xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนา จ.สงขลา สูบน้ำทะเลสาบสงขลาทำนาปรัง แก้ปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวนาในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา และบางส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช เริ่มปลูกข้าวในฤดูปลูกข้าวนาปรัง โดยใช้น้ำจากทะเลสาบสงขลาแทนน้ำฝนธรรมชาติที่ทิ้งช่วง และเพียงพอตลอดฤดูทำนาปรัง และใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้นปลูกทำนาปรัง

วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ จ.สงขลา ชาวนาในพื้นที่ อ.ระโนด จ.สงขลา แหล่งปลูกข้าวที่ใหญ่ที่สุดใน จ.สงขลา เริ่มลงมือปลูกข้าวในฤดูปลูกข้าวนาปรัง โดยใช้น้ำจากทะเลสาบสงขลาแทนน้ำฝนจากธรรมชาติที่ทิ้งช่วงทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับปลูกข้างนาปรังในปีนี้
 

 
นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ เปิดเผยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูปลูกข้าวนาปรังปีนี้ ชาวนาทั้ง 6 ตำบลใน อ.ระโนด สามารถปลูกข้าวนาปรังโดยไม่มีปัญหาในเรื่องน้ำ เนื่องจากจะใช้น้ำจากระบบคลองชลประทาน ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์ สำนักชลประทานที่ 16 สงขลา รวมทั้งน้ำจากลำคลองสาขาของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่น้ำจืด สามารถนำมาใช้ทำนาแทนน้ำฝนจากธรรมชาติได้ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ทำนาปรัง และเน้นใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้นเพื่อให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นราว 3-4 เดือน

และมีพื้นที่ส่งน้ำ 85,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.ระโนด จ.สงขลา ประกอบด้วย ต.บ้านขาว ต.บ้านใหม่ ต.ตะเครียะ ต.คลองแดน ต.แอนสงวน ต.ระโนด ต.ควนชลิต และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช บางส่วน โดยใช้น้ำจากทะเลสาบสงขลา สูบลงคลองชลประทานเข้าคูน้ำเข้านาตลอดฤดูทำนาปรัง 60-80 ล้านลูกบาศก์เมตร
 

 
นายเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาหนึ่งใน 25 ลุ่มน้ำของไทย โดยมีลักษณะพิเศษที่เป็นระบบทะเลสาบแบบลากูนขนาดใหญ่รองรับน้ำฝนเกือบทั้งหมดจากลุ่มน้ำมีพื้นที่ 8,754 ตารางกิโลเมตร ก่อนระบายออกสู่อ่าวไทย น้ำในทะเลสาบยังได้รับอิทธิพลจากการหนุนของน้ำทะเลในอ่าวไทย ดังนั้น ในทะเลสาบสงขลาจึงมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ขึ้นอยู่กับตำแหน่งบริเวณในทะเลสาบสงขลา และช่วงเวลาของปี ทำให้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิด และยังเป็นแหล่งน้ำจืดเพื่อการชลประทานน้ำจืดในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณ อ.ระโนด อ.กระแสสินธุ์ และ อ.สทิงพระ
 

 
การผันแปรด้านความเค็มของน้ำขึ้นอยู่กับความสูงของระดับน้ำทะเลที่หนุน ปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ลุ่มน้ำ หรือปริมาณน้ำจืดที่ระบายลงทะเลสาบสงขลา และปริมาณการใช้น้ำจากทะเลสาบ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงขึ้นกับฤดูกาลทำให้ต้องมีการวางแผนการปลูกพืชให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงด้านความเค็มของน้ำทะเลสาบล่วงหน้า จะช่วยให้สามารถวางแผนการปลูกพืชได้ดียิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ได้มีการตรวจวัดความเค็มของน้ำในทะเลสาบ โดยเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานเป็นระยะ เพื่อใช้ในการวางแผนการปลูกพืช
 

กำลังโหลดความคิดเห็น