xs
xsm
sm
md
lg

“เรือเล็ก” จับปลาใหญ่ “เรือใหญ่” จับปลาเล็ก...ใครเล่าทำลายล้าง?!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
เรื่อง  :  ศุภวรรณ ชนะสงคราม / ภาพ : Chapadorn Jhanhom
 
“วิ่งเรือออกจากบ้านมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง...
บังอยู่ตรงหน้า ‘ลานหอยเสียบ’ ใกล้ๆ นี่เอง”
เสียงบังหมัดตอบมาจากปลายสาย 
พร้อมกับเสียงเครื่องเรือที่ดังแทรกมา
“ออกจากบ้านมาตอนห้าโมงเย็น
คืนนี้คลื่นลมเริ่มสงบแล้ว
บังวางอวนใยจับกุ้งแชบ๊วย”
เราโทรศัพท์หาบังหมัดเพื่อจะประมาณการ
วางแผนจัดสรรกุ้งแชบ๊วยใน....
“โครงการอาหารปันรัก”
กุ้งแชบ๊วยตัวใหญ่ขนาดประมาณ 25-30 ตัวต่อกิโลกรัม
ทำรายได้ให้ประมงพื้นบ้านไม่ธรรมดาทีเดียว
 
หากช่วงคลื่นลมแรง จะใช้อวนสามชั้นจับกุ้งเวลากลางวัน
แต่หากคลื่นลมสงบ จะออกวางอวนใยเวลากลางคืน
อวนใยมีขนาดตาอวน 4 เซนติเมตร
โดยค่อยๆ ปล่อยสายอวนลงในทะเล 
ชาวประมงแต่ละคนมีประมาณ 10-30 ผืน
ใช้เวลาในการวางอวนทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที
ปลายอวนผืนแรก และผืนสุดท้าย
จะมี “ธง” และ “ไฟแวบ” เป็นสัญลักษณ์
เพื่อให้มองเห็นง่ายในยามค่ำคืน
เมื่อฉันถามซ้ำ เพราะเสียงคลื่นลมแทรกมาด้วย
ทำให้ได้ยินไม่ชัด บังหมัดย้ำมาว่า
“ไฟแวบ ที่เราเอาไปจัดเวทีตอนจัดคอนเสิร์ตพี่จุ้ย
ระดมทุนวันก่อนน่ะ จำไม่ได้เหรอ..."
แหมๆๆๆ...เผลอไม่ได้เชียวนะ....
 
หลังจากนั้นก็ค่อยๆ สาวอวนขึ้นมา
พร้อมๆ กับปลดกุ้งออกจากอวน
อาจมีปลา หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ติดมาบ้าง แต่ก็ไม่มาก
เพราะเครื่องมือแต่ละชนิดของ “ประมงพื้นบ้าน”
จะคัดเลือกชนิดและขนาดของสัตว์น้ำ…
....อย่างเฉพาะเจาะจง
อวนเคลื่อนไปตามกระแสน้ำ
กุ้งปลาก็เข้ามาติด
…ไม่ไล่…ไม่ล่า…ไม่ใช้อวนตาถี่กวาดกลี้ยง
ไม่ทำอย่างที่ “ประมงพาณิชย์” 
ไม่ทำประเภทแบบ “เรืออวนลาก-เรืออวนรุน” 
หรือ “เรือปั่นไฟปลากะตัก” 
กวาดล้างเพื่อจับสัตว์น้ำวัยอ่อน
ช่วงเวลาสาวอวนจะมากจะน้อย 
ก็ขึ้นอยู่กับว่า ติดกุ้งมากหรือเปล่า
เมื่อปลดหมดแล้ว ก็วางกลับลงไปในทะเลอีกครั้ง
ครั้งแล้ว...ครั้งเล่า 
 
เมื่อเราถามว่า คืนหนึ่งวางประมาณกี่ครั้ง
“แล้วแต่อารมณ์เราแหละ...
เราไม่ได้เป็นลูกจ้างใครนี่ 
ไม่มีใครมาบังคับ”
บังหมัดตอบกลับมาขำๆ
วางซ้ำประมาณ 5 ครั้ง หรือมากกว่านั้น
แล้วเรือท้ายตัดก็วิ่งกลับเข้าฝั่งประมาณ 6 โมงเช้า
คืนก่อนหลานชายวัยรุ่นของบังหมัดเอาเรือออกไปคนเดียว 
ทั้งถือท้าย วางอวน สาวอวน ปลดกุ้ง
ทำทุกอย่างคนเดียวหมด
กลับมาขายกุ้งแชบ๊วยได้สองพันกว่าบาท
บังหมัดเล่าแข่งกับเสียงลมและเครื่องเรือ
ด้วยความภูมิใจในสายเลือด “ประมงพื้นบ้าน” ของตน
 
หลายคนอาจไม่เคยรู้
กุ้ง ปู ปลา ตัวใหญ่ๆ ทั้งหลาย
ที่เป็นอาหารของเรานั้น
ได้มาจาก “ประมงพื้นบ้าน”
 
“เรือเล็กจับ...ปลาใหญ่
เรือใหญ่...จับปลาเล็ก
 
“ประมงพื้นบ้าน...เลือกจับ
แต่ที่จับไม่เลือก...ไม่ใช่เรา
 

หมายเหตุ : เรื่องราวของชาวประมงพื้นบ้านใน “โครงการอาหารปันรัก” ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กรกฎาคม ๒๕๕๘
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น