คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เฟื่องฟู
ปลายเดือนที่ผ่านมา....
เหมือนฟ้าผ่าชนิดไร้เมฆฝน เมื่อหัวหน้า คสช. “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งด้วย ม.44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
ที่เอาไว้กำราบปราบปรามพวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด ไม่มีงานทำออกมาแยกเขี้ยวยิงฟันข้างถนน รวมทั้งพวกข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองสอพลอคอร์รัปชัน ตบตาซิกแซ็กหาผลประโยชน์ทับซ้อนจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งมีหลากหลายวิธีที่สมองอันชาญฉลาดปราดเปรื่องของบุคคลนั้นๆ รวมทั้งลิ่วล้อ และกุนซือทั้งหลายจะหาหนทางให้ร่วมกันกอบโกย
ก็ฮือฮา! เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอึกทึกในวงการเมืองท้องถิ่น ถกกันในสารพัดสภากาแฟ ตั้งแต่ข้างถนน ยันถึงคอฟฟี่ชอปโรงแรมหรูในตัวเมือง แค่ไม่ถึงสัปดาห์ผ่านไปก็ค่อยๆ จางหายไปกับกาลเวลา
จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นระดับสูง มีชื่อเสียงในวงสังคม และมีอิทธิพลทางการเงินเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศหลายคน ถูก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจออกคำสั่งตาม ม.44
ให้ระงับการปฏิบัติราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
ดูแล้ว น่าจะไม่ธรรมดา!
กลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มที่ 2 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (จำนวน 7 ราย) 1.นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ 2.นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี 3.นายยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย
4.นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
5.นายสถิรพร นาคสุข นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยโสธร 6.นายสมชอบ นิติพจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และ 7.นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
คนอื่นไม่วิพากษ์ ด้วยอยู่ไกลตัว ภาคใต้มีหนึ่งเดียวติดอยู่ในอันดับ 4 ของกลุ่ม “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต เอ่ยชื่อบุคคลท่านนี้ในวงสังคมไฮโซ โลว์โซทั้งประเทศต้องรู้จักไม่มากก็น้อย
ก่อนหน้าจะเข้าสู่วงการเมือง เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแบบเบ็ดเสร็จโดยสายเลือด ชนิดที่ต้นตระกูลปั้นแต่งมาทุกขั้นตอน ประกอบกับมันสมองอันล้ำเลิศ ได้ทดสอบการบริหารกับธุรกิจของตระกูล ผ่านตลอด จนประสบความสำเร็จ เมื่อเข้าวัยกลางคนปีกกล้าขาแข็ง
ตัดสินใจแหกคอกผันตัวเองออกจากธุรกิจของตระกูล มาจับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ตเป็นของตัวเองเมื่อปี 2529
เหมือนกับสวรรค์จับยัดประทานให้ ถูกโฉลกกับธุรกิจตัวนี้ เจริญรุ่งเรือง ขยับขยายฐาน แตกหน่อแตกกอออกหลายโครงการ เป็นทุนท้องถิ่นเจ้าแรกเจ้าเดียวที่ประสบความสำเร็จ ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงจนทุกวันนี้
สื่อธุรกิจแทบทุกฉบับในเมืองไทยต่างแย่งกันเปิดปูมหลัง “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” ทุกแง่มุม จนแทบจะไม่มีลับลมคมในอะไรให้ขุดมาเล่าอีก
โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ขึ้นต้นด้วย “ภูเก็ตวิลล่า” ทุกโครงการเป็นของ “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” ตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงปัจจุบันน่าจะถึงหรือกว่า 10 โครงการ
เขาก้าวเข้าสู่วงการเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา ในปี 2543 ด้วยสโลแกน “คนบ้านเรา” แล้วก็ประสบความสำเร็จ นั่งเก้าอี้ ส.ว.ภูเก็ตอยู่ 7 ปี ครบวาระ กลิ่นอายการเมืองมันหอมหวนชวนเสพติด หนทางก็ปูไว้ ระหว่างอยู่ในตำแหน่ง ส.ว.จะทิ้งก็น่าเสียดาย
ตัดสินใจลงสมัครเล่นการเมืองท้องถิ่น ตั้งทีม “กลุ่มคนบ้านเรา” ชิงเก้าอี้กับ “อัญชลี วานิช เทพบุตร” จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่เป็นนายก อบจ.อยู่ในขณะนั้น และเป็นสุดรักสุดเลิฟของกลุ่มแม่บ้านในภูเก็ตทุกพื้นที่ แต่ “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” ก็ชิงเอาเก้าอี้นายกอบจ.ภูเก็ต มาได้ชนิดหืดขึ้นคอเหมือนกัน ส่วนลูกทีมหลุดไปหลายคน
ช่วงนั้นศึกสีเสื้อกำลังดุเด็ดเผ็ดมัน ภูเก็ตตลอดฝั่งอันดามันนั้นเข้มข้น การหาเสียงทางการเมือง หรือแม้ทางธุรกิจต่างก็ใช้สีบรั๊ฟกัน ต่างสีกูไม่ช่วย กูไม่อุดหนุน ซึ่งมันคนละเรื่องกัน เอาละขอผ่าน ไม่อยากฟื้นฝอยหาตะเข็บให้มันบานปลาย
ตานี้มาดูเรื่องที่ “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” ถูกแจ็กพอต ม.44 ของ คสช.เข้าเต็มหน้าอย่างไม่ได้ตั้งตัว ก็เรื่องของการปรับปรุงโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ที่โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นการรับลูกต่อจาก อบจ.ชุดที่แล้วมาดำเนินการสานต่อ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นของทุกชีวิตในภูเก็ต
แต่ถ้าเขาทิ้งโรงพยาบาล อบจ. เพราะคิดว่าเป็นโครงการของผู้บริหารชุดเก่าที่ไม่มีความจำเป็นจะสานต่อ ชาวภูเก็ตกว่าครึ่งเมืองที่เลือกตั้งเขาเข้ามาจะต้องรุมด่า ประณาม และสาปแช่งแน่นอน
จังหวัดภูเก็ต มี 3 อำเภอ มีโรงพยาบาลรัฐ 3 แห่ง โรงพยาบาลวชิระ อยู่อำเภอเมือง เป็นโรงพยาบาลหลักในตัวเมือง ปัจจุบันได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลถลาง เป็นโรงพยาบาลชุมชน อยู่อำเภอถลาง ตอนเหนือของเมือง โรงพยาบาลป่าตอง เป็นโรงพยาบาลชุมชน อยู่อำเภอกะทู้ ทางฝั่งตะวันตก
หลังหมดยุคแร่ดีบุก ยางพาราตกต่ำ กับปัจจุบันแห่ปลูกกันทุกภาค ภูเก็ตต้องปรับสภาพเป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และมีโลเกชันที่สวยงาม รวมทั้งอาหารการกินหลากหลายสมบูรณ์ และทั่วโลกต่างขานรับ
ทุกอย่างเพอร์แฟกต์ ประชาชนจากทั่วโลก ทั้งคนไทยจำนวนมากหลั่งไหลมาสูดโอโซน มาท่องเที่ยว และมาลงทุน ปักหลักขุดทอง รับจ้างประกอบอาชีพ ทำมาหากินมากมาย นักท่องเที่ยวมาแล้วก็กลับ แต่ที่เป็นภาระให้ท้องถิ่นภูเก็ต ก็พวกที่มาแล้วไม่กลับ และยังชักนำกันเข้ามาอีก ก็พวกนักขุดทองนี่แหละ ที่เป็นประชากรทั้งแฝง และไม่แฝง แย่งกันกิน แย่งกันอยู่ ตามมาด้วยแรงงานต่างด้าวอีกเป็นหมื่นเป็นแสน พ่วงด้วยผู้ติดตามตัวเล็กตัวน้อย และผลิตผลที่ออกมาใหม่ เพราะไม่ได้คุมกำเนิดอีกมากมาย
เจ็บไข้ได้ป่วยก็ไปอัดกันอยู่ที่โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง อุบัติเหตุ ป่วยอาการหนัก โรงพยาบาลชุมชนทั้ง 2 แห่งไร้เครื่องมือ ก็ต้องให้รถอัมบูรัน “วี้หว่อ” ส่งต่อเข้าโรงพยาบาลวชิระที่เป็นโรงพยาบาลหลัก
ไปยัดทะนานรอคิวตายอยู่ที่นั่น เพราะไม่ได้รับการรักษาพยาบาลทันท่วงที ขาดทั้งหมอ ทั้งพยาบาล แม้เครื่องมือแพทย์ และส่วนใหญ่ต้องใช้บัตรทองรักษาฟรี หรือ 30 บาททุกโรค แม้กระทั่งผู้ป่วยประกันสังคม ก็ต้องไปรอตายอยู่ที่นั่นเหมือนกัน
ปี 2554 เป็นเรื่องจริงที่ภูเก็ตวิกฤตแพทย์ โดยก่อนหน้านั้น หมอหลายคนทยอยยื่นใบลาออก น่าจะเงินเดือนไม่พอรับประทาน เงินเบี้ยเลี้ยง และโอทีก็ไม่คุ้ม ต่างออกไปเฝ้าคลินิกที่คนไข้รอคิวทะลักเดินกันพล่านฟุตปาธ
แล้วกลับมากินอัตราจ้างพิเศษของโรงพยาบาลวชิระอีก มันเป็นหยั่งงี้แหละ พระคุณท่าน คุณหมอผู้เสียสละ
โรงพยาบาลป่าตอง อาการหนัก จำได้หมอมีแค่ ผอ.อยู่คนเดียว กำลังยื่นใบลาออกเหมือนกัน ด้วยว่าเจอมรสุม แต่ก็ต้องทนอยู่ หันไปทางโรงพยาบาลถลางก็อีหรอบเดียวกัน หมอเจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผอ.โรงพยาบาลวชิระ รับภาระแก้ปัญหา โยกหมอที่เป็นหลักของวชิระ วิ่งรอกสับเปลี่ยนกันดูแล ทั้ง 3 โรงพยาบาล ผลออกหัวออกก้อย ไม่ได้ตามดู
เพราะฉะนั้น ยืนยันได้ว่าข้อมูลที่ “แดง ชวลิต ณ นคร” รองนายก อบจ.รักษาการนายกฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนที่โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ไม่ตอแหล!
ความเดือดร้อนจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่มีใครคาดคิด ไม่มีใครอยากให้เกิด โรงพยาบาลก็ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ หรือไปนอนพักผ่อนในสถานที่อย่างนั้น แต่ก็หนีไม่พ้น สุดท้ายก็ต้องไปเกิด ไปตายกันที่โรงพยาบาลอีกนั่นแหละ
เมื่อเข้าวงการเมืองอาสาเข้ามาเป็นคนของประชาชน ความทุกข์ความเดือดร้อนของประชาชนก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องดันแก้ไขกันสุดลิ่ม โรงพยาบาล อบจ.เปิดได้มีหมอ มีพยาบาล อุปกรณ์การแพทย์ ตามกำลังงบประมาณ รักษาไข้กันได้ตามอัตภาพ
แต่รักษาฟรีไม่ได้ เพราะไม่มีงบ ไม่มีทุนให้ทำได้
จะทำได้ก็ต้องเข้าระบบเดียวกับโรงพยาบาลรัฐ ต้องขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจะได้เงินอุดหนุนมาเป็นทุนใช้ในการรักษาผู้ป่วยยากไร้เหมือนโรงพยาบาลรัฐทั้ง 3 แห่ง ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
แล้วไอ้หน่วยงาน สปสช.นี่ก็อีกนั่นแหละ มีเงื่อนไขว่า มึงจะมาขึ้นทะเบียนเอาเงินกู มึงก็ต้องไปปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐานที่กูกำหนด ไม่มีสิทธิต่อรอง
ขณะนั้นคนรอคิวรักษาที่โรงพยาบาลรัฐทั้ง 3 แห่งในภูเก็ตตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ละวันเป็นร้อยราย และในจำนวนนั้นตายคาเปลคาเตียงไม่ทันถึงมือหมอก็น่าจะมีทุกวัน
การตัดสินใจของ “ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์” ที่ขออนุมัติใช้เงินสะสม จำนวน 25 ล้านบาท มาปรับปรุงหอผู้ป่วย โรงพยาบาล อบจ. เพื่อขึ้นทะเบียนตามเงื่อนไขของ สปสช.เป็นกรณีเร่งด่วนในปี 2554 เพื่อต่ออายุ ยืดชีวิตผู้ป่วยยากไร้ ที่เป็นเพื่อนร่วมบ้านร่วมจังหวัดครั้งนี้
ใครจะมองในแง่ไหน เป็นสิทธิของแต่ละคน
สำนักตรวจสอบพิเศษภาค 13 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กลับมองว่า การช่วยชีวิตคน ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ปีนี้ขึ้นทะเบียนไม่ทัน ไปขึ้นปีหน้าก็ได้ แล้วชีวิตคนที่กำลังจะตายรอได้มั้ย
เมื่อไม่ใช่พ่อใช่แม่ตนเองก็อย่างงี้แหละ
การช่วยชีวิตคนในภูเก็ตหนึ่งคนต่อหนึ่งวัน ถ้า 1 ปี 365 วัน 365 ชีวิต จากปี 2554 ถึงปัจจุบัน 2558 และในปีต่อๆ ไปอีก กี่ร้อยกี่พัน หรืออาจจะถึงหมื่นคนที่รอดตายด้วยเงินสะสมของคนภูเก็ต 25 ล้านบาท
ท่านผู้อ่านลองใช้วิจารณญาณดูครับ ว่าการวินิจฉัยของ สตง.ที่มาตรวจสอบเมื่อครั้งนั้น ใช้อะไรวินิจฉัย??!!