xs
xsm
sm
md
lg

เผยโฉม “ม๊อบยึดขุมทรัพย์” และ “ขบวนการจัญไร” เขมือบปาล์มเถื่อนฯ (ตอนที่ 4) / ประเสริฐ เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  (แฟ้มภาพ)
 
คอลัมน์  :  แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ  เฟื่องฟู
 
กว่า 10 ปี... ที่สัมปทานสวนปาล์มน้ำมันของบริษัทเอกชนหมดอายุ ถูกชาวบ้านเข้าบุกรุก ลักลอบเก็บเกี่ยวผลผลิต ความรุนแรงมาหนักเอาตอนที่ ครม.ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2546 มีมติระงับการต่อสัมปทาน และให้นำสวนปาล์มน้ำมันเหล่านั้นไปจัดสรรให้ชาวบ้านที่ยากจนไร้ที่ทำกินคนละไม่เกิน 10  ไร่
 
ทำให้ชาวบ้านจากทุกทิศทางต่างหลั่งไหลมารวมตัวกัน เป็นก๊ก เป็นเหล่า เฮโลเข้ายึดพื้นที่จับจอง หวังได้พื้นที่ทำกินตามมติ ครม.
 
แต่ละกลุ่มมีรายงานว่า อาวุธครบ ทั้งไทยประดิษฐ์ ตราควาย อย่างขี้หมูขี้หมา ทั้งพร้า ทั้งจอบ ทั้งเสียม เตรียมไว้พร้อม ไม่ใช่ไว้รบกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียว
 
แต่เอาไว้รับมือ ป้องกันกลุ่มอื่นเข้ามารุกทับที่ของตัวเองด้วย ดังที่เป็นข่าวลอบยิงถล่มกันมาแล้ว มีทั้งตาย เจ็บและยึดเป็นตัวประกัน พร้อมรถยนต์และทรัพย์สินหลายครั้ง ยังกะละครทีวีน้ำเน่าเมืองไทย ไม่ต้องรื้อฟื้นมาเล่าใหม่ นี่ก็ปาเข้าไป 4 ตอนแล้ว ก็ขอเป็นตอนจบนะ
 
ทั้ง “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่มาเล่นเองแล้วเมื่อ 19 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา
 
นอกจากการบุกรุกแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่ยังยืนยันว่า พื้นที่บางแปลงมีการเปลี่ยนมือ ทำการซื้อขายกันแบบมือเปล่า หรือทำสัญญารับรู้กันเอง โดยหุ้นส่วนสัมปทาน หรือคนใกล้ชิดในบริษัท
 
ที่ผ่านมาของ บริษัท ยวนสาวการเกษตร จำกัด โดยทุนมาเลย์ ชัวร์...มีการ“อ้าง” ซื้อขายกันจริง
 
และน่าจะเป็นการขายผลอาสินที่ยังมีให้เก็บเกี่ยวได้นานโข ที่ดินนั้นเป็นผลพลอยได้ที่ยังต้องวัดดวง ลุ้นกันต่อ ก็น่าจะอยู่ในมือกลุ่มทุนผู้มีอิทธิพลอีกนั่นแหละ ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องหรือไม่
 
คงไม่มีใครออกมายืนยัน
 
จากหลักฐานเอกสารที่มีถึง หน่วยป้องกันรักษาป่า กบ.1 เหนือคลอง ลงรับวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ของบริษัทยวนสาวฯ แจ้งว่า จากการสำรวจพื้นที่สัมปทานครั้งแรก 13,500 ไร่ และขอต่อใหม่ลดพื้นที่ลงเหลือ 8,206 ไร่ คืนให้กรมป่าไม้ 5,294 ไร่ เป็นพื้นที่สวนปาล์มที่บริษัทยวนสาวฯ ปลูกไว้เดิม พบมีผู้ยึดครอง 400 ไร่ ระบุชื่อ “พ.ต.อ.ประจักษ์ รอดการทุกข์” พนักงานสอบสวนชำนาญการ สภ.ทุ่งใหญ่ นครศรีธรรมราช
 
ส่วนอีกกลุ่มเป็นนักการเมืองท้องถิ่น “ปรีชา ศรีชาย” อดีตนายก อบต.ห้วยยูง อ.เหนือคลอง ร่วมกับชาวบ้านเข้ายึดครองพื้นที่ 2,000 ไร่ นำไปขอออกเอกสาร สปก.4-01 ในเขตท้องที่ อ.เหนือคลอง แต่บริษัทยวนสาวฯ ออกมาคัดค้าน อ้างเป็นพื้นที่ป่าสัมปทานของบริษัทอยู่ในเขต อ.เขาพนม และให้จังหวัดตรวจสอบ
 
มีหลักฐานการแจ้งความไว้ที่ สภ.เขาพนม และร้องให้จังหวัดตรวจสอบ ปรากฏว่าเมื่อมีการตรวจสอบอย่างละเอียด พบพื้นที่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดิน หรือ คปจ. เข้าไปรังวัดออกเอกสาร สปก.4-01 นั้น ทับพื้นที่สัมปทานป่าท้องที่เขาพนมทั้งหมดจริง จึงได้มีการสั่งระงับเอกสาร สปก. ไปแล้วเมื่อปี 2553
 
นี่...เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่กินแห้ว เช่นเดียวกับ คปจ.กระบี่ หรือ สปก. ก็หน้าแหก หมอไม่รับเย็บ เหนื่อยเปล่า กลุ่มนี้ยอมถอย...เจ๊ากันไป
 
ผู้บุกรุกพื้นที่สัมปทานบริษัทยวนสาวฯ ยังมีอีก 2 กลุ่มที่น่าสนใจ พบหลักฐานการแจ้งความไว้ที่ สภ.เขาพนม และมีหนังสือแจ้งไปที่ หน่วยป้องกันรักษาป่า กบ.1 เหนือคลอง กลุ่มแรกคือ “สมปอง สิงห์ชู” กับพวกรุกพื้นที่สัมปทานสวนปาล์ม 500 ไร่ แจ้งความเมื่อตุลาคม 2556 ส่วนกลุ่มที่ 2 นั้นคือ “ศรีสมชาย เอ่งฉ้วน” กับพวก 20 คน บุกรุกล้มต้นปาล์มปลูกยางพาราเนื้อที่ 600 ไร่ พบจากหลักฐานการแจ้งความเมื่อ 28 ตุลาคม 2557 ของปีถัดมา
 
2 กลุ่มนี้น่าสนใจก็อยู่ที่มีการอ้างว่า ซื้อมาจาก “นายไซ ยอน” และ“นายลิ่ม เกียน” อดีตกรรมการและหุ้นส่วนบริษัทยวนสาวฯ ชาวมาเลย์
 
แต่เจ้าหน้าที่คลำหาหลักฐานไม่พบ แค่รู้จากปาก ได้ยินผ่านหูว่า มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันหลายแปลง ไม่ใช่เฉพาะของบริษัทยวนสาวฯ เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มีใครยอมรับ ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย
 
ถึงขั้นต้องออกเป็นประกาศจังหวัด สรุปได้ว่า
 
“ตามที่มีผู้อ้างเป็นเจ้าของพื้นที่สัมปทาน ได้เสนอขายที่ดินให้กับชาวบ้านนั้น เป็นการหลอกลวง เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ไม่มีใครมีสิทธิเอาไปขายได้ หากผู้ใดถูกหลอกลวงให้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว ขอให้แจ้งนายอำเภอเจ้าของพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมกระบี่ หรือ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลในการฟ้องร้องบุคคลที่นำที่ดินไปหลอกขายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”
 
เงียบกริบ ไม่มีเสียงขานรับ หรือแจ้งเบาะแส
 
สำหรับปูมหลังบริษัทยวนสาวฯ นั้น ครั้งแรกได้รับอนุญาตสัมปทานปลูกปาล์มน้ำมัน 2 แปลง แปลงแรกเมื่อ 19 กันยายน 2528 พื้นที่ 6,925 ไร่ ส่วนแปลงที่ 2 ได้รับอนุญาตเมื่อ 29 กันยายน 2531 พื้นที่ 6,575 ไร่ และหมดอายุสัมปทานไปเมื่อ 18 กันยายน 2543
 
แล้วขอต่ออายุสัมปทานเป็นครั้งที่ 2 ในพื้นที่เดิมทั้ง 2 แปลง แต่ลดขนาดพื้นที่ลง ได้รับอนุญาตเมื่อ 6 ธันวาคม 2545 และหมดอายุ 18 กันยายน 2558 ในอีก 2 เดือนที่จะถึงนี้
 
ส่วนความวุ่นวายของบริษัทยวนสาวฯ เกิดขึ้นหลังจากที่ “ลิ่ม เชง” ประธานกรรมการบริษัท ชาวมาเลเซีย เสียชีวิตลงเมื่อปี 2552 และหุ้นส่วนมาเลย์คนอื่นๆ ก็ได้ขายหุ้นเทคโอเวอร์ให้คนไทย
 
ปรากฏว่ากลุ่มที่เข้าเทคโอเวอร์บริษัทยวนสาวฯ จากกลุ่มทุนมาเลย์คือ กลุ่ม “ชัยยุทธ์ รอดแก้ว” หลังจากนั้นก็ได้เปลี่ยนกรรมการ เปลี่ยนผู้บริหารใหม่หมดทั้งชุด พร้อมขอจดทะเบียนบริษัทใหม่จากสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้ากระบี่ เมื่อ 9 มีนาคม 2554
 
หลังจากเข้าเทคโอเวอร์ “ชัยยุทธ์ รอดแก้ว” กรรมการผู้จัดการบริษัทยวนสาวฯ ก็เดินหน้าฟ้องดำเนินคดีผู้บุกรุกที่มีอิทธิพลทั้งหลายแหล่ รวมทั้งเกิดความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคน และได้ฟ้องกรมป่าไม้ที่ไม่ออกใบอนุญาตเก็บหาของป่าให้กับบริษัท
 
ประเด็นนี้น่าจะเป็นชนวนให้ “ชัยยุทธ์ รอดแก้ว” ตกเป็นเป้ากระสุนสังหารพร้อมภรรยา แต่ชะตาไม่ถึงฆาต แค่อาการสาหัส รอดตายหวุดหวิด เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2557
 
นั่น,...เป็นส่วนหนึ่งของโฉมหน้ากลุ่มผู้บุกรุก และคู่กรณีของบริษัทยวนสาวฯ ที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วบางส่วน
 
กลับมาดูกลุ่มชาวบ้านที่แห่กันมาจากทุกทิศทุกทาง หวังจะได้ส่วนแบ่งสวนปาล์มเมืองกระบี่เป็นที่ทำกินสัก 10 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นตาสีตาสาที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ พอรู้ข่าวก็ตีเกราะเคาะปี๊บชักชวนกันมา
 
กำลังเป็นเหยื่อของ “หมาจิ้งจอก” ในคราบของนักบุญ
 
ถูกดึงเข้ากลุ่มเข้าฝูง เจอกลุ่มดีก็ดีไป เมื่อมีกลุ่มก็ต้องมีแกนนำ มีกติกา ขาดไม่ได้ก็เรื่องค่าใช้จ่ายดำเนินการ รวมทั้งการปลูกสร้างที่พักหลบแดดหลบฝน ซุกหัวนอน อยู่กันเป็นหมู่ และต้องลงขันกัน
 
ที่ทราบมา แต่ละกลุ่มเก็บไม่เท่ากัน ที่แน่ๆ น่าจะพันหรือหมื่นขึ้น ตั้งแต่เริ่มต้นมาบางรายหมดไปแล้วร่วมแสน เพราะรายการนี้ไม่ใช่เพื่อผลทางการเมือง หรือสาธารณะประโยชน์ เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างที่ผ่านมา ที่มีเงินบริจาค มีนักการเมือง มีสปอนเซอร์คอยอุดหนุนจุนเจือ
 
เมื่อมาแล้ว มีเป้าหมาย มีที่หวัง พกมาเท่าไหร่ก็ต้องจ่าย ไม่พอก็ขอลูกหลานมาสมทบสานฝันให้เป็นจริง แค่เรือนหมื่น เรือนแสน กับที่ดิน 10 ไร่ กับผลผลิตปาล์มที่ยังเก็บเกี่ยวได้มากมาย ตามที่ ครม.มีมติจัดสรรให้ ถ้าฝันเป็นจริงมันก็เกินคุ้ม
 
แล้วเงินจากหยาดเหงื่อ และเงินเก็บหอมรอมริบของชาวบ้านที่พกมา ทั้งที่ขอจากลูกหลานมาสมทบจ่ายให้แต่ละเดือนนั้น ใครได้ประโยชน์ และนำไปใช้หรือเข้าพกเข้าห่อ เข้ากระเป๋าใคร น่าจะมากโขอยู่ มีใครคิดและเข้าไปดูแล ทั้งแกนนำผู้เสียสละของแต่ละกลุ่มมาจากไหน มีประวัติอย่างไร ศึกษากันละเอียดหรือไม่
 
แต่ละกลุ่มมีสมาชิกเป็นร้อย รวมกันแล้ว 3-4 กลุ่มในขณะนี้ ไม่หนีหมื่นหรือสองหมื่นคนขึ้นไป
 
ที่เปิดตัวชัดเจนจะๆ ออกโรงปฏิบัติการอยู่ 3 กลุ่ม และผลุบๆ โผล่ๆ อีกลุ่มสองกลุ่มที่แบ่งรับแบ่งสู้ ส่วนที่ชัดเจนถึงขั้นตั้งเป็นสมาคมก็มีคือ “กลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ทำกิน” มีสมาชิกประมาณ 200-300 คน “สุมลตรี สุขดำ” เป็นแกนนำ หรือเป็นนายกสมาคม
 
ตามข่าวเมื่อ 27 เมษายน 2555 กลุ่มนี้เคยเคลื่อนไหวยึดสวนปาล์ม เรียกร้องที่ดินทำกินอยู่ในพื้นที่ ม.4 และ ม.9 ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ เคยเข้าปิดล้อมเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปรื้อที่พักในแปลงเพาะพันธุ์ปาล์มของ บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน)
 
ล่าสุดปลายเดือน 30 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มเดียวกันนี้ได้เดินทางเข้าไปปักหลักยึดพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของ บริษัท ยูนิวานิช (เจียรวานิช) จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ม.7 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ พร้อมปลูกสร้างที่พักชั่วคราว ภายหลังตรวจสอบพบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตสัมปทานปลูกปาล์มน้ำมัน และมีการบุกรุกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองพระยาเนื้อที่กว่า 20,000 ไร่ ซึ่งอยู่ใน ม.5 ม.7 และ ม.8 ต.ปลายพระยา
 
กลุ่ม 2 เป็น “กลุ่มภาคีเรียกร้องที่ดินทำกิน” กลุ่มนี้มี “ชูวงศ์ มณีกุล” เป็นแกนนำ เข้ายึดพื้นที่สัมปทานของ บริษัทเจียร วานิช เนื้อที่ 20,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าท้องที่ อ.อ่าวลึก และ อ.ปลายพระยา เกิดมีปัญหาขัดแย้งกับเจ้าของพื้นที่เดิม ซึ่งอยู่รอยต่อของบริษัทเจียร วานิช 4 หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มม็อบ
 
รวมตัวกันออกมาไล่ กลุ่มนี้มี สมใจ นวลนุ่น” เป็นตัวแทนชาวบ้าน เหตุเกิดเมื่อ 18 เมษายน 2558 ที่ผ่านมา จนเหตุการณ์เกือบบานปลาย แต่โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ชาวบ้านจึงได้ยอมถอนกำลังออกไป และรวมตัวกันใหม่เข้าเรียกร้องให้ทางจังหวัดกระบี่ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
 
ขณะเดียวกันกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มของ “สมพงศ์ วงศ์จินดา” เข้ายึดพื้นที่ของ บริษัท พิธาน ปาล์มน้ำมัน จำกัด ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก
 
นอกจากนั้นยังมีกลุ่ม “เครือข่ายเกษตรกรไร้ที่ดินทำกิน” ที่เคยรุกที่สัมปทานของบริษัทยวนสาวฯ เหมือนกัน แต่เมื่อเจ้าของสัมปทานไม่ยินยอมก็ถอนตัวออก กลุ่มนี้มี “กฤษฎา จีระพันธ์” เป็นแกนนำ มีสมาชิกนับร้อยคนเหมือนกัน รวมตัวกันเรียกร้องที่ศาลากลางจังหวัดเมื่อ 28 มิถุนายน 2556
 
สรุปทุกกลุ่มที่เรียกร้องขอเข้าทำกินในพื้นที่สัมปทานสวนปาล์มหมดอายุ ยังไม่ได้รับการจัดสรรพื้นที่แม้แต่รายเดียว รวมทั้งบริษัทเอกชนอดีตเจ้าของสัมปทาน ซึ่งขออนุญาตเข้าเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันของตนเอง ซึ่งกลายเป็นของป่าตามมติของ ครม.2546 ก็ยังไม่มีใครได้อนุญาต
 
จากการดึงเกมของภาครัฐ แทนที่จะหาวิธีการหรือมาตรการเด็ดขาดอย่างใดอย่างหนึ่งมาบริหารจัดการพื้นที่สัมปทานหมดอายุเหล่านั้น จะโดยวิธีการยึดคืนมาทั้งหมด หรือที่จริงก็กลับมาเป็นป่าสงวนทั้งหมดแล้วตามกฎหมายป่าไม้ เหลือแค่นำมาจัดสรรตามมติ ครม.เท่านั้น
 
แต่ทำกันไม่ได้ ต่างโยกกันไปโยนกันมา เหมือนกับมีเลศนัย เอื้อให้ขบวนการลักลอบเก็บเกี่ยวของป่า (ผลผลิตปาล์มน้ำมันเถื่อน) ที่น่าจะมีคนในเครื่องแบบระดับสูงของป่าไม้ร่วมอยู่ด้วย
 
จากบัดนั้นปี 2546 ถึงบัดนี้ปี 2558 รวมแล้ว 12 ปี ไม่มีใครทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับขั้นตอนการขออนุญาตที่ สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่
 
ผลประโยชน์จากการลักลอบเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันที่กลายเป็นของป่ากว่า 10 แปลง ในพื้นที่สัมปทานหมดอายุร่วม 50,000 ไร่ในแต่ละเดือนนับล้านบาท แล้ว 12 ปีเป็นเท่าไหร่ คำนวณเอาเองเถอะ ถ้าหากดำเนินการตามมติ ครม. รัฐจะต้องได้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่ง ทั้งค่าภาคหลวง ค่าบำรุงป่า ก็คงจะกว่า 100 ล้านบาทในแต่ละปี
 
มีผู้ตั้งขอสังเกตว่าน่าจะมี “ขบวนการจัญไร” เขมือบของป่าที่เป็นผลผลิตปาล์มมูลค่ามหาศาลในแต่ละแปลง วันละหลายแสนบาท เฉพาะของบริษัทในเครือเจียรวานิชบางส่วน และบริษัทยวนสาวฯ รวมกันน่าจะร่วมล้านบาทต่อวัน
 
ถ้าไม่กุดหัวจัญไรพวกนี้ออกมา การแก้ปัญหารุกสวนปาล์มและการจัดสรรพื้นที่ให้ราษฎรได้ทำกินก็คงจะคาราคาซังต่อไป ชาวบ้านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียค่าใช้จ่ายเดินทางมา นอนกลางดิน กินกลางทราย เป็นเหยื่อยุงในป่าสวนปาล์มแรมเดือนแรมปี ก็ต้องขอกู้หนี้ยืมสิน หรือขอลูกหลานมาต่อท่อน้ำเลี้ยงชนิดไม่รู้จบ
 
ไหนๆ เรื่องนี้ถึงมือ “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องลงพื้นที่กระบี่มามอบนโยบายการแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้ว ก็อย่าดูแค่ภายนอก ฟังแค่รายงาน มองให้ลึกถึงภายใน ต้นเหตุของความยุ่งยากหมักเกลือมานานกว่า 10 ปี เป็นเรื่องของกฎหมาย หรือตัวบุคคล
 
ถ้าเป็นตัวบุคคล เป็นขบวนการจัญไร ที่คนในเครื่องแบบอาศัยกฎหมายเขมือบผลประโยชน์ของแผ่นดิน ก็ช่วยกุดหัวพวกมันออกมาให้ประชาชนดูโฉมหน้าหน่อย น่าจะมีร่วม 10 คน ผ่องถ่ายงานนี้ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือกองปราบปรามฯ รวมทั้ง ปปช. ตามแกะรอยดู จะได้ยึดทรัพย์กลับคืนแผ่นดิน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น