xs
xsm
sm
md
lg

กระทิงโทนที่ชุมพรกลายเป็นขวัญใจชาวบ้าน นำแม่วัวไปผสมพันธุ์จำนวนมาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชุมพร - เรื่องราวของกระทิงโทนซึ่งเป็นกระทิงป่าหนักกว่า 1 ตัน ลงจากเขานาน 3 ปี มาติดพันแม่วัวในหมู่บ้าน มีลูกเกือบ 20 ตัว อยู่จนเชื่องคุ้นกับคนจนเข้าถึงตัวได้ กลายเป็นขวัญใจชาวบ้านแห่นำแม่วัวไปผูกล่อให้ผสมพันธุ์ เจ้าของฟาร์มขอซื้อให้ราคาสูงตัวละ 2-3 แสนบาท

นายเกียรติศักดิ์ บัวทอง นายธงชัย มากมูล พนักงานพิทักษ์ป่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชพ.15 พร้อมผู้สื่อข่าวลงพื้นที่แปลงปลูกพืชสวนของวิทยาลักเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร หมู่ 8 ตำบลตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เพื่อดูกระทิงป่าที่ลงมาจากป่าใหญ่บนภูเขานานเกือบ 3 ปี จนเกิดเป็นความรักความผู้พันกับแม่วัวของชาวบ้าน และไม่ยอมกลับเข้าป่าอีกเลย ทำให้กลายเป็นขวัญใจของชาวบ้าน และนำแม่วัวไปผูกตามสวนปาล์มเพื่อล่อให้กระทิงป่ามาผสมพันธุ์จนเกิดลูกออกมาแล้วจำนวนมาก

โดยพบว่าในพื้นที่ดังกล่าวได้มีชาวบ้านจำนวนมากให้ความสนใจชักชวนกันเข้าไปดูกระทิงป่าตัวดังกล่าวที่เดินคลอเคลียแม่วัวสายพันธุ์ต่างๆ นับสิบตัวของชาวบ้านที่นำไปผูกล่อ รอให้กระทิงป่าผสมพันธุ์ ซึ่งเจ้ากระทิงป่าร่างยักษ์ตัวดังกล่าวชาวบ้านตั้งชื่อเรียกขานว่า “ไอ้โทน” มีลักษณะสมบูรณ์ เขาแหลมโค้งงอเข้าหากันอย่างสวยงาม รูปร่างใหญ่โตล่ำสัน มีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัดๆ ท่าทางน่าเกรงขามอย่างมาก มีน้ำหนักมากกว่า 1 ตัน แต่กลับมีท่าทีเชื่อง และคุ้นเคยกับคนจนไม่หลงเหลือความดุร้ายเหมือนกระทิงป่าทั่วๆ ไป ชาวบ้านสามารถนำกล้วย หญ้า หรืออาหารเข้าไปให้จนถึงตัวได้ และใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ใกล้ชิดอย่างไม่เกรงกลัวมันจะทำร้ายแต่อย่างใด

นายเกียรติศักดิ์ บัวทอง พนักงานพิทักษ์ป่า หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ชพ.15 เปิดเผยว่า กระทิงป่าตัวดังกล่าวหรือ “ไอ้โทน” ลงจากป่าใหญ่บนภูเขามาติดพัน และผสมพันธุ์กับแม่วัวของชาวบ้านจำนวนหลายตัว จนขณะนี้เกิดลูกแล้วเกือบ 20 ตัว ซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตเหมือนกระทิงป่าพ่อของมัน จนเกิดความผูกพันกันระหว่างกระทิงป่ากับวัวบ้าน และเชื่อง มีความคุ้นเคยกับชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่กระทิงป่าตัวดังกล่าวจะอาศัยวนเวียนหากิน และนอนอยู่ในสวนปาล์ม สวนมะพร้าว และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งอาหาร สระน้ำขนาดใหญ่ ของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร ที่มีเนื้อที่กว่า 2,000 ไร่ โดยแต่ละวันจะมีชาวบ้านใกล้เคียงนำแม่วัวสายพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งแม่พันธุ์วัวชนไปผูกไว้บริเวณรอบๆ เกือบ 50 ตัว เพื่อล่อให้กระทิงป่าผสมพันธุ์ จนมันไม่กลับเข้าป่าบนเขาอีกเลยนานเกือบ 3 ปีแล้ว และที่ผ่านมา มีเจ้าของฟาร์มวัวมาติดต่อซื้อลูกวัวจากชาวบ้านที่ผสมพันธุ์กับกระทิงป่าไปแล้วหลายตัว ในราคาตัวละ 2-3 แสนบาท

นายเกียรติศักดิ์ เปิดเผยต่อว่า สำหรับ “ไอ้โทน” ที่ผ่านมาได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล ซึ่งมีอำเภอทุ่งตะโก หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน เป็นคณะกรรมการ คอยตรวจสอบดูแลตลอดเวลา ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้มีมติทำตามข้อเสนอของชาวบ้าน ไม่ให้มีการผลักดันกระทิงเข้าป่า เพราะเกิดความผูกพันอยู่กับชาวบ้านมานานแล้ว และไม่ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำกระทิงป่าไปไว้ในสวนสัตว์ด้วย โดยให้มันอาศัยอยู่ในพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบดูแลร่วมกันกับผู้นำชุมชน และชาวบ้าน และแนะนำประชาสัมพันธ์ไม่ให้นำอาหารเข้าไปให้มันกิน และให้มีระยะห่างในการเข้าใกล้ตัวมัน เพราะถึงอย่างไรสัตว์ป่ามันมีสัญชาตญาณความดุร้ายอยู่ในตัวตลอดเวลา

“ ตอนนี้ไอ้โทนกระทิงป่าเริ่มมีร่างกายซูบผอมลงจากเดิม อาจเป็นเพราะมีการผสมพันธุ์กับวัวชาวบ้านมากเกินไปจนเกือบทุกวัน ซึ่งตนจะเสนอต่อคณะกรรมการที่ดูแลกระทิงป่าตัวนี้ว่า ต่อไปต้องมีมาตรการ กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และหากมีชาวบ้านนำวัวไปให้กระทิงผสมพันธุ์ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชุมพร จะต้องลงชื่อขึ้นทะเบียนเพื่อติดตามตรวจสอบ และตรวจเลือดแม่วัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคที่อาจติดมาจากกระทิงป่าตัวดังกล่าวด้วย” นายเกียรติศักดิ์ กล่าว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น