ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กองทัพเรือ ส่งเรือรบหลวงอ่างทอง เป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำลาดตระเวนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรอินเดีย เน้นหนักลาดตระเวนทั้งทางเรือ และทางอากาศตอนเหนือของเกาะสิมิลันเป็นแนวตลอดไปถึงเกาะสุรินทร์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเริ่มต้นของการเดินทาง เผยยังไม่พบเรือต้องสงสัยแต่อย่างใด หากพบพร้อมให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (29 พ.ค.) ทัพเรือภาคที่ 3 นำสื่อมวลชนทั้งจากส่วนกลาง และภูเก็ต ติดตามการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ทัพเรือภาคที่ 3 (ศป.ก.ยฐ.ทรภ.3) บนเรือหลวงอ่างทอง ฐานปฏิบัติการลอยน้ำที่จอดอยู่หน้าเกาะตะเภาน้อย จ.ภูเก็ต โดยมี พล.ร.ต.สมชาย ณ บางช้าง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 นาวาเอกภุชงค์ รอดนิกร ผู้อำนวยการกองยุทธการ ทัพเรือภาคที่ 3 และนาวาโทนัฐพล ปาณินท์ ผู้บังคับการเรือหลวงอ่างทอง นำเสนอแผนปฏิบัติการลาดตระเวนและการช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย
โดยทัพเรือภาคที่ 3 ได้นำอาหาร น้ำ เวชภัณฑ์ และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพขึ้นเรือรวบหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบก หรือฐานปฎิบัติการลอยน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้การช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยไม่ปกติในบริเวณน่านน้ำไทย หากผู้โยกย้ายถิ่นฐานร้องขอ โดยเสบียงที่เตรียมพร้อมในครั้งนี้สามารถให้การช่วยเหลือผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้ประมาณ 500 คน ในเวลา 7 วัน นอกจากนี้ เรือรบหลวงอ่างทอง ยังเป็นโรงพยาบาลลอยน้ำที่จะให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวมไปถึงการขนส่งผู้ป่วยมารักษาตัวยังโรงพยาบาลอีกด้วย รวมไปถึงมีเฮลิคอปเตอร์ในการปฏิบัติการลาดตระเวนอีก 2 ลำ โดยเรือหลวงอ่างทอง จะปฏิบัติการลาดตระเวนเป็นเวลา 15 วัน หลังจากนั้น จะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากหลังจากวันนี้ เรือรวบหลวงอ่างทอง จะเดินทางไปลาดตระเวนร่วมกับหมวดเรือเฉพาะกิจลาดตระเวนและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั้งหมด 7 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงสายบุรี เรือหลวงทยานชล เรือหลวงมันกลาง เรือ ต.993 เรือ ต.220 และเรือ กร.304 และการลาดตระเวนทางอากาศด้วยเครื่องบิน 4 ลำ คือ เครื่องบินลาดตระเวนตรวจการณ์แบบที่ 1 จำนวน 1 ลำ เครื่องบินลาดตระเวนตรวจการชี้เป้าแบบที่ 1 จำนวน 1 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบที่ 4 จำนวน 2 ลำ โดยการลาดตระเวนทั้งทางเรือ และทางอากาศจะเน้นหนักในพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน ตั้งแต่หมู่เกาะสิมิลัน ตลอดไปจนถึงหมู่เกาะสุรินทร์ เพื่อหาเรือต้องสงสัยของผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ
พล.ร.ต.สมชาย ณ บางช้าง เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า หมวดเรือเฉพาะกิจลาดตระเวน และหมวดบินเฉพาะกิจลาดตระเวนและให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผู้โยกย้ายถิ่นแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ทั้ง 7 ลำ ได้วางกำลังเน้นหนักการลาดตระเวนทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน เป็นแนวตั้งแต่บริเวณหมู่เกาะสิมิลันขึ้นไปจนถึงหมู่เกาะสุรินทร์ โดยกำหนดให้เรือรบหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการลอยน้ำ ลาดตระเวนอยู่ด้านนอกควบคู่กับหลวงขนาดใหญ่ คือ เรือหลวงสายบุรี ส่วนด้านในนั้นจะลาดตระเวนโดยเรือหลวงทยานชล เรือ ต.993 และเรือ ต.990 และสนับสนุนการลาดตระเวนทางอากาศด้วยเครื่องบินลาดตระเวน และเฮลิคอปเตอร์ ส่วนตอนกลาง และตอนล่างของทะเลอันดามัน จะทำการลาดตระเวนตามปกติ
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลอันดามัน เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเดินทางของกลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่เริ่มต้นจากทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของจุดปฏิบัติการลาดตระเวน จึงต้องวางกำลังตรงจุดดังกล่าวมากกว่าด้านอื่นๆ และกำลังลาดตระเวนทั้งทางเรือและทางอากาศที่ได้วางกำลังไว้ในขณะนี้ คิดว่าอยู่ในระดับที่สามารถลาดตระเวนได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกตินั้น มีหลายรูปแบบทั้งการใช้เรือประมงดัดแปลง ซึ่งบางครั้งทำให้ยากในการตรวจสอบ จึงจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากเครือข่ายในทะเลเข้ามาแจ้งเบาะแส รวมทั้งการประสานกับทางกองทัพเรือของประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
สำหรับสถานการณ์การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียนั้น พล.ร.ต.สมชาย กล่าวว่า จากรายงานการลาดตระเวนล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ไม่พบกลุ่มเรือต้องสงสัยว่าเป็นผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานในบริเวณทะเลอันดามันที่อยู่ในน่านน้ำไทยแต่อย่างใด แม้มีข้อมูลข่าวสารจาก UNSCR ว่า กลุ่มผู้โยกย้ายถิ่นฐานดังกล่าวได้ออกเรือมาแล้ว และอยู่ในระหว่างการเดินทางในทะเลอันดามันประมาณ 2,000-4,000 คน ซึ่งจุดนี้ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าได้มีการเดินทางมาจริง แต่อาจจะอยู่นอกน่านน้ำไทย หรือไปขึ้นฝั่งที่อื่นแล้ว แต่จากการลาดตระเวนไม่พบเจอเรือต้องสงสัยในน่านน้ำไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากลาดตระเวนพบกลุ่มผู้อพยพดังกล่าว ทางเรือลาดตระเวนก็พร้อมที่จะให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม โดยจะสอบถามถึงความต้องการในการเดินทางไปไหน หากต้องการเดินทางต่อไปก็จะให้การช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ทั้ง อาหาร น้ำ เวชภัณฑ์ การซ่อมบำรุงเครื่องยนต์เรือ น้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้สามารถเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่หากต้องการจะขึ้นฝั่งที่จะประเทศไทยก็ต้องแจ้งให้ทราบว่า จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้อพยพว่าต้องการอย่างไร