบกล่าวต่อว่า กระบวนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนั้น ต้องขอย้ำว่าทางนายกฯ ทำหน้าที่กำกับนโยบาย โดยมีหัวหน้าคณะพูดฯทำหน้าที่เป็นผู้พูดคุยกับคนเห็นต่าง และก็มีคณะทำงานระดับพื้นที่ โดยมี พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 เป็นประธานทำหน้าที่พูดคุยกับกลุ่มประชาสังคม และภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อกระบวนการพูดคุยฯ

“เพราะฉะนั้น การกล่าวอ้างหรือการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนที่อ้างจะสร้างความเสียหายในการแก้ไขปัญหา และอ้างกระทบต่อกระบวนการพูดคุย ก็ขอให้ทำความเข้าใจว่าคณะพูดคุยจะเป็นผู้แจ้งความคืบหน้าเป็นระยะให้ทราบเอง” พล.ต.นักรบกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น