คอลัมน์ : แกะสะเก็ด
โดย...ประเสริฐ เ ฟื่องฟู
หลังจากวิกฤตบ้านเมืองผ่อนคลาย ม็อบบุกรุกสวนปาล์มน้ำมันเรียกร้องขอที่ดินทำกินก็ปะทุขึ้นมาอีก จากผู้ที่ทะลักเข้ามาภายหลังกวนน้ำให้กระเพื่อม ทำให้กระทบต่อผู้ที่บุกรุกยึดพื้นที่ก่อนหน้านั้นต้องลุกขึ้นมาตั้งหลัก
มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิ และเดือดร้อนเพราะถูกยึดที่คืน เป็นการออกมาปกป้องและเฝ้าระวัง
จากความเป็นจริงการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมีมานานมาก บางรายอาจจะก่อนการเปิดอนุญาตสัมปทานสวนปาล์มน้ำมันด้วยซ้ำ ทำให้พื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ผู้บุกรุกเก่า ถูกผู้ขอสัมปทานอย่างถูกกฎหมายนับพันนับหมื่นไร่ทับซ้อนเข้าไป
กับอีกกลุ่มหนึ่งที่รุกเงียบเข้ายึดครองพื้นที่สัมปทาน จะโดยเจตนาหรือไม่รู้ หรืออาจจะซื้อมาจากใครคนใดคนหนึ่งที่เคยครอบครองพื้นที่มาก่อนสวมรอยขายพืชผลอาสินรวมที่ดินให้ เพราะที่ดินเป็นหมื่นเป็นพันไร่ก็น่าจะดูแลกันไม่ทั่วถึง และไม่น่าจะมีการรังวัดแนวเขตที่ชัดเจน
จากการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่สัมปทานทั้งหมดของคณะทำงานที่ ประสิทธิ์ โอสถานนท์ อดีตผู้ว่าฯ กระบี่ แต่งตั้งลงไปสำรวจการครอบครองที่ดินอย่างละเอียด เพื่อที่จะนำมาดำเนินการตามมติ ครม. กลับพบว่า การครอบครองที่ดินทำผลประโยชน์ทุกแปลงไม่ตรงกับความเป็นจริง ล้วนน้อยกว่าที่ยื่นขอสัมปทาน และที่ดินบางส่วนมีราษฎรเข้าครอบครองด้วย
คิดได้ทั้ง 2 กรณี คือ ราษฎรยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมายบุกรุกเข้าไปทำมาหากินเอง เพราะไร้ที่ทำกินจริงๆ อีกกรณีคือ ซื้อมา อาจซื้อผลอาสินมาเก็บเกี่ยว หรือซื้อทั้งที่ดินมาทำมาหากินเพื่อขอเอกสารสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาจจะมีรัฐบาลในอนาคตยอมแก้กฎหมายอนุมัติ
อย่างไรก็ตาม อำนาจ สร้อยเกียว อดีต ผอ.สนง.จัดการป่าไม้ 12 กระบี่ ออกมายอมรับขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งเมื่อปี 2555 ว่า ที่ดินสัมปทานสวนปาล์มบางแปลง หรือหลายแปลง บางส่วนมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันไปแล้ว แต่ไม่มีใครออกมายืนยัน และทั้งไม่มีใครกล้าเอาหนังสือสัญญาซื้อขายให้ดู เป็นการตกลงซื้อขายกันเอง ไม่มีหลักฐานชัดเจน ไม่สามารถเอาผิดได้
และ อำนาจ สร้อยเกียว ยังพูดขู่ทิ้งท้ายไว้อีกว่า ได้มีการหารือกันแล้วหลังจากนี้ กรมป่าไม้มีนโยบายที่จะยึดพื้นที่สัมปทานหมดอายุกลับคืนมาทั้งหมด โดยผู้ที่ซื้อพื้นที่ก็ต้องสูญเสียเงินเปล่า นอกจากนั้น ยังพบว่าพื้นที่สัมปทานในท้องที่ อ.เขาพนม ที่ยังไม่หมดอายุ ก็ถูกหุ้นส่วนชาวมาเลเซียขายให้แก่กลุ่มทุน และประชาชนคนไทยไปกว่าพันไร่ หลายร้อยล้านบาท ทั้งถอนหุ้นโกยเงินกลับประเทศไปแล้ว
“ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีการซื้อขายกันจริงถือว่าผิดเงื่อนไขสามารถยกเลิกสัมปทานได้ทันที” อำนาจ สร้อยเกียว พูดทิ้งท้ายไว้ขณะนั้น
ส่วนพื้นที่สัมปทานที่ว่านี้อยู่ในเขตป่าท้องที่ 3 อำเภอ คือ อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม และ อ.เขาพนม รวม 2 แปลง เนื้อที่ 8,206 ไร่ เจ้าของสัมปทานคือ บริษัท ยวนสาวการเกษตร จำกัด และหุ้นส่วนชาวมาเลย์คนนั้นก็คือ “ลิ่ม เช็ง” ว่ากันว่า เป็นกรรมการผู้จัดการ หรือกรรมการบริหาร ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง
สัมปทานแปลงนี้กำหนดหมดอายุในวันที่ 18 กันยายน 2558 เหลือเวลาแค่ 3 เดือนเศษ
การถอนหุ้นของ “ลิ่ม เช็ง” นักลงทุนจากมาเลย์ และข่าวการขายที่สัมปทานกว่าพันไร่โกยเงินกลับประเทศไปหลายร้อยล้านบาทนั้น ขายกันแบบไหน ขายให้ใคร ทุนกลุ่มไหนที่รับซื้อ
กลับเป็นไอ้โม่งลึกลับ ไม่มีใครออกมายืนยันตัวตน
รวมทั้งที่ตัวแทนบริษัทยวนสาวฯ ได้เข้าแจ้งความที่ สภ.เขาพนม ว่า มีราษฎรบุกรุกเข้าเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มนับพันไร่ ก็เช่นเดียวกัน ทั้งฝ่ายตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทำการจับกุมมาล้วนเป็นปลาซิวปลาสร้อยที่มารับจ้าง
นอกจากนั้น บริษัทยวนสาวฯ ยังร้องเรียนต่อทางจังหวัดกระบี่ ว่า มีนักการเมืองท้องถิ่นร่วมกับชาวบ้านเข้าบุกรุกจับจองที่ดินสัมปทานของบริษัท ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาพนม และนำไปขอออก ส.ป.ก.4-01 นับร้อยราย
ที่สำคัญภายในบริษัทยวนสาวฯ เองก็น่าจะเกิดการขัดแย้งกันรุนแรง และมีการลอบยิงหุ้นส่วนผู้บริหารที่เป็นทนายความ และมีบทบาทสำคัญสาหัสปางตาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557
ขณะนั้น ผกก.สภ.เขาพนม ที่ปัจจุบันเกษียณไปแล้วเผยว่า เรื่องนี้มีความซับซ้อน ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะมีหุ้นส่วนบริษัทดังกล่าวบางคนไปสมคบกับนายทุน นำที่ดินสัมปทานออกขายให้ชาวบ้านนำไปออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01
ดังนั้น ทางจังหวัดได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะแนวเขตปกครองของทาง อบต.ห้วยยูง และ อ.เหนือคลอง เขตรอยต่อท้องที่เขาพนม ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ที่ราษฎรกำลังขอออก ส.ป.ก.นั้นอยู่ในเขตป่าท้องที่เขาพนม
ต่อมา ทาง ส.ป.ก.กระบี่ จึงได้สั่งระงับการออก ส.ป.ก.4-01 ทั้งหมดไว้ก่อน
ความคืบหน้าต่อมา วีระศักดิ์ กราปัญจะ หัวหน้ากลุ่มงานทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จ.กระบี่ เผยว่า หลังจากทราบว่าพื้นที่ที่มีปัญหาอยู่ในพื้นที่ อ.เขาพนม คณะกรรมการสอบสวนของจังหวัดให้ยกเลิกการออก ส.ป.ก.ทั้งหมด ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และให้สอบสวนว่ามีการซื้อขายที่ดินสัมปทานในส่วนที่ชาวบ้านยื่นขอออกเอกสาร และอยู่ในแนวเขต 8,000 กว่าไร่ ซึ่งล้ำเข้าไป 1,265 ไร่ ว่าได้มาอย่างไร
นอกจากนั้น ให้สอบสวนแนวเขตของที่ดินสัมปทาน 13,500 ไร่ ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ต่อมาเมื่อปี 2543 ได้วัดที่ดินใหม่เหลือพื้นที่สัมปทานของบริษัทแค่ 8,000 ไร่ ส่วนที่เหลืออยู่นอกเขตนั้นก็ยังเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทางกรมป่าไม้ได้มอบที่ดินทั้งหมด ยกเว้นที่ดินที่มีภาระผูกพัน หรือเป็นพื้นที่ป่าดิบ หรือป่าพรุ ที่ต้องเอากลับคืนมา ก็ต้องสอบสวนว่ามีใครครอบครองอยู่บ้าง เพราะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินรัฐอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ
ล่าสุด “อาคม ยุทธนา” ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สำหรับทุกประเด็นปัญหา ทางจังหวัดได้สรุปเรื่องเสนอไปยังกรมป่าไม้แล้ว และรอคำตอบว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ซึ่งทางจังหวัดกระบี่พร้อมที่จะดำเนินการทันที เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่กรมป่าไม้ ไม่ใช่จังหวัดกระบี่