กาฬสินธุ์-ชาวนาในจังหวัดกาฬสินธุ์ งดทำนาปรังเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะแห้งแล้ง โดยหันมาขยายพื้นที่ปลูกถั่วลิสง หวังสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง
จากการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยภัยแล้งเริ่มส่งผลกระทบทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ รวมถึงภาวะแหล่งน้ำตามธรรมชาติหลายแห่งเริ่มที่จะแห้งขอด พืชสวนพืชไร่เหี่ยวเฉา
ขณะที่ชาวนานอกเขตชลประทาน ที่อำเภอห้วยเม็ก พลิกวิกฤตจากการปลูกมันสำปะหลัง อ้อย และยาสูบ มารวมกลุ่มกันปลูกถั่วลิสง ซึ่งเป็นพืชอายุสั้น ทนแล้ง และใช้น้ำน้อย
นายจำนง เสนาฤทธิ์ ชาวนาบ้านป่ากุง หมู่ 5 ต.คำเหมือดแก้ว อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากอยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน แต่เดิมในฤดูแล้งตนกับเพื่อนบ้านจะปลูกอ้อย บางคนปลูกมันสำปะหลัง หรือยาสูบ แต่ฤดูแล้งปีนี้มีแนวโน้มแล้งรุนแรง และยาวนาน เพื่อลดความสูญเสียจากการปลูกพืชชนิดต่างๆ
จึงได้หันมาปลูกถั่วลิสงแทน หวังสร้างรายได้เสริมในช่วงฤดูแล้ง และเชื่อว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ทำเงินในแล้งได้เป็นอย่างดี
นายจำนง ระบุว่า จากเดิมที่ตั้งเป้าจะปลูกถั่วลิสงประมาณ 2 ไร่ และจะปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน แต่เมื่อดูแนวโน้มแล้วความแห้งแล้งจะรุนแรง และยาวนาน จึงปรับเปลี่ยนใหม่เพิ่มพื้นที่ปลูกถั่วลิสงไปอีก เพราะเป็นพืชระยะสั้น ใช้น้ำน้อย อีกทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองแรงงานในการปลูกใช้คนในครอบครัวมาช่วยกันปลูก ซึ่งภายหลังจากหยอดเมล็ดพันธุ์ถั่วลงหลุมแล้ว ก็ปล่อยน้ำเข้าไร่ถั่วลิสงเพื่อกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์ ถั่วลิสงที่ใช้น้ำไม่มากนัก คือ ให้น้ำพอให้ดินมีความชุ่มชื้นแต่ไม่ให้มีน้ำขังในแปลง และจากนั้นก็ให้น้ำอีกหลังการกำจัดวัชพืช ซึ่งก็เป็นการปล่อยน้ำผ่านๆ ไม่ต้องชุ่มมาก
“อย่างไรก็ตาม ปีนี้เป็นอีกปีที่หันมาปลูกถั่ว และขยายพื้นที่ออกไป แต่คงไม่ปลูกมากกว่านี้แล้ว เพราะเกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง เพราะทำกันเฉพาะในครอบครัวไม่ได้จ้างแรงงานเพิ่ม” นายจำนงกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากถั่วลิลง เป็นพืชอายุสั้น ทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย มีอายุการเพาะปลูกเพียง 4 เดือนก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ โดยมีตลาดรองรับ ทั้งจำหน่ายในชุมชน และมีบริษัทเอกชนประกันราคารับซื้อชัดเจน โดยถั่วลิสงสดรับซื้อขั้นต่ำตันละ 1 หมื่นบาท หรือถั่วลิสงแห้ง รับซื้อขั้นต่ำตันละ 2 หมื่นบาท เฉลี่ย 1 ไร่ จะได้ผลผลิตอย่างาต่ำ 1-3 ตัน
ขณะที่หากปลูกพืชชนิดอื่น ราคารับซื้อไม่แน่นอน และอาจประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำ และขาดทุน เนื่องจากภัยแล้ง และน้ำไม่เพียงพอ