xs
xsm
sm
md
lg

แนะเจ้าของฟาร์มปลาหมอพันธุ์ยักษ์จดสิทธิบัตรทางปัญญา ป้องกันปัญหาถูกอ้างซ้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธนูสินธุ์ ไชยศิริ  นายอำเภอกมลาไสย  นายนิติพัฒน์  เตียนพลกรัง  ประมง จ.กาฬสินธุ์  เดินทางไปที่โปโลฟาร์มของนางนิตยา  กัณฑิศักดิ์  เจ้าของโปโลฟาร์ม  เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาทางออกของปัญหา หลังมีภาพโชว์ปลาหมอพันธุ์ยักษ์ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ถูกแอบอ้างว่าเป็นผลงานวิชาการของศูนย์พัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร
กาฬสินธุ์ - นายอำเภอกมลาไสย พร้อมประมงจังหวัดลงพื้นที่พบเจ้าของโปโลฟาร์ม ระบุสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์เป็นของดีเมืองน้ำดำที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับฟาร์มเอกชนมาตั้งแต่ปี 2550 และยังเป็นฟาร์มและผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานปลอดภัย Safty Level ของกรมประมง เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคอีกด้วย แนะรีบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาป้องกันปัญหาเกิดซ้ำ

เช้าวันนี้ (28 เม.ย.) ที่โปโลฟาร์ม เลขที่ 89 หมู่ 10 บ้านโปโล ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ นายธนูสินธุ์ ไชยศิริ นายอำเภอกมลาไสย พร้อมด้วยนายนิติพัฒน์ เตียนพลกรัง ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ เดินทางเข้าไปพบกับนางนิตยา กัณฑิศักดิ์ เจ้าของโปโลฟาร์ม หลังเกิดปัญหามีภาพปรากฏโชว์ปลาหมอพันธุ์ยักษ์ของทางฟาร์มบนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่ถูกแอบอ้างว่าเป็นผลงานวิชาการของศูนย์พัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร ซึ่งตอนนี้สร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจฟาร์มปลาหมอเป็นอย่างมาก

นางนิตยา กัณฑิศักดิ์ เจ้าของโปโลฟาร์ม กล่าวว่า ขณะนี้ทางฟาร์มได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงเสื่อมเสียชื่อเสียงที่อุตส่าห์สั่งสมมาเกือบ 10 ปี ความพยายามทุ่มเทในการพัฒนาต่อยอดพันธุ์ปลาหมอจนปลาหมอที่เลี้ยงโดยเกษตรกรกาฬสินธุ์มีคุณสมบัติพิเศษ ตัวใหญ่ ขนาด 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัม/ตัว ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 120 วัน แต่เมื่อมีภาพและข่าวปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์มีลูกค้าโทร.มาต่อว่าทางฟาร์มตลอดทั้งวัน

“เรื่องที่เกิดขึ้นน้อยใจมากเพราะทางฟาร์มมีความตั้งใจ ความพยายามที่จะพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในพื้นที่ และบรรดาพ่อค้าแม่ค้าให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น”

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นกลับมาถูกกล่าวหาว่าหลอกลวงลูกค้าหรือเปล่า ฟาร์มไม่ได้เพาะพันธุ์เองใช่ไหม จึงเกิดเป็นความเสียหาย เพราะลูกค้าของฟาร์มสูญเสียความเชื่อมั่น ซึ่งต้องเห็นใจทางเกษตรกรด้วยเพราะทุกอย่างเป็นการลงทุนส่วนตัว เมื่อเกิดความเสียหายเช่นนี้ก็ยากที่หน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งทุกอย่างก็ต้องมีการพูดคุยกัน อยากจะให้เกิดความรับผิดชอบตรงจุดนี้ด้วย

นางเสาวลักษณ์ ลาภบุญเรือง ประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าที่ฟาร์มโปโล ซึ่งเป็นของนางนิตยา เกษตรกรในเขตพื้นที่บ้านโปโล อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการร่วมกันวิจัยและทดลองการผสมพันธุ์ปลาหมอข้ามสายพันธุ์จริง โดยทางสำนักงานประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าไปให้ความรู้และให้การส่งเสริมการพัฒนาสายพันธุ์ปลาหมอมาตั้งแต่ปี 2550 โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางฟาร์มได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดี

ทั้งด้านการเป็นวิทยากรเสริม เป็นแหล่งเรียนรู้การทำการประมง เป็นการทำงานร่วมกันมาโดยตลอด เพราะเป็นฟาร์มเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ มีทั้งจำหน่ายปลาเนื้อและลูกปลาหรือพันธุ์ปลาด้วย เพื่อให้เกิดกระบวนการคิดค้นและทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร จนกระทั่งมีการนำพันธุ์ปลาหมอมาพัฒนาพันธุกรรม เกิดเป็นปลาหมอสายพันธุ์ที่นิ่งและตั้งชื่อว่า “สายพันธุ์โปโลฟาร์มกาฬสินธุ์เจ๊นิด”

โดยได้ตั้งชื่อตามพื้นที่กำเนิดของสายพันธุ์ปลาชนิดนี้และให้เป็นเกียรติแก่ผู้ที่เสียสละตนเองศึกษาค้นคว้าวิจัยจนพบสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์มีขนาด 800 กรัม-1 กิโลกรัม และใช้เวลาเลี้ยงดูเพียงแค่ 120 วันหรือ 4 เดือน และทางเจ้าของฟาร์มโปโลก็เป็นที่น่ายกย่องมากเพราะความรู้เพียงแค่ ม.6 แต่มีความรู้ความสามารถศึกษาค้นคว้าได้ขนาดนี้ และที่พิเศษที่สุดคือสายพันธุ์ปลาหมอยักษ์ของโปโลฟาร์มนี้เป็นสายพันธุ์ที่นิ่ง และยังได้รับมาตรฐาน Safty Level ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารปลอดภัยของกรมประมงด้วย

นางเสาวลักษณ์ระบุอีกว่า ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการร่วมมือของทางภาครัฐและเอกชนในพื้นที่บ้านโปโล โดยโปโลฟาร์มและภาครัฐคือ ประมงอำเภอกมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พื้นที่แห่งนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากว่า 100 ราย ถือเป็นแหล่งประมงขนาดใหญ่และมีรายได้หมุนเวียนของกลุ่มเกษตรกรจำนวนมาก

นอกจากนี้แล้ว ปลาหมอสายพันธุ์โปโลฟาร์มกาฬสินธุ์เจ๊นิดยังเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีตามท้องตลาดว่ามีคุณสมบัติเด่นคือตัวใหญ่ หัวเล็ก ขึ้นสันต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ และออกจำหน่ายตามท้องตลาดทั้งที่เป็นปลาเนื้อและเป็นลูกปลาอย่างจริงจังในปี 2552 หลังจากพัฒนาสายพันธุ์จนนิ่งแล้ว

“ปีที่แล้วเคยแนะนำให้ทางฟาร์มไปจดทะเบียนสิทธิบัตรไว้ แต่ฟาร์มอยากให้เป็นวิทยาทานแก่สถาบันการศึกษาและนักศึกษาที่ยังหวังให้มีการพัฒนาต่อยอดไปมากกว่านี้อีก กระทั่งมาเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะต่อไปเกษตรกรคงไม่กล้าพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับภาครัฐ เพราะกลัวจะถูกขโมยความคิดไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นครั้งนี้” นางเสาวลักษณ์กล่าว

นายธนูสินธุ์ ไชยศิริ นายอำเภอกมลาไสย กล่าวว่า หลังได้รับแจ้งจากประมง อ.กมลาไสย กรณีมีภาพนางนิตยา กัณฑิศักดิ์ เจ้าของโปโลฟาร์ม กับปลาหมอพันธุ์ยักษ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง แต่ถูกแอบอ้างว่าเป็นผลงานวิชาการของศูนย์พัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำชุมพร จึงได้ร่วมกับประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เพื่อสอบถามปัญหาและข้อเท็จจริงเบื้องต้น ซึ่งจะได้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ทราบในโอกาสต่อไป

ส่วนในกรณีหาทางออกของปัญหานั้นเป็นสิทธิของนางนิตยาที่สามารถดำเนินการได้ตามดุลพินิจของเจ้าของฟาร์ม เนื่องจากได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ เขตพื้นที่ อ.กมลาไสย ถือเป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงปลาหมอแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะที่นายนิติพัฒน์ เตียนพลกรัง ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ได้เป็นการไกล่เกลี่ย แต่เข้ามาสอบถามข้อมูลพร้อมทั้งให้กำลังใจเกษตรกร ไม่รู้ว่าเกิดความผิดพลาดตรงจุดไหนถึงเกิดเรื่องราวเช่นนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ฟาร์มแห่งนี้เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ มีผลผลิตที่ออกตลาดจำนวนมาก

ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์เป็นแหล่งทำการประมงขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งกุ้งก้ามกราม ปลาหมอ ปลาดุก และปลานิล มียอดผลผลิตสัตว์น้ำออกตลาดเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทางประมงจังหวัดกาฬสินธุ์และประมงอำเภอให้การส่งเสริมและจัดทำทะเบียนเกษตรกรไว้อย่างครบถ้วน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมาก็จะรายงานข้อเท็จจริงไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และได้แนะนำให้ทางฟาร์มปลาได้ไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเช่นนี้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น