โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร
“ชุมชนป้อมหก อยู่ในที่ของการรถไฟฯ เป็นชุมชนแออัด เทศบาลเองก็ไม่ได้ดูแลจัดการขยะ ชาวบ้านเดือดร้อนจากปัญหาหลายอย่าง”
“เปรมวดี ผมเอียด” เล่าเมื่อตอนที่ทำ “โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่” โดยพื้นที่ชุมชนป้อมหก อยู่ในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชน และท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.ในปีแรก
เปรมวดี เกิดและโตในชุมชนป้อมหก มีโอกาสได้เรียนจนจบการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และได้งานทำที่กรุงเทพฯ แต่จังหวะชีวิตจัดสรรให้ต้องกลับมาบ้าน
“พ่อเป็นมะเร็ง ดิฉันตัดสินใจทิ้งงานกลับมาอยู่บ้านมาดูแลพ่อ ตอนนั้นในชุมชนเราการจัดการขยะเป็นไปอย่างยอดแย่ ใครใคร่เผาก็เผา ใครใคร่ทิ้งก็ทิ้ง ที่เราเจ็บปวดมากที่สุดคือ เขาเผาขยะตอนพ่อนอนเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอยู่ในบ้าน เราต้องการอากาศดีๆ อยากจะหาอากาศดีให้พ่อ แต่ทำอะไรไม่ได้เลย เลยมาทำโครงการนี้ สุดท้ายพ่อไม่ได้อยู่กับเราแล้ว แต่โครงการยังก้าวต่อไป”
สำหรับโครงการนี้ในระยะแรกประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง พอเข้าสู่ระยะที่สอง ที่เรียกว่า “โครงการแนวทางร่วมสร้างชุมชนป้อมหกให้น่าอยู่ปีที่ 2 : ป้อมหก Eco planet ปฏิบัติการชุมชนรักษ์โลก” เปรมวดี บอกว่า อยากทำทุกอย่างเพื่อจะลบคำสบประมาทที่ว่า ป้อมหกคือสลัม เพราะที่ผ่านมา เมื่อใครพูดคำว่าป้อมหก คนก็จะนึกถึงสลัมริมทางรถไฟกับปัญหามากมาย
“ทุนของชุมชนแห่งนี้พอมีอยู่ เพราะตั้งแต่ปี 2552 กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดยเฉพาะบัณฑิตอาสา ม.อ. เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือชุมชนอย่างมาก”
โครงการ สสส.ที่ผ่านมา มีการเชิญวิทยากรจากเทศบาลนครหาดใหญ่ มาพูดเรื่องการคัดแยกขยะ ใช้ทีมเด็กลงไปสำรวจตามบ้าน พร้อมกันบอกเล่าวิธีการคัดแยกขยะ บ้านหลังใดคัดแยกชัดเจนจะได้สติกเกอร์ที่โครงการจัดทำมีข้อความเก๋ๆ ว่า “บ้านนี้ดี แยกแล้วรวย” บ้านไหนที่แยกขยะแล้วยังสามารถเอาไปขายได้เงินด้วย
ต่อมา มีการขับเคลื่อน “ธนาคารขยะ” เพราะเห็นว่าน่าจะมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน โดยในคณะทำงานมีหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญคือ “สมพร จันทวงศ์” หรือ “ป้าพร” คณะกรรมการชุมชมป้อมหก ที่อุทิศบ้านตัวเองให้เป็นโรงเรียนและแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ต่อมาคือ กลุ่มเยาวชนที่มาช่วยจัดการปัญหาขยะนั่นเอง
ป้าพร เป็นผู้นำเดินแจกถุงขยะ และเชือกที่ผูกถุงขยะที่ลงทุนซื้อเอง พร้อมป้ายที่มีข้อความว่า เชิญชวนให้ทุกคนเก็บขยะ ป้าจะตื่นตอนหัวรุ่งทุกวันเพื่อออกมาเก็บกวาดถนน และทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ข่าวสารในชุมชนด้วยการเดินแจกใบปลิว หรือบอกข่าว
“ในชุมชนที่เต็มไปด้วยคนปากเก่ง ปากกล้า ป้าพรเอาชนะคนเหล่านั้นได้ เพราะป้าพรตื่นตีสี่มากวาดขยะให้คนอื่นดู มานั่งตัดเชือกมามัดปากถุงขยะแจก เป็นภาพที่งดงามของการมีน้ำใจ จากชาวบ้านมีอะไรก็โยนทิ้ง พอเห็นป้าพรทำแบบนี้ตอนแรกเขาก็ว่าเป็นการกระทำที่เสียเวลา เป็นเรื่องเทศบาล ชาวบ้านมีหน้าที่ทิ้ง ป้าพร พยายามอธิบาย ที่เคยโต้ตอบเถียงกันหนักก็เย็นลง”
เปรมวดี เล่าถึงสิ่งที่เกิดในปีที่ 2 ของโครงการ และที่สำคัญเปรมวดี ที่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ได้ป้าพร นี่แหละที่ช่วยให้กำลังใจกัน
“นอกจากฝ่าฟันกลุ่มปากกล้า ปากเก่ง ยังเกิดซูเปอร์ฮีโร่ในชุมชน เขาอายุเพียงกว่า 40 ปี เมื่อมาเห็นป้าพร กวาดลานอยู่ทุกวันก็มาช่วย โดยไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ทั้งที่เขามีสติไม่ครบ 100% กลายมาเป็นจิตอาสาของชุมชนไปเลย”
ขณะที่วัยรุ่นคนหนึ่งผู้ซึ่งชีวิตในอดีตถูกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง ครอบครัวแตกแยก ติดยาเสพติดงอมแงมจนฟั่นเฟือน คนอื่นๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ ช่วงหนึ่งที่มีกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกันโครงการ เขามาช่วยรดน้ำต้นไม้ให้แก่ชุมชน เห็นคูน้ำที่เป็นคันดินมีขยะตกลงไป เขาใช้เวลาว่างหลังจากอาชีพรับจ้างขูดเกล็ดปลาในตลาดมาจัดการดูแลให้
“ตอนแรกคนก็คิดว่าเป็นอาการเกี่ยวกับยาหรือเปล่า ที่ออกไปทำกลางแดดได้ทุกวันๆ แต่เขาก็บอกเราว่า ผมเครียด ไม่รู้จะพูดกับใคร คนอื่นเขาไม่พูดกับผม เขานึกว่าผมเมายา ที่ผมทำไม่ต้องมาจ้างผม เพราะผมทำแล้วสบายใจ”
หลังมีธนาคารขยะแล้ว มีการทอดขยะผ้าป่าสามัคคีรีไซเคิล เงินที่ได้จากทอดผ้าป่าไปทำบุญ มีการร่วมสร้างศาลาอเนกประสงค์ ทำให้เกิดความรัก และสามัคคีกันในหมู่คณะมากขึ้น
หลังขับเคลื่อนโครงการปีแรก ปริมาณขยะในชุมชนลดไปมาก โดยเฉพาะการทิ้งกองและเผา คนป่วยจากปัญหาควันจากกองขยะก็ลดลง ขณะที่เทศบาลมาสนับสนุนการเก็บขยะของเสียอันตราย ส่วนขยะอินทรีย์อย่างเศษผัก หรือเศษข้าวที่เหลือเอาไปทำน้ำหมักชีวภาพ
การขับเคลื่อนในการจัดการขยะเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดการปัญหาอื่นๆ ในชุมชนตามมาได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การศึกษา เด็กที่ตั้งครรภ์ก่อนวัย และเยาวชนที่ถูกสื่อชักพาในทางที่ไม่ดี แถมการมีส่วนร่วมของคนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เปรมวดี จึงคิดทำ “โครงการสวัสดิการธนาคารขยะ” มีการตั้ง “กองทุนขยะสร้างสุข” ขึ้นเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่ม และการช่วยเหลือกัน โดยมีขยะเป็นตัวตั้ง คือ ให้ชาวบ้านนำขยะรีไซเคิลมาฝากกับทางกองทุน โดยสมาชิกมีสวัสดิการต่างๆ ตามที่ได้ร่วมกันร่างขึ้น
“ที่เห็น และเป็นประโยชน์แล้วนั่นคือ การช่วยเหลือสมาชิกผู้ล่วงลับ 3,000 บาท แม้จะเป็นเงินไม่มากเท่าใด แต่ถือว่าเป็นการทำความดีร่วมกันของกลุ่มคน ซึ่งสามารถเปลี่ยนการมองขยะว่าเป็นสิ่งไร้ค่า ให้กลับมามีคุณค่า และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้”
สิ่งที่ได้มากกว่าธนาคารขยะในปีที่แล้วก็คือ ความเป็นมิตร ความสัมพันธ์กับสมาชิก เงิน 100 บาทที่สมัครเข้ามาสามารถสร้างระบบช่วยเหลือแบ่งปันได้
“ชุมชนป้อมหก มีแรงงานต่างชาติอาศัยอยู่จำนวนหนึ่ง ได้มามีส่วนร่วมกับกองทุนขยะสร้างสุข เพราะไม่ว่าชาติ หรือศาสนาใด ถ้าได้มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนเพื่อจัดการขยะรวมกันแล้วนับว่าดีต่อส่วนรวม”
เปรมวดี อยากเห็นว่าสิ่งที่ทำเล็กๆ เหล่านี้ได้ดูแลคนทุกช่วงวัยให้มั่นคงได้ อนาคต 3-4 ปีชุมชนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข แม้ว่าแหล่งทุนไม่สนับสนุนแล้ว กองทุนขยะสร้างสุขยังสามารถมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่สมาชิกยังได้ใช้อยู่ การคัดแยกขยะจะยังอยู่ คนที่มีจิตอาสาจะยังคงอยู่และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
“ที่ต่อยอดชัดเจนมาจากปีที่ 1 คือ การจัดการขยะที่ดูเหมือนจะสร้างความสะเทือน และสอดคล้องต่อระดับเทศบาลคือ การรณรงค์การคัดแยกขยะ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สิ้นปีที่ผ่านมาเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้เปิดโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ทำให้กระแสใส่ถุงมัดปากถุงแยกขยะที่เรามีอยู่เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เทศบาลทำงานได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น”
การที่เทศบาลนครหาดใหญ่มีนโยบายผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานขยะ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าขยะจะเป็นพลังงานที่ดีเช่นกัน คนก็มีความกระตือรือร้น และหันมาใส่ใจเรื่องแบบนี้มากขึ้น
“พลังงานที่น่าสนใจเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นคือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งติดตั้งไว้เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่กองทุนขยะสร้างสุข”
สำหรับ “ขยะอินทรีย์” นอกเหนือจากการจัดเก็บเศษอาหารจากครัวเรือนไปทำน้ำหมักของเทศบาล และชุมชนก็หมักเองบางส่วนแล้ว ทางสำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลา ได้เข้ามาติดตั้งชุดทำแก๊สชีวภาพให้ 1 ชุด เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และผู้สนใจ
ในส่วนของ “ขยะอันตราย” ชุมชนป้อมหกก็มีกิจกรรมขอคืนขยะอันตรายแลกกับไข่ไก่ ซึ่งชาวบ้านให้ความสนใจกันพอสมควร เป็นกุศโลบายเพื่อให้ชาวบ้านกระตือรือร้นในการแยกขยะให้ถูกต้องนั่นเอง
ด้าน “ขยะรีไซเคิล” มีการเปิดกองทุนขยะ และมีร้านค้าสร้างสุข เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมนำขยะมาฝากเพื่อสร้างสวัสดิการ
ในประเด็น “พื้นที่สีเขียว” มีการปรับภูมิทัศน์อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ชุมชนป้อมหกน่าอยู่ หน้าบ้านน่ามองอย่างเป็นระยะ และรณรงค์การปลูกพืชผักสวนครัวหน้าบ้านเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยมีการอบรมการทำบัญชีครัวเรือนแก่ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดสงขลาด้วย
นอกจากนี้แล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจด้าน “เยาวชน” คือ กิจกรรม Eco kids มีการอบรมเยาวชนด้านการจัดการขยะ เพื่อประชาสัมพันธ์กับชุมชนเครือข่ายผ่านสื่อ
ทั้งนี้และทั้งนั้น ในเรื่องของแนวคิดของคนทำงานโครงการ เปรมวดี มองว่าต้องตั้งตัวเองอยู่ในความเชื่อมั่นเสมอว่า การจับมือกันจะเดินต่อไปได้ ไม่ต้องก้าวใหญ่ก็ได้ เป็นก้าวเล็กๆ ก็ได้ เพียงแต่อย่างหยุดนิ่งอยู่กับที่